‘อาวุโส โซไซตี้’ ส่งต่อความรัก ผ่านความรู้ เพื่อรุ่นใหญ่วัยเก๋า
อาวุโส โซไซตี้ สื่อออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ ที่จัดทำขึ้นโดย ‘คุณศศิกานต์ วัฒนะจันทร์’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเอ็ม คาตาลิสท์ จำกัด คนรุ่นใหม่ผู้คิดค้นและพัฒนาอาวุโส โซไซตี้ขึ้นมา เพื่อส่งต่อความรัก เผยแพร่ความรู้ที่มีประโยชน์ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยทุกคน
ผู้สูงอายุเป็นเหมือนผ้าขาวทางเทคโนโลยี
ในสังคมที่ข่าวสารข้อมูลมากมายถูกคัดลอกและส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จนบางครั้ง ยากที่จะตรวจสอบได้ว่าข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หรือผ่านการบิดเบือน แก้ไขข้อมูลมาบ้างหรือเปล่า
การที่ผู้สูงอายุบางท่านเชื่อข่าวที่ได้รับส่งต่อจากสื่อออนไลน์นั้น เกิดจากการที่ผู้สูงอายุท่านเติบโตมาในยุคที่สื่อต่างๆ ในสังคม มีอำนาจและอิทธิพลมาก ข้อมูลที่มาจากสื่อต่างๆ ในยุคสมัยนั้นได้รับความเชื่อถือว่าเป็นข้อมูลที่เป็นความจริง เชื่อถือได้ ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว คำว่า “สื่อบอกว่า..” หรือ “ทีวีบอกว่า…” จึงเป็นคำพูดที่มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ ความน่าเชื่อถือของคอนเทนต์นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวคอนเทนต์ แต่ขึ้นอยู่กับว่า “ใครเป็นคนที่ส่งคอนเทนต์นั้นมาให้”
ยกตัวอย่างเช่น หากลองจินตนาการว่าเราอายุ 55 ปี แล้วมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่เราเคารพมาก ส่งข้อมูลบางอย่างมาให้ เราก็จะคิดทันทีเลยว่า ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง หรือ ถ้าเรามีเพื่อนที่เป็นคุณหมอ เป็นอาจารย์ แล้วเขาส่งข้อมูลบางอย่างมาให้เรา เราก็จะคาดเดาโดยอัตโนมัติแลยว่าข้อมูลนี้น่าจะเป็นความจริง เรา “เชื่อ” เพราะความน่าเชื่อถือของคนส่ง นั่นเอง
ในขณะที่เด็กคือผ้าขาวที่อ่อนประสบการณ์ ผู้สูงอายุเอง ก็เป็นเหมือน “ผ้าขาวทางเทคโนโลยี” ผู้อ่อนประสบการณ์ทางการใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นจาก “ความรัก”
เมื่อได้พูดคุยกับคุณศศิกานต์ Goodlifeupdate จึงได้ค้นพบว่า จุดเริ่มต้นของ “อาวุโส โซไซตี้” นั้น คือ “ความรัก” จากคนรุ่นใหม่ ที่อยากส่งต่อให้กับผู้ใหญ่ทุกคนในสังคมของเรา โดยแนวคิดของอาวุโสโซไซตี้นั้น ฟังดูเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความหวังดีและความตั้งใจที่จะขอเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลดีๆ ที่ถูกส่งต่อ ฟอร์เวิร์ด (Forward) ไปยังผู้สูงอายุอันเป็นที่รัก
เวลาที่ผู้สูงอายุส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้แก่กัน สมมติว่าส่งวันละ 10 เรื่อง ก็ขอให้มีสัก 1 เรื่อง ที่เป็นเรื่องที่ข้อมูลถูกต้อง อาวุโส โซไซตี้ขอเป็นแหล่งข้อมูล “น้ำดี” เพื่อสังคม
เมื่อมีเป้าหมายที่จริงจัง แน่วแน่แล้ว คุณศศิกานต์จึงเริ่มต้นลงมือทำตามที่คิด แล้วก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก โดยในปัจจุบันมีผู้ติดตามใน Line@ เป็นจำนวนหลักหมื่น และเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ
ในปัจจุบัน อาวุโส โซไซตี้ มีเนื้อหาที่หลากหลาย ครอบคลุมความต้องการและความสนใจของผู้สูงอายุ โดยแบ่ง Section หลัก เป็น 4 Section ได้แก่
- Lifestyle
- Health
- Finance
- Relationship
ก่อนที่จะเริ่มจัดทำและผลิตเนื้อหา ทีมงานอาวุโสโซไซตี้จะสำรวจก่อนว่า ผู้สูงอายุต้องการรู้เรื่องอะไรบ้าง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุสนใจเรื่องเทคโนโลยี และเรื่องใกล้ตัวต่างๆ ตามโลกที่เปลี่ยนไป เนื่องจากผู้สูงอายุเองก็อยากก้าวตามให้ทันโลกเช่นกัน แต่บางทีด้วยกำแพงบางอย่าง เกิดเป็น Generation gap ที่ทำให้เข้าไม่ถึง จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล หรือ ค้นหาความรู้ในเรื่องที่ตนเองอยากรู้ได้ ซึ่งบางครั้ง
ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุหลายท่านอยากใช้โทรศัพท์มือถือ แต่ไม่รู้วิธีใช้ พอถามญาติ หรือลูกหลานที่บ้าน ลูกหลานก็รำคาญที่จะต้องคอยสอนซ้ำหลายๆ ครั้ง ลูกหลานอาจจะพูดแบบไร้เดียงสา ไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อถูกตำหนิซ้ำๆ หลายครั้ง ก็ทำให้รู้สึกไม่ดี รู้สึกน้อยใจ ไม่กล้าที่จะถามอีก ทั้งๆ ที่จริงก็อยากรู้
อาวุโสโซไซตี้จึงเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้พบปะกับคนที่มีความสนใจ ความชอบ และวัยที่ใกล้เคียงกัน เป็นเสมือนกลุ่มเพื่อนที่เติบโตมาในวัยเดียวกัน สามารถพูดคุยกันได้อย่างสนิทใจ และเกิดความรู้สึกไว้วางใจกัน
“ตอบโจทย์” อย่าง “ใส่ใจ”
นอกจากคอนเทนต์ที่ทำจะ “ตอบโจทย์” ความต้องการของผู้สูงอายุแล้ว ยังมีความ “ใส่ใจ” อยู่ในทุกขั้นตอนของการทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตาเว็บไซต์ที่เลือกใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ อ่านง่าย สบายตา รูปภาพที่สวยงามถูกใจคนอ่าน เนื้อหาที่ตรงใจผู้อ่าน และ “รู้ใจ” ว่าผู้อ่านต้องการอะไร เช่น สอนความรู้ทางด้านไอทีแบบง่ายๆ อย่างวิธีการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในไลน์ ในเฟซบุ๊ก การดูแลสุขภาพของตัวเองแบบเข้าใจง่าย เป็นต้น
นี่แหละ ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ใหญ่วัยเก๋าต้องการอย่างแท้จริง และเพราะรู้ใจผู้อ่านขนาดนี้ จึงทำให้อาวุโสโซไซตี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านเช่นเดียวกัน
“ความถูกต้อง” ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
ข้อมูลเรื่องสุขภาพ ถือว่าเป็น Section ยอดนิยมของอาวุโสโซไซตี้ ซึ่งในปัจจุบัน เราอาจคุ้นตากับการเห็นข้อมูลความรู้เรื่องสุขภาพที่ถูก Copy และ Paste ซ้ำไปซ้ำมา ผ่านการถูกดัดแปลงซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกลายเป็นข้อมูลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง
อาวุโสโซไซตี้ต้องการที่จะเป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ จึงจับมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลเปาโล เพื่อนำข้อมูลจากโรงพยาบาลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้มาทำคอนเทนต์ ผู้อ่านจึงมั่นใจได้ในความถูกต้องของอาวุโสโซไซตี้
ผู้ที่ติดตามอาวุโสโซไซตี้มี 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ติดตามหลักของอาวุโสโซไซตี้ และกลุ่มผู้อ่านอายุประมาณ 30 ปี ตอนปลาย ที่ต้องการหาข้อมูลไปให้กับผู้สูงอายุ เช่น สนใจหาข้อมูลให้กับพ่อแม่ เช่น เรื่องไม้เท้า รถเข็น เครื่องช่วยฟัง ซึ่งตอบโจทย์คนวัยทำงานที่ไม่ต้องเสียเวลาไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต สามารถมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลจากอาวุโสโซไซตี้ได้เลย
ไม่ใช่แค่สื่อ แต่นี่คือแพลทฟอร์มสำหรับผู้สูงอายุ
Section หนึ่งที่อาวุโส โซไซตี้เปิดให้สำหรับผู้สูงอายุ คือ การเปิดพื้นที่สำหรับให้ผู้สูงอายุสามารถเขียนกลอน เขียนบทความ บอกเล่าเรื่องราว ข้อคิดการใช้ชีวิต จากประสบการณ์ของตนเองที่ตนเองสามารถตกผลึกออกมาได้ ผ่านช่วงเวลาตลอดทั้งชีวิต ตามคอนเซปต์ที่ว่า “Turning Analog to Digital”
เพราะผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ผ่านเรื่องราว ประสบการณ์ต่างๆ มาอย่างมากมาย เมื่อต้องการที่จะบอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้คนอื่นรับรู้ ผู้สูงอายุจึงมักจะสื่อสารออกมาในรูปแบบของการเขียนใส่กระดาษ หรือ การพิมพ์ลงในไลน์ อาวุโสโซไซตี้ จึงช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการนำขึ้นเว็บไซต์ให้ ทำเป็น URL ส่งกลับไปให้ผู้สูงอายุแต่ละท่านสามารถนำไปใช้ได้ สามารถส่งต่อให้กับเพื่อนๆ ได้ทันที ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ผู้เขียนรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง
เพราะที่จริงแล้ว ผู้สูงอายุคือคนเก่งผู้สั่งสมประสบการณ์มาอย่างมากมาย แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง จึงทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของตนเองนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จุดอ่อนของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ คือเรื่องเทคโนโลยี แต่มีจุดแข็งคือเรื่องประสบการณ์ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ อาจจะเก่งเรื่องการใช้เทคโนโลยี อาจจะไฟแรง ยังมีแรงและมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ แต่จุดอ่อนคือเรื่องประสบการณ์ อาวุโสโซไซตี้จึงก้าวขึ้นมาเป็นแพลทฟอร์มที่ทำให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่ของตัวเองได้
คอมมูนิตี้ (Community) ของคนคอเดียวกัน
นี่คือพื้นที่ที่เป็นคอมมูนิตี้ให้กับคนคอเดียวกัน ไลฟ์สไตล์เดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น การทักทายกันด้วยรูปภาพสวัสดีวันจันทร์ ก็ไม่มีใครมาว่าเชยหรือน่ารำคาญ การส่งเพลงเก่า ก็ไม่มีใครหาว่าเพลงเก่า เพลงเชย เพราะทุกคนชอบเหมือนกัน ส่งรูปดอกไม้ ก็ไม่มีใครบ่นรำคาญ เพราะทุกคนชอบเหมือนกัน จึงทำให้เป็นพื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัย ไม่รู้สึกแปลกแยก ไม้รู้สึกเหงาหรือว้าเหว่ เป็นพื้นที่ที่รวมคนที่มีความคิด ความสนใจ และวัยที่ใกล้เคียงกัน
ร่วมสร้างสังคมดีๆ ติดตามข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจได้ที่
อาวุโส โซไซตี้ by Happy Senior Club
https://www.facebook.com/happyseniorclub/
บทความที่น่าสนใจ
อยู่อย่างไรให้เป็นสุข ตรวจสุขภาพประจำปี สิ่งดีๆ สำหรับผู้สูงอายุ
4 เทคนิค แก้ไข ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุ
รู้ยัง ? ผู้สูงอายุ ไม่ได้ ความจำเสื่อม ทุกคน
มาสร้าง ความสุขหลังวัยเกษียณ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการซึมเศร้ากันเถอะ !