วัฒนธรรม

สัมผัส วัฒนธรรม (การกิน) หลากหลายชนเผ่า ณ บ้านแม่แอบ จ.เชียงราย

สัมผัส วัฒนธรรม (การกิน) อันหลากหลายใน 1 ชุมชน ณ บ้านแม่แอบ จ.เชียงราย

เคยสำรวจดูรึเปล่าว่าเราเป็นใคร? ลองถามพ่อแม่ ตายายดูสิว่าบรรพบุรุษของเราเป็นคนชาติไหน คุณอาจได้คำตอบที่คาดไม่ถึงเลยก็ได้ เพราะการผสมผสานทาง วัฒนธรรม และเชื้อชาติทำให้เรามีความหลากหลายอยู่ในคนๆ เดียวกัน อย่างในชุมชนบ้านแม่แอบ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ก็มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันถึง 5 กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชนเดียว แต่สามารถอยู่ร่วมกันและดำรงอัตลักษณ์ของกลุ่มตนเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

ทำไมคนหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์จึงอาศัยอยู่ที่แม่แอบ?

ประชากรบ้านแม่แอบ ส่วนใหญ่เป็นคนจีนยูนนาน ที่อพยพเข้ามาเนื่องจากหนีภัยสงคราม ในปี พ.ศ. 2492 ขณะนั้นการเมืองภายในประเทศจีนเกิดการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลจีนขณะนั้น ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ค พรรคก๊กมินตั๋งและฝ่ายคอมมิวนิสต์ ภายใต้การนำของ เหมาเจ๋อตง ทั้งสองฝ่ายต่างมีกำลังทหารเป็นของตนเอง และสู้รบกันเพื่อแย่งชิงประชาชน และอำนาจการปกครองจีนที่กว้างใหญ่

ฝ่ายเจียงไคเช็ค มีกำลังทหารส่วนหนึ่งที่เรียกว่า กองพลหน่วยที่ 93 ได้ปฏิบัติการอยู่แถบคุนหมิง มณฑลยูนนาน ตอนใต้ของจีน  ต่อมากองทัพฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงเป็นฝ่ายกำชัย ทำให้กองพลหน่วยที่ 93 ถูกตีถอยร่นจนมาถึงแนวชายแดนไทย

โดยทหารกลุ่มนี้มีส่วนช่วยกองทัพไทยในการปราบปรามผู้ก่อการร้าย ซึ่งการปราบปรามผู้ก่อการร้ายใช้เวลายืดเยื้อยาวนานราว 4 ปี (พ.ศ.2512 – 2516) เหตุการณ์จึงได้สงบลง หลังจากนั้นรัฐบาลไทยได้ให้กองกำลังจีนอพยพ (กองพล 93) จัดตั้งเป็นหมู่บ้านยุทธการ “หมู่บ้านแม่แอบ”  ขึ้น ณ ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ทำให้ชาวบ้านแม่แอบในปัจจุบันมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ เนื่องจากระหว่างการอพยพถอนร่นจากจีนเข้าพม่าจนมาถึงไทย ได้มีการกวาดต้อนผู้คนตามรายทางมากับกองทัพด้วย ทำให้บ้านแม่แอบมีประชาชนจาก 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ลัวะ ลาหู่ จีนยูนนาน อาข่า และไตใหญ่

 

วัฒนธรรมการกิน

ด้วยความที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวจีน คนที่นี่ไม่ว่าจะกลุ่มชาติพันธุ์ไหนก็มีวัฒนธรรมที่ผสมผสานกัน อย่างวัฒนธรรมการกิน ที่นี่ใช้ตะเกียบ บริโภคข้าวจ้าวเป็นอาหารหลัก โดยมีถั่วลิสง และพืชผักต่างๆ ที่ปลูกกันนำมาประกอบ แปรรูป และถนอมอาหารกินกันในครัวเรือน

อาหารพื้นบ้านของชาวไตใหญ่

ประกอบได้ด้วย ข้าวเหลือง จากสีของดอกกุ้ด (พืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีในแถบเชียงตุง) นำมาต้มให้เดือด ก่อนเอาข้าวเหนียวแช่น้ำ แล้วนึ่ง พอได้ข้าวร้อนๆ เสร็จก็โรยกระเทียมเจียวตาม ไก่อุ๊บ ไก่บ้านหมักขมิ้น กระเทียม พริกแห้ง หมักให้เข้ากันใส่น้ำตั้งไฟ ผักอีเม็ด ยอดใบผักกาดตำ หมักเกลือ และข้าวสวยสุกนิดๆ หมักทิ้งไว้ 3 คืน จึงเอาออกมาตากแล้วนึ่ง ก่อนนำไปตากให้แห้ง เก็บไว้ได้นานหลายเดือน ก่อนจะกินค่อยนำมาทอด

ชิมน้ำเต้าหู้ ชาวจีนยูนนาน

ชาวจีนบ้านนี้กินมังสวิรัติ เลยดัดแปลงเมนูน้ำพริกอ่องหมูสับที่ต้องกินกับผัดหมี่เหลือง เป็นเต้าหู้ทรงเครื่องผัดน้ำพริกอ่องแทน ตบท้ายด้วยขนมหวานคือ เค้กขนมไข่ คู่กับน้ำเต้าหู้และข้าวเหนียวเหลืองที่นึ่งรวมกับแป้งข้าวเหนียวยัดไส้ถั่วเหลือง ให้รสสัมผัสคล้ายๆ กับเนื้อโมจิในข้าวเหนียว

 

ข้าวซอยน้อยทรงเครื่อง ชาติพันธุ์ลัวะ

ข้าวซอยน้อยทรงเครื่อง ของที่นี่จะทำขายเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างตรุษจีนและสงกรานต์ ทำจากแป้งข้าวจ้าว ผสม ไข่ ถั่วลิสง พริก เกลือ น้ำตาล และกระเทียมเจียว โรยด้วยยอดถั่วลันเตาแล้วนำไปนึ่ง กินคู่กับน้ำพริกข้าวซอย (น้ำพริกอ่อง)

แม้ว่าจะสงบจากสงครามแล้ว แต่วัฒนธรรมการปกครองของกองทัพก็ยังมีอิทธิพลต่อการปกครองหมู่บ้านอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่บ้านของที่นี่จะเป็นคนจีนมาตลอดตั้งแต่เริ่มตั้งหมู่บ้านขึ้นมา แต่เนื่องจากผู้ชายส่วนใหญ่เสียชีวิตในการรบ ทำให้มีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผู้หญิงจะมีบุคลิกที่เข้าได้กับทุกฝ่าย  ในการสมัครรับเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านจึงมีผู้หญิงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านมาตลอด

ขอบคุณ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


บทความที่น่าสนใจ

หรรษาหน้าฝน @เชียงใหม่

เที่ยว “เมืองคอน” ชมความแน่นแฟ้นวัฒนธรรมเก่าแก่ และมนต์เสน่ห์แห่ง 3 อำเภอ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.