ในยามเจ็บป่วย อาหารอะไรที่ใครต่อใครยกนิ้วให้ว่าอร่อยที่สุดอาจไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะแท้ที่จริงแล้วในยามนั้นคนเรากลับต้องการ “อาหารใจ” มากที่สุด
ผม (ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ) ซึ่งตอนนั้นอยู่ในวัย 25 ปี ต้องเผชิญกับเหตุการณ์เลวร้ายชนิดที่ไม่คาดคิดมาก่อนว่าคนที่ยังหนุ่มยังแน่นจะประสบกับโรคเช่นนี้ได้
ต่อสู้กับโรคกล้ามเนื้อเสื่อม
ช่วงนั้นผมยังทำงานอยู่ที่บริษัทในเครือซิเมนต์ไทย แม้การงานจะค่อนข้างหนักและเครียด แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนวันหนึ่งลางร้ายก็เกิดขึ้น ผมมีอาการปวดร้าวไปทั่วแผ่นหลัง หลายวันผ่านไปอาการกลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ หนักสุดถึงขนาดที่ทำให้ผมไม่สามารถสวมเสื้อผ้าได้ด้วยตัวเอง จะหยิบจับอะไรก็ไม่ได้ ได้แต่นอนเหมือนผู้ป่วยอัมพาต
เมื่อไปหาหมอ หมอวินิจฉัยว่า ผมเป็นโรคกล้ามเนื้อเสื่อม ต้องรักษาด้วยการกินยาและทำกายภาพบำบัด ที่สำคัญ โรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การดูแลรักษาตัวเองด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยให้อาการทุเลาขึ้นได้
สำหรับบางคน ในความโชคร้ายนั้นอาจจะมีแง่ดีอยู่บ้าง แต่ผมซึ่งเป็นหนุ่มช่างฝันกลับรู้สึกเหมือนนกที่ถูกตัดขาตัดปีก จากที่สอบชิงทุนได้และกำลังจะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ก็ต้องทิ้งทุกอย่างเพื่อฟื้นฟูร่างกายตัวเองให้แข็งแรงอีกครั้งด้วยการกินยาวันละ 40 เม็ด รักษาด้วยการฝังเข็ม พร้อมกับทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือแพทย์และว่ายน้ำทุกเช้า – เย็นเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว
ในขณะที่กำลังใจในการใช้ชีวิตของผมใกล้จะมอดดับ พ่อกับแม่ซึ่งอยู่ที่หนองคายได้ส่งพี่สาวมาดูแลผมอย่างใกล้ชิดที่กรุงเทพฯ ในยามเจ็บป่วย ความรักความเอาใจใส่จากคนในครอบครัวเป็นยิ่งกว่าอาหารชั้นเลิศที่ช่วยเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้แก่หัวใจของผม ความเป็นห่วงเป็นใยของพ่อแม่ พี่ๆ และญาติๆ ทำให้ผมฮึดสู้จนอาการดีขึ้น และปัจจุบันอาการทั้งหลายก็หายเป็นปกติดี
อย่างไรก็ตาม ช่วง 3 เดือนที่ป่วยหนัก ผมคิดถึงอนาคตของตัวเอง คิดถึงความฝันที่มีอยู่มากมาย แต่สุดท้ายผมก็ได้คำตอบให้ตัวเองว่า “เราต้องยอมรับความจริงให้ได้” เมื่อความจริงเราเจ็บป่วย เราก็ต้องดูแลรักษาตัวเองให้หาย ความเจ็บป่วยครั้งนี้จะช่วยให้เรียนรู้ว่าในการใช้ชีวิต ต่อให้เราเก่งขนาดไหนก็ไม่มีอะไรเป็นได้ดั่งใจฝัน ต้องเตรียมใจให้พร้อมกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ
ที่สำคัญ เวลาในชีวิตของเราอาจไม่ได้มีมากมายอย่างที่เราคิด เมื่อตั้งใจจะทำอะไร ก็ต้องมุ่งมั่นลงมือทำเสียตั้งแต่วันนี้
ตั้งต้นสู่อาชีพใหม่ “ฟู้ดสไตลิสท์”
หลังจากเก็บหอมรอมริบเงินจากการทำงานหนักมาโดยตลอดได้ก้อนหนึ่ง ผมก็เริ่มเดินตามฝันของตัวเองด้วยการเปิด ขาบสตูดิโอ ซึ่งมีนิยามว่า “รับสร้างภาพลักษณ์อาหารด้วยมาตรฐานสากล”
ผมเริ่มจากการฝึกปรือฝีมือในการเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนที่ผมได้พบเจอเวลาเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องในต่างประเทศ หรือเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ ส่งไปตามนิตยสารต่างๆ จนวันหนึ่งจึงมีโอกาสทำหนังสือของตัวเองชื่อว่า อาหารเวียดนาม (The Taste and Trip in Hoi An) โดยสำนักพิมพ์ครัวบ้านและสวน ถือเป็นหนังสือเล่มแรกที่ผมได้ลองใช้ความรู้ในฐานะฟู้ดสไตลิสท์ตกแต่งหน้าตาอาหาร หลังจากเฝ้าเพียรศึกษาจากหนังสือเกี่ยวกับอาหารของต่างประเทศมานานหลายปี
หลังจากนั้นเส้นทางการเป็นฟู้ดสไตลิสท์ของผมก็เริ่มต้นอย่างจริงจัง เมื่อได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของ ครูโต – หม่อมหลวงจิราธร จิรประวัติ ครูที่ช่วยปลุกปั้นและให้โอกาสผมมาจนถึงทุกวันนี้
ครูโตบอกว่า อาชีพฟู้ดสไตลิสท์ในเมืองไทยยังไม่มีใครทำอย่างจริงจังและยังไม่มีใครโดดเด่น ท่านจึงยินดีช่วย ดังนั้นนับตั้งแต่นั้นมา ความรู้ที่ครูโตถ่ายทอดก็ค่อยๆ ตกผลึกกลายเป็นกระบวนการคิดกระบวนการทำงานแบบฟู้ดสไตลิสท์ที่มาจาก “สายครัว” คือมาจากคนที่ทำกับข้าวเป็น เข้าใจธรรมชาติของอาหาร ไม่ใช่มีความรู้ทางศิลปะเพียงด้านเดียว จึงทำให้เข้าถึงหัวใจของธุรกิจอาหารเป็นอย่างดี ว่าไม่ได้ต้องการความสวยงามอย่างเดียว แต่ต้องกินได้ รสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการอีกด้วย
ทุกวันนี้ผมกลายเป็นศิลปินทางอาหาร สร้างสรรค์งานต่างๆที่เกี่ยวกับอาหารทุกรูปแบบ รวมทั้งการเป็นเจ้าของตำราอาหารที่สามารถกวาดรางวัลระดับโลกจากเวที Gourmand World Cookbook Awardsประเทศสเปน มาแล้วถึง 2 ปีซ้อน กับ 5 รางวัลดีเด่นระดับโลก
ในปี 2550 ผมได้รับ 2 รางวัลจากตำราอาหาร Food and Travel:Laos เป็นรางวัลดีเด่น 1 ใน 26 เล่มของโลกประเภท Best Foreign Cookery Book และรางวัลดีเด่น 1 ใน 17 เล่มของโลกประเภท Best Culinary Travel Guide
ส่วนในปี 2551 ได้รับ 3 รางวัลจากหนังสือ Good Ideas: Kitchenโดยได้รับรางวัลเกียรติยศชนะเลิศของโลก ประเภท Special Awards of the Jury – Best in the World สำหรับหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน ได้สร้างชื่อเสียงให้ผมและประเทศไทยเพราะเป็นรางวัลสูงสุดที่ได้รับ และถือเป็นคนไทยคนแรกและเป็นเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
นอกจากนั้นในปีเดียวกันนี้ ตำราอาหาร Prantalay Frozen Seafood ยังได้รับรางวัลดีเด่นควบ 2 ตำแหน่งพร้อมกัน คือ ประเภท Best Fish and Seafood Book และประเภท Best Corporate Cookbook นับเป็นครั้งแรกที่หนังสือของผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในเมืองไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล
ความสำเร็จทั้งหลายเหล่านี้ผมขอยกคุณงามความดีให้กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ และผู้ที่ให้โอกาสทุกท่านที่ช่วยเกื้อหนุนให้ผม “เป็นผม” อย่างทุกวันนี้ และถ้าผมจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคมได้ก็ยินดีจะทำ เพื่อส่งต่อโอกาสดีๆ ให้คนอื่นต่อไป
ทำความดีตอบแทนสังคม
ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว พ่อกับแม่มักจะสอนผมถึงเรื่องการเป็นผู้ให้อยู่เสมอ แม้แต่ในเรื่องอาหารการกินก็ยังต้องรู้จัก “ให้เกียรติ” แขกที่มาร่วมวงรับประทานอาหารกับเราด้วย ท่านจะสอนว่าต้องให้แขกเป็นผู้เริ่มรับประทานก่อนเสมอ แล้วเราถึงจะเริ่มรับประทานได้ หรือเมื่อมีแขกมาที่บ้าน เราต้องเป็นฝ่ายเอ่ยชวนเขาให้นอนพักที่บ้านเราก่อนเขาจะได้ไม่รู้สึกเคอะเขิน ทั้งหมดนี้เป็นศิลปะในการใช้ชีวิตที่หล่อหลอมให้ผมอยากเป็นผู้ให้มากกว่าเป็นผู้รับมาโดยตลอด
แม้แต่การทำงานทุกวันนี้ผมก็มีหลักว่าต้องทำธุรกิจด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต และจริงใจต่อกัน เมื่อมีโอกาสก็ควรทำอะไรกลับคืนให้สังคมบ้าง โดยเฉพาะงานเขียนหนังสือของผมที่ตั้งใจให้เป็นแนวสารคดีอาหาร เน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้คน
นอกจากนั้นปัจจุบันผมกำลังดำเนินการจัดทำห้องสมุดเอกชน ที่จังหวัดหนองคายบนที่ดินที่พ่อยกให้เป็นมรดก ด้วยเหตุผลที่ว่า หนึ่งผมทำงานเกี่ยวกับสื่อสิ่งพิมพ์ ทำให้มีหนังสือสะสมไว้เป็นจำนวนมาก จึงอยากให้หนังสือเหล่านี้สร้างประโยชน์ให้คนอื่นๆ บ้าง สอง ผมมองว่าถ้าผมไม่เริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้ ความฝันก็คงไม่เป็นรูปเป็นร่างเสียทีในเมื่อเรามีความพร้อมก็น่าจะทำได้ นอกจากนั้นในอนาคตผมอยากให้พ่อกับแม่เป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุด ท่านจะได้มีกิจกรรมทำคลายเหงาตอนแก่ด้วย
ตอนนี้ผมอายุ 39 ปี ตั้งความหวังไว้ว่าตอนอายุ 40 ปีจะทำห้องสมุด พออายุ 50 ปีคงจะทำงานน้อยลง และใช้เวลาที่เหลือไปเป็นอาสาสมัครให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการทำสินค้าโอทอปประเภทอาหาร โดยผมจะช่วยในเรื่องการออกแบบดีไซน์สินค้าต่างๆ ให้หน้าตาดูสวยงามแต่ยังคงรสชาติของท้องถิ่นเอาไว้
หลังจากนั้นผมจะทำงานช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ อาจจะเป็นการสอนหนังสือหรือช่วยเหลืองานของมูลนิธิ
นี่เป็นแผนการในชีวิตที่ผมวางไว้ตอนนี้ แต่จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรอีกต่อไปหรือไม่นั้นผมก็ไม่อาจรู้ได้ รู้แต่เพียงว่า ตอนนี้ผมมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะทำสิ่งดีๆ ให้สังคม
คนเรามักจะคิดว่าต้องรอให้ “พร้อม” ก่อนแล้วจึงค่อยคิดถึงสังคม แต่ผมคิดว่าเพียงน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ อย่างการช่วยกันบริจาคโลหิตหรือบริจาคร่างกายก็น่าจะเป็นสิ่งที่เราสามารถทำได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็จะรู้ว่าเราสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไรอีกบ้าง
เชื่อเถอะว่า ไม่ต้องรอให้รวย คุณก็สามารถเป็นผู้ให้ได้เช่นเดียวกับผม
Secret Box
• ความมุ่งมั่นตั้งใจคือใบเบิกทางของความสำเร็จ
• เมื่อรักชอบสิ่งใด ต้องมุ่งมั่นตั้งใจเรียนรู้
• เกิดมาทั้งทีต้องทำความดีทดแทนคุณแผ่นดิน