เถียงยังไงให้ชนะ

เถียงยังไงให้ชนะ 4 วิธีถือไพ่เหนือกว่าเวลาถกเถียง

เถียงยังไงให้ชนะ 4 วิธีถือไพ่เหนือกว่าเวลาถกเถียง

การโต้เถียงคือสงครามคำพูดชนิดหนึ่ง เวลาเราโต้เถียงกันเปรียบไปก็เหมือนกันกับถือดาบถือปืนรบกัน ผลแพ้ชนะวัดกันตรงที่ว่า ฝ่ายไหนมีกลยุทธ์ทรงประสิทธิภาพมากกว่า เช่นเดียวกับคำว่า “ชนะเป็นนาย แพ้เป็นกบฏ” ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร ผู้ชนะในการโต้เถียงถือเป็นผู้ถูกเสมอ ถ้าหากคุณสงสัยว่า เถียงยังไงให้ชนะ 4 วิธีเหล่านี้คือคำตอบ

1.เล่าให้ยาว

สำหรับเหตุผลที่ใครฟังใครก็ว่าสมควรหรือสถานการณ์ที่อีกฝ่ายรู้ดีอยู่ ให้พูดสั้นๆ ส่วนเรื่องที่อีกฝ่ายไม่รู้ให้เล่ายาวๆ ซับซ้อน เรื่องยาวเหยียดจะลดสมาธิของอีกฝ่าย นำไปสู่ความได้เปรียบเมื่อโต้เถียง นักการเมืองนิยมใช้วิธีนี้ เวลามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือซักถามฝ่ายตรงข้ามเขาจะพูดข้อเท็จจริงที่อาจทำพรรคตนเสียเปรียบแบบข้ามๆ แล้วพูดสิ่งที่ทำพรรคตรงข้ามเสียเปรียบ แต่พรรคตนได้ประโยชน์แบบยาวๆ การพูดยาวๆ จะทำให้สมองอีกฝ่ายสับสน พลังคิดวิเคราะห์ลดลง ต่อให้ประสาทแข็งแค่ไหน พอฟังเรื่องยาวเหยียดเข้าให้ เป็นต้องหลงลืมเรื่องก่อนหน้า ลดสมาธิที่จะประเมินว่าคำพูดอีกฝ่ายเป็นอย่างไร ถูกหรือผิด กลายเป็นเสียเปรียบ เสียโอกาสที่จะโต้เถียงกลับ เสียพลังต้านทาน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเรามีเงื่อนไขเสียเปรียบหากเถียงกันด้วยเหตุผลก็ควรทำให้อีกฝ่ายเวียนหัวด้วยการพูดยาวๆ

2.พูดเสียงดังและเร็ว

ไม่ใช่แค่พูดยาวๆ แต่ต้องพูดให้เร็ว เสียงดัง จะยิ่งทำให้อีกฝ่ายสับสน แม้แต่เวลาเด็กๆ ทะเลาะกัน เด็กที่พูดเสียงดัง พูดเร็วฉอดๆ จะเป็นคนชนะโดยไม่เกี่ยงว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร แม้แต่ภาพยนตร์ประเภทแก๊งสเตอร์ พอกระหน่ำยิงปืนกล ต่อให้เป็นตำรวจมากฝีมือแค่ไหน ก็ต้องก้มหลบไว้ก่อน การยิงกระหน่ำคำพูดให้เหมือนรัวสาดปืนกลก็เป็นเช่นนั้น มันจะทำให้อีกฝ่ายลดความมุ่งมาดจะเอาชนะเรารีบเปลี่ยนจากโหมดรุกเป็นรับ

3.ใช้จุดอ่อนทำให้โมโห

เวลาต่อยตีกัน บางคนยั่วยุให้อีกฝ่ายเดือดดาล เพราะพอโมโหก็จะเกิดช่องโหว่ และเราสามารถใช้ช่องโหว่นั้นโจมตีจนชนะได้ การพูดจาโต้เถียงก็เช่นกัน หากเราจู่โจมโดยยั่วยุให้อีกฝ่ายโมโหจนเปิดช่องว่าง พลังพร้อมปะทะของอีกฝ่ายจะลดลง วิธีดังกล่าวเคยถูกนำเสนอมาก่อนในแนวความคิดแบบโซฟิสม์ (sophism) ของอาริสโตเติล เขากล่าวว่า “กฎพื้นฐานของการทำให้โกรธคือการแสดงออกชัดเจนถึงความไม่ชอบใจ ไม่ใส่ใจอีกฝ่าย” คำว่า “ไม่ชอบใจ” “ไม่ใส่ใจ” ที่อริสโตเติลบอก คือพฤติกรรมยั่วยุอีกฝ่ายให้ไถลออกจากประเด็นเดิม เช่น ใช้คำตำหนิ พูดย้อน แม้จะดูเล่นนอกกฎ แต่ไม่ว่าอย่างไร การยั่วให้อีกฝ่ายโมโหก็ถือเป็นวิธีช่วยให้เราได้เปรียบเวลาโต้เถียง

4.ยิงคำถามที่อีกฝ่ายนึกไม่ถึง

ระหว่างฝ่ายรุกกับฝ่ายรับในกีฬาฟุตบอล ฝ่ายไหนได้เปรียบมากกว่า แน่นอนต้องเป็นฝ่ายบุก หากเปรียบเทียบกับฟุตบอล การโต้เถียงจะถือว่าฝ่ายยิงคำถามเป็นฝ่ายรุก ส่วนฝ่ายตอบเป็นฝ่ายรับ ฉะนั้นเมื่อต้องโต้เถียง ฝ่ายที่ตั้งคำถามจะได้เปรียบมากกว่า การตั้งคำถามนี้จะมัวใจเย็น ถามทีละข้อแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่ได้ ถ้าจะให้ดีเราต้องยิงคำถามที่เกินคาดให้เหมือนกับลูกรักบี้ที่ไม่มีใครเดาออกว่า มันจะพุ่งไปทิศทางใดบ้าง ห้ามให้อีกฝ่ายมีเวลาตั้งรับ เพื่อให้เขาเถียงไม่ออก

ที่มาจาก หนังสือคนเก่งพูดต่าง เขียนโดย คิมยังโฮ แปลโดย ตรองสิริ ทองคำใส สำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู


บทความน่าสนใจ

5 เทคนิค พูดให้ประสบความสำเร็จ เคล็ดลับดีๆ ที่ไม่ควรมองข้าม

Best books of the week (IX) “พูด” เครื่องมือสู่ ความสำเร็จ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
A Cuisine
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.