ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การใช้ยา
ความเชื่อ : การใช้ยา กินยานานๆ ตับไตจะพังเอา เลิกกินดีกว่า
ความจริง : อาการโรคตับโรคไตนั้น อาจเกิดได้จากอายุที่เพิ่มขึ้น หรือมาจากโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อตับหรือไต เนื่องจากมียาไม่กี่ชนิดที่ผลต่อไต ส่วนใหญ่จะเป็นยาฉีดฆ่าเชื้อ กลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ (aminoglycoside) ที่ใช้เฉพาะในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์จะระมัดระวังการใช้ยาอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการกินยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล เรื่องจากโรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีระบบประกันคุณภาพด้วยการติดตามปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับภาวะตับไตของแต่ละบุคคลอยู่แล้ว
ส่วนใหญ่ปัญหาเรื่องยาทำให้ตับไตพัง มักมีสาเหตุมาจากยาคลายเส้น ยาแก้ปวดเมื่อย หรือยาชุดผสมสเตียรอยด์ที่ผู้ป่วยซื้อกินเองมากกว่า ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรทุกครั้ง
ความเชื่อ : ยาฉีดดีกว่ายากิน
ความจริง : หลายคนเมื่อไปโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บป่วย ก็มักจะขอคุณหมอให้ฉีดยาให้หายไวๆ แม้จะเจ็บนิดหน่อยแต่ก็ดีกว่าทนกินยาหลายวัน แม้จะไม่เจ็บ แต่ก็หายช้า เพราะยากินจะต้องรอเวลาในการดูดซึมเพื่อออกฤทธิ์ แต่การฉีดยาจะออกฤทธิ์ทันทีเพราะดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้โดยตรง แต่ถึงอย่างนั้นไม่ใช่ทุกโรคที่จะฉีดยาแล้วหายได้เลย โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย หรือยาบางชนิดก็รักษาได้ด้วยการฉีดจึงจะฉีดให้ หรือหากเป็นโรคไตเสื่อมก็อาจจะต้องรักษาโดยเปลี่ยนจากยากินมาเป็นยาฉีดแทน แต่ถ้าหากผู้ป่วยทั่วไปไม่มีข้อห้ามใดๆ ควรเริ่มต้นจากการใช้ยากินที่มีความปลอดภัยมากกว่ายาฉีดดีกว่า
ความเชื่อ : ไม่กินข้าวก็ไม่ต้องกินยา เดี๋ยวยากัดกระเพาะ
ความจริง : ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่มักตื่นสาย กินข้าวไม่ตรงเวลาก็เลยไม่กล้ากินยาโรคประจำตัว ทำให้ได้รับการรักษาอย่างไม่เต็มที่ เพราะไม่กินยากลัวยากัดกระเพาะ อันที่จริงแล้วยาส่วนใหญ่สามารถกินได้โดยไม่จำเป็นต้องกินข้าวรองท้อง ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเวลากินยาโดยไม่กินข้าว เพราะมีอันตรายน้อยกว่าการขาดยาอย่างแน่นอน แต่หากมีปัญหาเรื่องการกินยาเนื่องจากการใช้ชีวิตจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเรื่องการปรับเวลากินยาอย่างเหมาะสมดีกว่าหยุดกินเอง
ความเชื่อ : ถ้าไม่มีอาการ ก็ต้องไม่กินยาทุกวันก็ได้
ความจริง : โรคเรื้อรังบางชนิดอาจไม่มีอาการให้เห็นทุกวัน บางครั้งในวันที่ขาดยาร่างกายก็อาจยังพอสู้กับเชื้อโรคร้ายไหว แต่หากไม่ได้รับยานานเขา ร่างกายอาจต้านทานโรคไม่ไหว และหากได้รับปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ เพิ่มด้วย อาจทำลายสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมได้ ดังนั้น หากเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ ถึงไม่มีอาการแสดงออก ก็ควรกินยาตามแพทย์สั่งเสมอ เช่น ยาป้องกันความดันโลหิตสูง ยาเบาหวาน ยาลดไขมัน ห้ามหยุดยาเอง ห้ามกินๆ หยุดๆ หากต้องการหยุดยา ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
ความเชื่อ : ไม่กล้ากินยาหลายชนิด กลัวยาตีกัน
ความจริง : ผู้ป่วยบางโรคอาจจำเป็นต้องไ้ดรับยาหลายชนิด หลายเม็ด และมักไม่กล้ากินพร้อมๆ กัน เนื่องจากกลัวยาตีกัน จึงทำให้อาจรักษาไม่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของยา โดยเรื่องยาตีกันนั้น หมายถึงยาตัวใดตัวหนึ่งก่อกวนการทำงานของยาอีกตัวหนึ่ง โดยยาอาจไปเพิ่มฤทธิ์ยาจนเกิดผลข้างเคียง หรือยาอาจทำลายตัวยาอื่นๆ จนทำให้การรักษาไม่ได้ผล
ยาตีกันมักเกิดจากการผู้ป่วยซื้อยากินเองหลายๆ ชนิดตามอาการที่เกิดโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่หากเป็นยาที่ได้รับจากโรงพยาบาล ที่แพทย์สั่งให้ก็ไม่ต้องกังวล เพราะแพทย์จะสั่งให้เฉพาะเท่าที่จำเป็น และสั่งจ่ายยาด้วยระบบที่ตรวจสอบได้เพื่อป้องกันยาตีกันอยู่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้นถ้าไม่อยากต้องกินยาหลายชนิด หลายเม็ด ก็ควรดูแลสุขภาพให้ดีอย่าให้มีโรคใดๆ ตามมาจะดีที่สุด
ข้อมูลโดยเภสัชกรหญิงดวงแก้ว อังกูรสิทธิ์
ผู้เขียนหนังสือเรื่องฉลาดรู้เรื่องยา