ปลูกปั่น

ปลูกปั่น ดูแลตัวเองและโลกไปพร้อมๆ กัน

ปลูกปั่น ดูแลตัวเองและโลกไปพร้อมๆ กัน

ช่วงนี้กระแสสุขภาพเป็นเรื่องฮิตสำหรับคนเมือง เราจึงไม่แปลกใจเลยที่ว่าหากอยากมีสุขภาพดีขึ้น นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ก็มีเรื่องกินนี่แหละที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่างประโยคที่ว่า You are what you eat พี่จัง –
ศิริลักษณ์ มหาจันทนาภรณ์ เจ้าของธุรกิจน้ำผักผลไม้ปั่น “ ปลูกปั่น ” จะมาเฉลยให้เราฟังถึงการดูแลตัวเองและโลกไปพร้อมๆ กัน

ใครจะรู้ว่าสาวหุ่นดีเจ้าของผิวพรรณเปล่งปลั่งคนนี้จะเคยเป็นคนขี้โรคที่ป่วยต่อเนื่องมา 8 ปี รักษาก็ไม่หายเสียที กินยารักษาโรคนี้ เดี๋ยวก็เป็นอีกโรคนึงต่อ จนกระทั่งเธอได้ค้นพบเคล็ดลับในการกินผักและผลไม้ให้ได้ครบ 5 สี

“เราไปหาแพทย์ทางเลือก หมอบอกว่า เราจะไม่หายหรอกถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยน
พฤติกรรมต่างๆ ในชีวิต ก็เลยคิดได้ว่าอ้อ! เพราะที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตผิดมาตลอด
หมอแนะนำให้กินผักผลไม้  5 สี เราก็เลยศึกษาว่าควรกินอย่างน้อยให้ได้วันละครึ่งกิโล”

เธอกินอาหารตามคำแนะนำนั้นไปจนครบ 6 สัปดาห์ ร่างกายก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นทันที จากคนป่วยหลายๆ โรค มา 8 ปีต่อเนื่องกัน เช่น ลมพิษเรื้อรัง กระดูกเสื่อม ฯลฯ ก็กลับมาสุขภาพดีขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ได้แถมมาคือผิวพรรณที่สดใส เมื่อหายป่วยแล้วเธอเลยอยากให้เพื่อนๆ มีสุขภาพดีไปด้วยกัน แนวคิดนั้นได้รับการต่อยอดกลายมาเป็นร้านปลูกปั่นอย่างทุกวันนี้

 

“ผักผลไม้ปลอดสาร” ไม่ยึดติดกับบรรทัดฐานของคำว่าสวย

เราเลือกที่จะใช้ผักผลไม้ปลอดสารพิษมาปั่นเป็นน้ำปั่นมากคุณค่า แม้หน้าตาจะไม่สวยแต่คงคุณค่าทางโภชนาการไว้ไม่สูญหาย เพราะเราเห็นปัญหาของเกษตรกรที่ว่าผักไม่สวยแล้วคนไม่ซื้อ เอาไปขายในตลาดก็ไม่ได้ราคา แต่กว่าผักนั้นจะโต เค้าต้องประคบประหงมมันมากนะ แค่ว่าไม่สวยก็ไม่ซื้อแล้วเหรอ

อย่างเกษตรกรรายหนึ่งที่ส่งผักเข้าซูปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งต้องคัดขนาดและรูปลักษณ์ให้สวยดูดี ที่สำคัญเท่ากันเป๊ะ “มนุษย์ยึดติดกับมาตรฐานมากเกินไป อะไรที่ผิดไปจากมาตรฐานก็คิดว่าเป็นความผิดพลาด” เราเลยคิดว่าเอ้าเอามาปั่นก็ไม่เห็นหน้าตาแล้ว คุณค่าทางอาหารก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม เราก็ช่วยสั่งจากสวนโดยตรงเลย จากแต่ก่อนไปซื้อผักผลไม้ในกรีนมาร์เก็ต หลังๆ ไปหาถึงสวนเลย

“ทำในสิ่งที่เป็นตัวเอง” โมเดลธุรกิจของคนรุ่นใหม่

ตอนนั้นในธุรกิจน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพจะมีพวกน้ำผลไม้สกัดเย็น (Cold pressed) อยู่แล้ว เราไม่ได้คิดแค่เรื่องธุรกิจแต่เราคิดว่าในสังคมนี้ควรจะมีอะไรบางอย่าง ถึงเปิดร้านนี้ขึ้นมา 4 ปีแล้ว เพราะตอนที่เราทำงานมันขาดสิ่งเหล่านี้คือเรื่องผักผลไม้เพื่อสุขภาพ เราเลยคิดว่าถ้าหากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เราก็อยากจะให้ร้านเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของตัวเองและสิ่งที่ขาดหายไปเหล่านั้น และคิดว่าธุรกิจนี้มันน่าจะอยู่ได้

ตั้งแต่ทำร้านมาเราได้ให้และได้รับในหลายๆ ด้าน ทางกายคือมีสุขภาพแข็งแรง ทางใจคือมีความสุข ทางด้านเศรษฐกิจคือเราได้เงิน และที่สำคัญได้สร้างเรื่องราวดีๆ ให้กับเพื่อนและกลุ่มเครือข่ายทั้งนักปั่นและนักปลูก เลยกลายเป็นโมเดลที่ต้องสมบูรณ์ในทุกๆ วัน

 

“มีความรัก มีความสุข มีประโยชน์” ทำ 3 อย่างให้สมดุล

แนวคิดของเธอทั้ง 3 ข้อ คือ มีความรัก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรักในสิ่งที่ทำ มีคนรัก ความรักทำให้เราเกิดความอยากทำงาน มีจุดประสงค์ในการใช้ชีวิต มีความสุข ทำเพราะมีความสุขที่ได้ทำ ไม่ใช่ความเสียสละ ไม่ได้ทำตามหน้าที่ แต่ทำเพราะอยากทำ มีประโยชน์ ถ้าสิ่งที่เราทำมันไม่มีประโยชน์ก็อย่าทำ เช่น เรามีความสุขที่ได้ดื่มเหล้าแต่มันไม่มีประโยชน์ก็อย่าทำ

การจะทำอะไรขอให้ตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ โดยเฉพาะข้อมีประโยชน์ หากเราสามารถทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างหรือช่วยเหลือคนอื่นได้ก็จะยิ่งเป็นสิ่งที่ดี

ในทางกลับกันถ้าชีวิตเราดีแล้วเราก็จะสามารถทำอะไรได้อีกตั้งหลายๆ อย่าง ไม่เกี่ยวกับคำว่าสำเร็จหรือร่ำรวย เพราะถึงจะเป็นคนที่ร่ำรวยแต่ไม่เคยใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองเลย ก็เท่ากับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต

จากคนป่วยไม่หายมา 8 ปี สู่สาวสุขภาพดีพร้อมผิวพรรณเปล่งปลั่ง…ถ้าเธอทำได้เราก็ทำได้

คุยกับนักปั่น

พี่มึน-ชัชชัย ไชยงาม หนุ่มไอทีจากบางกะปิผู้ผันตัวเองมาเป็นนักปั่นและฟรีแลนซ์ด้านไอที เขาบอกว่างานหนักแบบนี้แต่ก็มีความสุขที่ได้ทำ แต่ก่อนเขาเคยทำงานประจำแต่มีปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากต้องนั่งติดเก้าอี้จนกลายเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม เลยหาวิธีว่าจะทำยังไงถึงมีสุขภาพดีจากการออกกำลังกาย แล้วก็ค้นพบว่าการปั่นจักรยานช่วยได้ เขาปั่นจักรยานมาได้ 3 ปีจึงเห็นประกาศรับสมัครนักปั่น “ปลูกปั่น” จากเว็บไซต์

“มาเข้าร่วมกับปลูกปั่นได้ 8 เดือนแล้ว ผมมาถึงร้านตอนเช้าตั้งแต่ตี 4 เพื่อรับน้ำผักผลไม้ปั่นซึ่งทางร้านเตรียมไว้อยู่แล้วในตู้เย็น พอมาถึงก็หยิบใส่รถแล้วปั่นออกส่ง ผมส่งจากเส้นสุขุมวิทจนไปถึงเยาวราช เฉลี่ยส่งวันละ 17 ขวด สัก 7 – 8 โมงเช้าก็ส่งเสร็จหมดแล้ว”

การปั่นจักรยานช่วยให้เขาได้ออกกำลังกาย แถมมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการปั่น ที่สำคัญคือได้สังคมเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน


บทความที่น่าสนใจ

ชวนคุยเรื่อง “สุข ทุกข์ และบุญ บาป” กับ ส้มโอ ชนม์นิภา คนไม่มีศาสนา

มน Room 39 สาวห้าวกับมุมธรรมะในหัวใจ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.