เราจะไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวงอีกต่อไป! วิธีรับมือกับ ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนความจริง (Fake News) แบบมีสติ และ รู้เท่าทัน
หลายคนคงเคยผ่านตากับข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวบิดเบือนความจริง (Fake News) กันในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะผ่านคนรอบตัวที่แชร์ต่อๆ กันมา หรือเคยเห็นผ่านตาจากสื่อต่างๆ วันนี้ Goodlifeupdate ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ข่าวลวง ข่าวปลอม ข่าวที่บิดเบือนความจริง หรือ Fake News กันให้มากขึ้น
Fake News คืออะไร?
ข่าวปลอมหรือ Fake News คือ ข่าวที่บิดเบือนไปจากความจริง โดยอาจจะเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริงเลยโดยสมบูรณ์ 100% หรืออาจเป็นข่าวที่มีความจริงปะปนอยู่กับความเท็จก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- การกุข่าว สร้างความเท็จขึ้นมา แล้วเผยแพร่ต่อกันเป็นทอดๆ เสมือนว่ามันคือความจริง เช่น ภาพที่ถูกผู้ไม่หวังดีตัดต่อขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นในสังคม ข่าวลือว่าบุคคลสำคัญต่างๆ เสียชีวิต ทั้งๆ ที่จริงแล้ว บุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่ เป้นต้น
- การกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ยกตัวอย่างเช่น การใช้ข้อความว่า “นักวิจัยกล่าวว่า…” “ผลวิจัยเปิดเผยว่า…” “มีงานวิจัยพบว่า…” โดยที่ไม่ได้มีการระบุแหล่งอ้างอิงที่ชัดเจน เมื่อตรวจสอบไปแล้วพบว่า งานวิจัย หรือ บุคคลที่ถูกอ้างถึงนั้นไม่มีอยู่จริง และ ไม่เป้นความจริง
- การนำภาพข่าวเหตุการณ์หนึ่ง มาปนกับเนื้อหาข่าวอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้อง ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่ถูกจับแพะชนแกะ จนผู้อ่านเข้าใจผิดว่า มันคือเหตุการณ์เดียวกัน
วันนี้ Goodlifeupdate จะมาแนะนำวิธีการรับมือกับข่าวเหล่านี้อย่างมีสติ และ รู้เท่าทันกันค่ะ
::: ชัวร์ก่อนแชร์ :::
เราสามารถหยุดการกระจายข่าวปลอมไปในสังคมได้ โดยเริ่มต้นจากตัวเราก่อน ด้วยการตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าข่าวที่เรากำลังอ่านอยู่นั้นเป็นความจริงหรือไม่ เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน เชื่อถือได้จริงหรือเปล่า เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจแล้ว จึงค่อยแชร์ หรือ ส่งต่อไปให้คนอื่น
::: ตรวจสอบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ :::
อย่าเพิ่งเชื่อทันทีที่เห็นข่าว เมื่อเราอ่านข่าวแล้วรู้สึกเอะใจ ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ ลองใจเย็นๆ ค่อยๆ สืบค้นหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ดูก่อน โดยเลือกแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ หลายๆ แหล่งเปรียบเทียบกันเพื่อความแน่ใจ อย่าลืมตรวจเช็ควันและเวลาที่นำเสนอข่าวนั้นด้วย เผื่อว่าข่าวนั้นเป้นข่าวที่ยังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม เราจะได้ไม่ตกข่าว
::: ช่วยกันสอดส่อง :::
หากพบเจอการส่งต่อข่าวปลอม อย่านิ่งนอนใจ รีบทักไปหาบุคคลคนนั้นแล้วอธิบายให้เขาฟังว่าข่าวที่เขากำลังแชร์อยู่นั้นเป็นข่าวปลอม เชื่อถือไม่ได้ ขอให้รีบลบทิ้ง และรีบอธิบายความจริงให้ผู้อื่นฟังต่อไป
หากเราพบเห็นสื่อใดที่กำลังเผยแพร่ข่าวปลอม รีบช่วยกันเตือน หรือรายงานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือ ผู้ที่ทำหน้าที่คอยควบคุมดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสร้าง และส่งต่อข่าวปลอมให้กระจายออกไปในวงกว้างมากขึ้น
::: ยอมรับความผิดพลาด รีบแก้ไขให้ถูกต้อง :::
หากเราพลั้งเผลอแชร์ ส่งต่อ หรือเผยแพร่ข่าวที่เป็นเท็จออกไปสู่พื้นที่สาธารณะแล้ว อย่าอายที่จะกลับไปแก้ไข และ อธิบายให้คนรอบข้างรับทราบว่าข่าวที่เราเผยแพร่ไปก่อนหน้านี้เป็นข่าวที่ไม่ถูกต้อง พร้อมอธิบายข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อเป้นส่วนหนึ่งที่สร้างความเข้าใจที่ “ถูกต้อง” ให้เกิดขึ้นในสังคม
ผู้เขียน: พิระดา ธรรมวีระพงษ์ (แอม)
Author: Pirada Tumweerapong (Amm)
บทความที่น่าสนใจ
- ทำความรู้จักกับ “หมาดำ” สัญลักษณ์ของโรคซึมเศร้า จากหนังสือ I Had a Black Dog: His name was depression
- วิธีรับมือกับคน นิสัยไม่ดี 7 ประเภท ที่อยู่ด้วยยาก ชอบสร้างความเครียดให้ชีวิตของเรา
- วิธีรับมือ จัดการ และอยู่ร่วมกับ เพื่อนร่วมงาน นิสัยไม่ดี เพื่อการทำงานที่มีความสุข