บรรณบำบัด อ่านให้หนังสือช่วยคลายใจ (2)
คราวที่แล้วเราพูดถึงการใช้หนังสือเป็นเครื่องช่วยในการบำบัดโดยเฉพาะในทางการแพทย์ วันนี้เรามาลองดูแนวคิด
เกี่ยวกับ บรรณบำบัด (Bibliotherapy) ของ Margaret E. Monroe ศาสตราจารย์สาขาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กันดูว่า 6 ขั้นตอนนั้นมีอะไรบ้าง
1.ขั้นตอนการอ่าน ดู หรือฟัง (Read, view or listen) เป็นแนวทางในการเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิตให้แก่
ผู้รับการบำบัด โดยที่ผู้รับการบำบัดจะเกิดการเลียนแบบเชิงเปรียบเทียบ และนำตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในพฤติกรรมของตัวละครหรือประสบการณ์ที่ปรากฏในหนังสือ
2.ขั้นตอนการเลียนแบบเชิงเปรียบเทียบ (Identification) เป็นขั้นตอนที่ผู้รับการบำบัดเกิดการเลียนแบบ
เชิงเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของตัวละครหรือประสบการณ์ที่ประทับใจ โดยที่ผู้รับการบำบัดนำพฤติกรรมหรือประสบการณ์ของตัวละครมาเชื่อมโยงเข้ากับพฤติกรรมหรือประสบการณ์ในชีวิตของตัวเอง ได้แก่ อารมณ์ แนวความคิด ปัญหา การอ่านและพฤติกรรม เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึกเปิดเผยมาอยู่ในระดับจิตสำนึก
อันมีผลทำให้ผู้รับการบำบัดเกิดการระลึกได้และมีความเข้าใจตนเอง
3.ขั้นตอนการมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมในประสบการณ์ (Experience vicariously) เป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดจากการเลียนแบบเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้ผู้รับการบำบัดเกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ในประสบการณ์จริง มีผลทำให้ผู้รับการบำบัดเกิดการถ่ายโยงอารมณ์ความรู้สึกของเหตุการณ์นั้นๆ แล้วเชื่อมโยงเข้ามาสู่ประสบการณ์ในชีวิตของตนเอง
4.ขั้นตอนการระบายอารมณ์ความรู้สึกขุ่นข้องที่กดดันเพื่อคลายความทุกข์ (Cathasis) ภายหลังจากที่รู้ว่าผู้รับการบำบัดเกิดการเลียนแบบเชิงเปรียบเทียบและมีอารมณ์ความรู้สึกร่วมในประสบการณ์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือแล้ว จะมีผลทำให้ผู้รับการบำบัดเกิดการระบายความขุ่นข้อง ความกดดันออกมา ซึ่งเป็นการปลดเปลื้องสิ่งที่กดดันจิตใจ เป็นผลให้ความเครียดความกดดันลดลงและยังเปิดโอกาสให้ผู้รับการบำบัดได้เผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
5.ขั้นตอนการหยั่งเห็น (Insight) เมื่อได้ระบายอารมณ์ความขุ่นข้องออกมาแล้ว จะทำให้ผู้รับการบำบัดสามารถมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าใจตนเองมากขึ้นและสามารถจัดระบบทางความคิดของตนเองได้ใหม่
6.ขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือพฤติกรรม (Change in attitude or behavior) หลังจากเกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้นผู้เข้ารับการบำบัดจะมองตนเองในแง่ดีมากขึ้น เกิดความคาดหวังสิ่งใหม่ๆ และสามารถเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปได้ด้วยตนเอง
จากทั้ง 6 ขั้นตอนข้างต้นจะเห็นว่ากระบวนการบำบัดด้วยหนังสือของ Monroe ในขั้นที่ 1-3 จะเป็นกระบวนการสื่อสารภายในตนเองนั่นคืออ่านแล้วคิด ส่วนในขั้นที่ 4 จะเทียบได้กับกิจกรรมสนทนากลุ่ม ที่ให้แต่ละคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อเนื้อหาในหนังสือได้อย่างอิสระ รวมถึงปัญหาของแต่ละคน นำไปสู่การหยั่งเห็นถึงปัญหาของตัวเองและเข้าอกเข้าใจคนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหมือนกัน และเรียนรู้ว่าตนเองไม่ได้โดดเดี่ยวอยู่บนโลกนี้เพียงลำพัง
อ้างอิง
สริยา จันทนฤกษ์.การบำบัดด้วยหนังสือต่อความวิตกกังวลของหญิงตั้งครรภ์ที่บ้านสุขฤทัย คณะภคินีศรีชุมพาบาล.วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาวิชาสุขภาพจิต ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
บทความที่น่าสนใจ