ชุมชนอ่อนนุช

องค์ความรู้การอยู่เมืองอย่างพอเพียงจาก ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ มีชื่อเสียงด้านการจัดการขยะมานานนับ 10 ปี คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายของเก่า หรือที่รู้จักกันในนาม “ซาเล้ง” นอกจากการเก็บขยะ คัดแยกและขายเปลี่ยนเป็นรายได้แล้ว คนในชุมชนยังรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง  จนสามารถนำขยะมายกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยการทำร้านศูนย์บาท สวัสดิการชุมชนธนาคารคนจน และครัวชุมชน ซึ่งทุกกิจกรรมสามารถทำได้โดยการนำขยะเข้ามาแลกเปลี่ยน เป็นความรู้ที่ทำให้ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ดำเนินชีวิตได้อย่างพอเพียง ลงตัวและยั่งยืน

เพื่อนำความรู้ของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่มาขยายและถ่ายทอดต่อ เอ็ม บี เค กรุ๊ป จึงร่วมกับ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือ มูลนิธิ 3R นำตัวแทนชุมชนจากเขตปทุมวัน เข้าร่วมอบรม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนและกลุ่มซาเล้ง’ ณ แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่

เพื่อเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางตามหลักการ 3R และลงมือฝึกปฏิบัติการคัดแยะขยะและศึกษารูปแบบการจัดการขยะ อาทิ ธนาคารขยะรีไซเคิล และร้านศูนย์บาท พร้อมศึกษาวิถีพอเพียงของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบของการจัดการขยะและการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ภารกิจหนึ่งของเอ็ม บี เค กรุ๊ป คือการปลูกจิตสำนึกด้านการจัดการขยะให้กับพนักงานในองค์กรและส่งต่อองค์ความรู้ที่ได้จากการทำงานสู่ชุมชนที่อยู่โดยรอบ โดยมีหัวใจหลักอยู่ที่การเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดำเนินไปตามหลัก 3R และเนื่องจากโครงการ REAL RECYCLE

ซึ่งเริ่มต้นโครงการในปี 2559 ได้รับแรงบันดาลใจและต้นแบบมาจากการทำงานของมูลนิธิ 3R ที่ร่วมกับคนในชุมชนพัฒนาชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ จนเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งที่พึ่งพาตนเองได้จากการบริหารจัดการขยะ และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โครงการนี้จึงเป็นการถ่ายทอดความรู้จากชุมชนสู่ชุมชน โดยมีเอ็ม บี เค กรุ๊ปและมูลนิธิ 3R เป็นสื่อกลาง”

นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (มูลนิธิ 3R) กล่าวว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและกลุ่มซาเล้งในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการขยายองค์ความรู้แบบวิถีชาวบ้าน ให้ผู้เข้าร่วมได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลัก 3R การคัดแยกขยะและการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตจริง ทั้งยังได้เรียนรู้การจัดตั้งร้านศูนย์บาท ได้เข้าใจว่าขยะคือเงินที่สามารถช่วยค่าครองชีพของชุมชนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของกลุ่มซาเล้ง”

นายพีรธร เสนีย์วงศ์ ประธานชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่และวิทยากร กล่าวว่า “แนวคิดของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ของเรา คือการใช้ขยะขับเคลื่อนชีวิต สมาชิกในชุมชนสามารถชีวิตได้โดยไม่ต้องใช้เงินจับจ่าย ในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรามีกันกว่า 100 ครอบครัวที่รวมกลุ่มกันแก้ปัญหาปากท้อง จากอดีตคนใต้สะพาน เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงซึ่งกว่าจะเข้มแข็งจนมีระบบที่พึ่งพาตนเองได้ ก็ใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี จนมาถึงวันที่เราสามารถเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับทุกคนได้”

ด้านผู้เข้าร่วมอบรม อาทิ นางศรีจันทร์ แสงหิรัญวัฒนา ประธานชุมชนผู้สูงอายุ 05 หนึ่งในสมาชิกชุมชนเขตปทุมวัน มองว่าตนเองได้รับประโยชน์และได้เรียนรู้ประเภทของขยะ การคัดแยกนั้นจะอาศัยแต่เขตอย่างเดียวไม่ได้  เราในฐานะคนในชุมชนตัวเราต้องรู้จักเปลี่ยนพฤติกรรมการคัดแยก

ซึ่งความรู้จากการอบรมในครั้งนี้ นางศรีจันทร์จะนำกลับไปพัฒนาชุมชน ส่วนนายศศิพงศ์ เศวตนันทิกุล ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตปทุมวัน มองว่ากิจกรรมของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ สามารถเกื้อหนุนนโยบายภาครัฐได้เป็นอย่างดี ภาครัฐพยายามผลักดันให้ครัวเรือนลดการผลิตขยะ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากพลาสติก ซึ่งการเอากลับมาใช้ใหม่และแยกแบบ 3R จะทำให้ขยะกลับเข้ามาสู่ระบบและถูกจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ขณะนี้ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ได้นำโมเดลร้านศูนย์บาทของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ มาใช้ในองค์กรด้วย โดยเปิดร้านศูนย์บาทในทุกๆ สิ้นเดือน ในชื่อกิจกรรม “ซุกสุขสิ้นเดือน” เพื่อให้พนักงานนำขยะจากที่บ้านและในองค์กรมาแลกเป็นขนม อาหาร และสินค้าอุปโภค เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการคัดแยกขยะของพนักงาน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากพนักงานในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

เราสามารถเก็บขยะพลาสติกและกระดาษเหลือใช้ ได้กว่า 685 กิโลกรัม  ซึ่งการอบรม ‘โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนและกลุ่มซาเล้ง’ ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งพนักงานเอ็ม บี เค กรุ๊ป และชุมชนเขตปทุมวันจะต่อยอดจากประสบการณ์ตรงเพื่อนำมาปรับใช้ในองค์กรและชุมชนต่อไป” นางสาวศิรฐา กล่าวปิดท้าย

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
Riya
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.