sacit Craft Power sacit The Future of Crafts: Guru Panel  ผลักดันศิลปหัตถกรรมไทย ให้ดังไกลระดับโลก

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จัดงานระดมความคิดขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาสินค้าศิลปหัตถกรรมไทย กับงานประชุมเสวนา sacit Craft Power SACIT The Future of Crafts: Guru Panel กับเป้าหมายในการผลักดันสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยไปสู่ตลาดโลกภายใต้วิถีของความยั่งยืน กับ การร่วมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในงานศิลปหัตถกรรมทั้ง 9 อาทิ ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ, ครูมีชัย แต้สุจริยา, ดร.สิริกร มณีรินทร์, ม.ล.ภาวินี สันติศิริ, อาจารย์ ดร.ไพโรจน์ พิทยเมธี, นางสาวชลดา สิทธิวรรณ, นายอาสา ผิวขำ, นายพิติรัตน์ วงศ์สุทินวัฒนา, รศ.ดร.สุภาวี ศิรินคราภรณ์ เพื่อหารือแนวทางร่วมกัน 3 แกน ได้แก่ Unseen Craft, Thainess และ Craft Power

พันธกิจที่จะพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจของโครงการ sacit Craft Power จึงต้องแผ่ออกมาให้มองเห็นกระบวนคิด เพื่อให้ศิลปหัตถกรรมไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ให้คนสามารถใช้งานได้ในชีวิตจริง เมื่องานคราฟต์ถูกกล่าวหาว่า “ไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน…” ทั้ง ๆ ที่หากมองย้อนกลับไปในอดีต งานหัตถกรรมถือว่าเป็นของใช้สอยที่มีประโยชน์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน

หัวข้อ Unseen Craft  จึงถูกเลือกมาเสวนาเป็นประเด็นแรก

โดยกล่าวถึงแรงบันดาลใจใหม่จากศิลปหัตถกรรมไทยที่ยังไม่เคยเห็น    เปิดมุมมองโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิตประเภทวิชาวิจิตรศิลป์  สาขาวิชาจิตรกรรม ราชบัณทิตยสภา  หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญศิลปหัตถกรรมที่มีความหลงใหลในเสน่ห์ของงานศิลปหัตถกรรม    หรือเรียกได้ว่าเป็นนักสะสมงานศิลป์อันสื่อถึงภูมิปัญญาของคนไทยในการประยุกต์ใช้วัสดุในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดคุณค่าและความสวยงาม แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้งานศิลปหัตถกรรมคงอยู่ นั่นคือการทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นศิลปหัตถกรรมไทยผ่านการส่งเสริมความรู้ “ถ้ารู้ความงาม ประวัติ เราก็จะรู้คุณค่าของมัน” ศาสตราจารย์เกียรติคุณวิบูลย์กล่าว

เพราะนอกจากการจัดการองค์ความรู้แล้ว   การเผยแพร่เรื่องราวคุณค่าของภูมิปัญญาก็เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน     ในอีกแง่หนึ่ง  และในอีกแง่มุมหนึ่งงานศิลปหัตถกรรมก็ยังเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์   (Geography Indication)    เช่น ผ้ากาบบัว   ของครูมีชัย แต้สุจริยา ครูศิลป์ของแผ่นดิน ประเภทผลงานเครื่องทอ ปี 2559 (ผ้ากาบบัว) ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ซึ่งเป็นผ้าทอที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี แสดงให้เห็นถึงที่มาของลวดลาย การใช้วัสดุ และภูมิปัญญา อันเชื่อมโยงกับความรู้ต่าง ๆ ของท้องถิ่น นำมาประยุกต์เข้ากัน จนเกิดเป็นสินค้าหัตถกรรมที่นำไปสู่การสร้างรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์

Thainess คือเรื่องที่ 2 ที่ถูกยกขึ้นมาเสวนา

เพราะความเป็นไทยที่ไทยภาคภูมิใจ หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้างรสนิยมให้คนไทยใช้ของไทย โดยเน้นให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือผู้บริโภคสมัยนิยม ควบคู่ไปกับการผสานการเล่าเรื่องแบบไทย โดยประยุกต์ลงไปในงานคราฟต์ แต่เมื่อเข้าสู่ตลาดสากลการใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสารนับเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยเล่าเรื่องราวของงานดีไซน์ แนวคิดการใช้งาน ให้สามารถเข้าใจได้ง่ายในระดับสากล ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยยกระดับ และเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปหัตถกรรมไทย ดังที่ ม.ล.ภาวินี สันติศิริ กล่าวไว้ในหัวข้อนี้

ในมุมหนึ่งการรวบรวมความรู้ และการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยให้เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่ ควรทำให้พวกเขามีความรู้ ความเข้าใจ จนนำไปสู่การสร้างอาชีพตั้งแต่ระบบการศึกษา อย่างไรก็ดีผู้อยู่เบื้องหลังของการสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรมไทยอย่าง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ไปจนถึงนักออกแบบ บุคคลเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไม่สูญหาย และเติบโตไปพร้อมกับการสร้างมูลค่าได้อย่างยั่งยืน

หัวข้อสุดท้าย ความนิยม Craft Power

เปิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดย ดร. สิริกร  มณีรินทร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการสถาบันช่างศิลป์ ท้องถิ่น สำนักบริหารวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) เกี่ยวกับการสร้างพลังแบบไทยสู่อิทธิพลความคิดระดับโลก ประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่ที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งในเวทีเสวนา และแวดวงกูรูที่ทุกท่านต่างมุ่งหวังให้งานศิลปกรรมหัตถกรรมเติบโตได้อย่างยั่งยืน อีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเรื่องนี้ได้นั่นคือการท่องเที่ยว เพราะนับเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตในการเข้ามามีบทบาทเพื่อช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ให้คนทั่วไปได้มองเห็นเสน่ห์ของงานศิลปหัตถกรรม ในขณะเดียวกันการดีไซน์ให้งานศิลปหัตถกรรมกลมกลืนอยู่ในทุก ๆ อุตสาหกรรม เช่น การนำวัฒนธรรมมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ไอศกรีมลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างวัดผลสำเร็จในการสร้าง  ได้อย่างไม่น่าเชื่อ การวัดผลนั้นเหมือนเห็นผลสัมฤทธิ์ตั้งแต่ต้นน้ำ ทางด้านวัตถุดิบทางการเกษตร จนถึงปลายน้ำของผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม หรือรวมไปถึงกระแสความนิยมสมัยใหม่ที่บริโภคสินค้าอุตสาหกรรมผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้ง 3 ประเด็นที่ถูกยกมาในวงประชุมเสวนา sacit Craft Power ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทั้ง 9 ท่าน นับเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาร่วมกันในอนาคตอันใกล้ โดยผลประโยชน์ที่ได้จากการประชุมเสวนาครั้งนี้จะได้รับการนำไปรวบรวมและนำไปจัดทำกรอบแนวคิด SACIT The Future of craft, Trend Forecast 2025 เพื่อช่วยผลักดันให้งานศิลปหัตถกรรมไทยก้าวหน้าไปในทุกมิติ และมีความยั่งยืน รวมทั้งช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นอกจากนี้ ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมให้อยู่ในระดับสากลในเวทีโลกต่อไปในอนาคต

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.