บริติช เคานซิล ผุดโครงการ “Crafting Futures” สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก ดึงเสน่ห์ “ผ้าทอไทลื้อ” ความท้าทายภูมิปัญญาหัตถกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์

บริติช เคานซิล ผุดโครงการ “Crafting Futures” สนับสนุนงานคราฟต์ทั่วโลก ดึงเสน่ห์ “ผ้าทอไทลื้อ” ความท้าทายภูมิปัญญาหัตถกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์

แม้ว่าปัจจุบัน คนจะหันมาอนุรักษ์ผ้าไทยและนำกลับมาสวมใส่กันมากขึ้นจนเป็นที่นิยมอีกครั้ง แต่เมื่อ ‘อุปสรรคของผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ การหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในขณะที่โลกหมุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว’

ด้วยเหตุนี้ บริติช เคานซิล ร่วมกับ ศูนย์วิชาการและเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน (ฝ้ายแกมไหม) และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงผุดโครงการ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” (Crafting Futures) ขึ้น โดยการปลูกฝัง “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” (Design thinking) ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

ผลงานโปรเจกต์คราฟท์ติ้งฟิวเจอร์ ไทลื้อ

อลิสัน เวลช์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยแฟชั่น มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการทำนายเทรนด์สี แฟชั่นมากว่า 30 ปีในประเทศอังกฤษ ได้เข้าร่วมโครงการฯ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนางานหัตถกรรม และลงพื้นที่ไปยังอำเภอปัว จังหวัดน่าน เพื่อศึกษาใจความสำคัญ บริบททางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของชาวบ้าน “ไทลื้อ”

อลิสัน เวลช์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยแฟชั่น มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน

คุณอลิสัน เผยว่า ผ้าทอไทลื้อ ศิลปหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านจังหวัดน่าน นับเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ทรงคุณค่า แต่กลับไม่ได้รับความนิยมและไม่เป็นที่รู้จักนักในปัจจุบัน ทำให้ผ้าทอที่เกิดจากการส่งต่อภูมิปัญญาแบบรุ่นสู่รุ่นของชาวบ้านในจังหวัดน่าน มีเหลือเป็นจำนวนมาก

การทอผ้าไทลื้อ

โดยผู้ที่ทอเป็นอาชีพหลักส่วนหนึ่งจะนำไปฝากขายตามร้านสหกรณ์ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการออกบูธงานแสดงสินค้าชุมชน ซึ่งทั้งสองช่องทางก็ยังไม่ได้ความนิยมเท่าที่ควร ทำให้เกิดปัญหาเงินจม ชาวบ้านขาดรายได้ จนนำไปสู่การเลิกทอผ้าไปในที่สุด

 

ผ้าทอแต่ละผืน มีเรื่องเล่าประกอบอยู่มากมาย สิ่งที่ต้องทำคือการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านั้นให้กับผู้คนในวงกว้างได้รับรู้…

การทอผ้าไทลื้อ

ผ้าทอไทลื้อ ส่วนมากใช้นุ่งเป็นผ้าถุง จึงถูกทอในลักษณะผ้าผืนยาว การที่จะแปรรูปผ้าทอเป็นเสื้อผ้านั้นจึงต้องใช้กรรมวิธีที่ต้องตัดผ้าน้อยที่สุด หรือไม่มีการตัดเลย เนื่องจากผ้าทอแต่ละผืนล้วนผ่านขั้นตอนการทอที่ประณีตและใช้เวลานาน ซึ่งถือเป็นโจทย์หลักในการออกแบบเสื้อผ้า ประกอบกับชาวบ้านเกือบทั้งหมดจะไม่คุ้นเคยกับการตัดเย็บ ทำให้การออกแบบต้องคำนึงถึงการตัดเย็บที่เรียบง่าย

ขั้นตอนการออกแบบ
ขั้นตอนการออกแบบ
ขั้นตอนการออกแบบ
ขั้นตอนการออกแบบ

ขั้นตอนต่อมา คือการพัฒนาด้านเนื้อผ้า (texture) และการจับคู่สี

ผ้าทอไทลื้อแบบดั้งเดิมมักจะมีการใช้สีที่ฉูดฉาด ทำให้เมื่อนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าแล้วอาจไม่ได้รับความนิยม จึงเริ่มต้นขึ้นเป็นเวิร์คช็อปเพื่อให้เกิดการทดลองทอผ้าให้ได้สีและเนื้อผ้าใหม่ ๆ เช่น การทอสีขาวบนสีขาว และเน้นไปที่ตัวผิวสัมผัสของเนื้อผ้าให้เห็นเป็นมิติ นอกจากนี้ กรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติของชาวบ้านถือเป็นข้อได้เปรียบในแฟชั่นปัจจุบัน เพราะผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจการอนุรักษ์ธรรมชาติในช่วงที่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าใช้วิธีการย้อมเคมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การจัดแสดงในเชียงใหม่ดีไซน์วีค
การทอผ้าไทลื้อ

เพราะบนเสื้อผ้าไม่ควรมีแต่ลายเซ็น (signature) ของดีไซน์เนอร์ แต่ควรมีลายเซ็นของช่างทอผ้าด้วย ชุดแต่ละชุด ผ้าแต่ละผืนเปรียบเสมือนการเดินทาง ซึ่งบางชุดใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปี ฉะนั้นการถ่ายทอดกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างคนทอผ้าและดีไซน์เนอร์นักออกแบบ ที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาตั้งแต่แรกเริ่มให้กับผู้บริโภคได้เห็น จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ผลงานโปรเจกต์คราฟท์ติ้งฟิวเจอร์ ไทลื้อ

ทั้งนี้ “คราฟท์ติ้ง ฟิวเจอร์” (Crafting Futures) เป็นโปรเจกต์ระดับภูมิภาคที่บริติช เคานซิล เริ่มต้นขึ้นเพื่อฟื้นฟู และอนุรักษ์อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการทำงานหัตถกรรมของผู้หญิง และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน การปลูกฝัง “กระบวนการคิดเชิงออกแบบ” (Design thinking) ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างดีไซเนอร์ชื่อดังจากอังกฤษ อลิสัน เวลช์, นักออกแบบรุ่นเยาว์ ชาวไทย และ ชาวบ้าน ช่างทอผ้า ในอำเภอปัว จังหวัดน่าน ได้พบปะ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และความร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานขี้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การไม่ลืมรากฐานของวัฒนธรรมที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่ไปในโลกที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว

โดยล่าสุดผลงานต้นแบบ แฟชั่นเสื้อผ้าจากผ้าทอ ไทลื้อ ได้ถูกจัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ที่ผ่านมา และโปรเจกต์ฯ จะยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เรื่องการประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้าสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น เช่น การประยุกต์ใช้เส้นใยจากวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เผื่อทอผ้า เพื่อตอบโจทย์กระแสโลกในเรื่องความยั่งยืน (sustainability) และขยะเหลือศูนย์ (zero waste) และเพื่อให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ้าทอไทลื้อ ที่ถูกสืบทอดมาหลายชั่วอายุคนได้เฉิดฉายในสายตาของผู้คนในวงกว้างมากขึ้น

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.