4 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ การถวายภัตตาหาร แบบไหนถูกวิธีกันแน่
เชื่อว่าหลายท่านรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจเวลาต้องไปทำบุญ หรือ เตรียมตัวสำหรับ การถวายภัตตาหาร ที่วัด บ้างก็ไม่มั่นใจว่าตนเองปฏิบัติต่อพระสงฆ์ถูกต้องตามหลักการทำบุญหรือเปล่า บ้างก็ไม่มั่นใจว่าวิธีทำบุญกับพระสงฆ์ที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
เพื่อขจัดข้อข้องใจต่างๆ ให้หมดสิ้น Goodlife จึงขอนำเสนอวิธีการทำบุญที่ถูกต้องตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ทุกท่านเกิดความมั่นใจและเกิดจิตบริสุทธิ์ในการทำบุญอย่างแท้จริง
1. ควรถวายอาหารอะไรและเมื่อไหร่
การถวายภัตตาหาร สามารถทำได้ทั้งในช่วงเช้าหรือเพล (ก่อนเที่ยง) โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระสงฆ์สามารถฉันอาหารได้ตามเวลาที่กำหนดเท่านั้น พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า “กาลิก” ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ดังนี้
1. ยาวกาลิก (อ่านว่ายาวะกาลิก) พระสงฆ์สามารถฉันได้ชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของวันนั้น เช่น ข้าว ปลา เนื้อ ผัก ผลไม้ ขนมต่างๆ
2. ยามกาลิก (อ่านว่ายามะกาลิก) พระสงฆ์สามารถฉันได้ชั่ววันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือก่อนอรุณของวันใหม่ ได้แก่ ปานะ คือ น้ำคั้นผลไม้ที่ทรงอนุญาต
3. สัตตาหกาลิก พระสงฆ์สามารถฉันได้ภายในเวลา 7 วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง 5 คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย
4. ยาวชีวิก พระสงฆ์สามารถฉันได้ตลอดไปไม่จำกัดเวลา ได้แก่ ของที่ใช้ปรุงเป็นยา นอกจากกาลิก 3 ข้อต้น
(ความจริงยาวชีวิก ไม่เป็นกาลิก แต่นับเข้าด้วยโดยปริยาย เพราะเป็นของเกี่ยวเนื่องกัน)
ทั้งนี้ หากนำกาลิกมาผสมกัน การเก็บไว้ฉันจะเป็นไปตามกาลิกที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า เช่น ถ้านำน้ำผึ้ง (สัตตาหกาลิก) ไปผสมกับยา (ยาวชีวิก) ก็จะสามารถฉันได้แค่ 7 วันเท่านั้น
2. ถวายผักผลไม้ควรทำอย่างไร
ผลไม้ที่มีเมล็ดสามารถนำไปปลูกต่อได้ เช่น ส้ม ละมุด มะละกอ ฯลฯ มีวิธีถวายดังนี้
ผู้ถวาย: นำภาชนะที่ใส่ผักผลไม้ทั้งหมดมาวางชิดติดกัน
พระสงฆ์: รับประเคนแล้วถามว่า “กัปปิยังกะโรหิ” (แปลว่าทำลายแล้วหรือยัง)
ผู้ถวาย: ใช้มีดตัดเปลือกผลไม้หนึ่งชิ้น โดยตัดเพียงเล็กน้อยให้ขาดออกจากกันเพื่อเป็นตัวแทนของของทั้งหมด แล้วกล่าวตอบว่า “กัปปิยะภันเต” (แปลว่าทำลายแล้วเจ้าข้า)
ส่วนผลไม้ที่มีเมล็ดอ่อนไม่สามารถนำไปปลูกต่อได้หรือผักที่สุกแล้ว ไม่ต้องกล่าว “กัปปิ” ให้ประเคนถวายได้เลย
3. การถวายอาหารที่ถูกต้องควรทำอย่างไร
การถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เรียกว่า “ประเคน” ซึ่งวิธีที่ถูกต้องให้ทำดังนี้
- ผู้ชาย: นั่งคุกเข่าหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่ ห่างจากพระสงฆ์ประมาณหนึ่งศอก จากนั้นให้ยกของประเคนขึ้นสูงประมาณแมวเดินลอดได้ แล้วจึงน้อมตัวเข้าไปถวาย เมื่อถวายเสร็จแล้วไหว้หรือกราบด้วยความนอบน้อม
- ผู้หญิง: นั่งพับเพียบหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่ ห่างจากพระสงฆ์มากกว่าหนึ่งศอกกว่าๆ พระจะใช้ผ้ารับประเคนเพื่อไม่ให้โดนตัว จากนั้นให้ยกของประเคนขึ้นสูงประมาณแมวเดินลอดได้แล้วจึงน้อมตัวเข้าไปถวาย เมื่อถวายเสร็จแล้วไหว้หรือกราบด้วยความนอบน้อม
4. ถ้าอาหารมีจำนวนมาก ยกประเคนไม่ไหว จะทำอย่างไร
กรณีนี้ไม่ต้องประเคน แต่ควรนำอาหารมาให้พระสงฆ์เห็นแล้วกล่าวคำถวายก่อน หลังรับพรจากพระแล้วจึงนำอาหารไปเก็บไว้ที่โรงครัวเพื่อให้แม่ครัวทยอยแบ่งออกมาถวายพระสำหรับฉันในวันต่อๆ ไป เพราะถ้าหากพระรับประเคนทั้งหมดก็ไม่สามารถเก็บไว้ฉันได้เพราะถือว่าเป็นยาวกาลิกมีอายุแค่เช้าถึงเที่ยงวันเท่านั้น
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ครั้งต่อไปหากต้องเข้าวัดทำบุญ ถวายภัตตาหาร ก็พกความมั่นใจไปได้ ไม่ต้องกังวล
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก เว็บไซต์พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พุทธศาสนา