ทักษะ 4.0 เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร
เมื่อดิจิทัลปฏิวัติคนและธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปเช่นในปัจจุบัน เมื่อปัญญาประดิษฐ์ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในแรงงานที่สำคัญในปัจจุบัน ผู้นำยุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับตัว และพัฒนา ทักษะ 4.0 เพื่อให้สามารถก้าวทัน และก้าวนำการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI บริษัท Rabbit’s Tale และ KX Building Knowledge xchange for innovation จัดงานสัมมนา
“ทักษะ 4.0 : เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมีคืออะไร”
ณ KX Building เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา
“ผู้ประกอบการค้ารุ่นใหม่ในยุคไทยแลนด์ 4.0”
คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) นำเสนอวิสัยทัศน์ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจเป็นเรื่องยากและมีความเสี่ยงสูง
สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่จึงจัดหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการยุค 4.0 โดยมีการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการปูพื้นฐานความเข้าใจด้านการตลาดและการทำธุรกิจ การสร้างเครือข่ายทางการค้า ไปจนถึงความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและ E-business ที่จำเป็นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อการแข่งขันทางการค้าในระดับประเทศอย่างยั่งยืน
“การเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ในระยะแรกอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่คุณต้องกล้าลองผิดลองถูก และต้องมองธุรกิจกลุ่มเดียวกันด้วยใจที่เปิดกว้าง อย่าเห็นเป็นศัตรู นี่เป็นจุดแข็งที่จะทำให้ธุรกิจของคุณก้าวต่อไปได้”
คุณพรวิช ศิลาอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA)
Facebook: สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่
ทำความรู้จักกับหลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ประกอบการใหม่ ได้ ที่นี่
“เมื่อปัญญาประดิษฐ์คือแรงงาน ทักษะจำเป็นอะไรที่คอมพิวเตอร์ทดแทนได้ยาก”
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อ้างอิงผลงานวิจัยว่า “อาชีพกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ จะถูกคอมพิวเตอร์ทดแทนได้ในอนาคตอันใกล้”
มีอาชีพ 3 ประเภท ที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์ ได้แก่
- อาศัยที่อาศัยความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) เช่น พระ หมอดู และนักจิตวิทยา
- อาชีพที่อาศัยความคิดสร้างสรรค์ เช่น เชฟ หรือศิลปินที่ต้องการสร้างงานผลงานที่มีเอกลักษณ์
- อาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดทางประสาทสัมผัส เช่น การผ่าตัดอวัยวะส่วนที่ละเอียดอ่อน
อย่างไรก็ตาม เราเริ่มเห็นเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาขึ้นจนมีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ อย่างฟังก์ชัน Siri ของระบบ IOS ที่สามารถโต้ตอบและตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ถือว่ามีความฉลาดทางสังคมระดับหนึ่ง
ดร. สมเกียรติ นำเสนอทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อการปรับตัว ประกอบด้วย
1. ทักษะการมองภาพรวม
ทักษะหนึ่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์คือ ทักษะการมองภาพรวมอย่างครบถ้วนรอบด้าน โดยคอมพิวเตอร์นั้นจะมีการคิดวิเคราะห์แยกเน้นเป็นส่วน ๆ ไม่สามารถมองภาพรวมเพื่อวางแผนกลยุทธ์ได้
2. ร่วมก่อการ
แทนที่เราจะมองว่าคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแย่งงานของมนุษย์ หากเราลองปรับเปลี่ยนมุมมอง จะพบว่าเราสามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ โดยการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่ทำให้การทำงานของมนุษย์สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งขึ้น เช่น ให้มนุษย์เป็นผู้วางกลยุทธ์และให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ เป็นต้น
3. ชาญฉลาดใช้
เราต้องรู้จักนำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างชาญฉลาด ยกตัวอย่างเช่น แพทย์สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยวิเคราะห์ฟิล์มเอ็กซเรย์ เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของแพทย์ เพื่อที่แพทย์จะได้มีเวลาพูดคุยกับคนไข้มากขึ้น หรือนักคณิตศาสตร์ก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยพิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องซ้ำ
4. ใฝ่หาช่องว่าง
แม้ว่าคอมพิวเตอร์จะมีความสามารถมากมายจนหลายคนกังวลว่าคอมพิวเตอร์อาจจะเข้ามาแทนที่งานที่เราเคยทำ แต่ก็ยังมีบางอาชีพที่เป็นการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ จนไม่มีใครสร้างเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานมนุษย์ จนทำให้อาชีพนั้นยังคงเป็นอาชีพของมนุษย์อยู่ต่อไป
5. แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์
การใช้อารมณ์หรือเรื่องราวเพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับชิ้นงานหรือสินค้า ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคใฝ่หา เช่น การเสพความละเมียดละไมของกาแฟคั่วบดมือ เป็นต้น
“ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ดังนั้น คำถามที่ว่าคอมพิวเตอร์ทำให้คนตกงานไหม ผมมองว่า ในระยะสั้นจะเป็นการช่วยแก้ปัญหามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตมันสามารถทดแทนงานได้ 50 เปอร์เซ็นต์จริง ๆ เราคงต้องกลับมาหาหนทางแก้กันอีกครั้ง”
ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการสภาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
“ปรับตัวแบบผู้นำในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงผู้บริโภค”
คุณสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Rabbit’s Tale และ รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมีคุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าว The Standard เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ทั้งสามท่านเห็นพ้องกันว่า อิทธิพลของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป กล่าวคือ คน ๆ หนึ่งใช้ชีวิตออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อม ๆ กัน
สำหรับวงการการศึกษา การเรียนในยุคปัจจุบันและอนาคตไม่ใช่การเลคเชอร์ หรือการนำความรู้มาป้อนให้กับผู้เรียนโดยตรงเช่นในอดีตอีกต่อไป แต่ต้องเป็น “การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง” (Experiential Learning) เริ่มต้นจาก “การตั้งคำถาม” ให้ผู้เรียนค้นคว้าหาข้อมูลนำมาปะติดปะต่อกันและสะท้อนออกมาเป็นความคิด ความรู้สึก ก่อนที่ครูจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้เกิดความคิด สามารถวิเคราะห์เพื่อสร้างองค์ความรู้และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
บทบาทของครูยุคใหม่จึงไม่ใช่ผู้สอน แต่เป็น “ผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดความคิด” (Facilitator)
“ในยุคที่ข้อมูลหาได้เพียงแค่เข้า Google เราต้องใช้การเรียนรู้แบบผสมผสาน อาจารย์มีหน้าที่นำข้อมูลจากที่หาได้จากเว็บไซต์มาสอนให้นักศึกษาใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์จนสกัดเป็นองค์ความรู้ และเกิดการปฏิบัติจริงในที่สุด”
รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในอนาคตจะมีสถาบันการศึกษาที่นำหลักการ Internet of Things หรือ IoT มาใช้พัฒนาพื้นที่การเรียนรู้มากยิ่งขึ้น เช่น การติดกล้องหรือเซนเซอร์ในห้องเรียนเพื่อสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การประเมินและปรับปรุงคุณภาพการสอน การทำระบบจัดการภายในห้องเรียน เช่น ระบบเปิด – ปิดไฟฟ้าภายในห้อง ระบบเก้าอี้หรือโต๊ะเลคเชอร์ที่สามารถเช็คจำนวนนักเรียน เป็นต้น
ในฐานะผู้ผลิตสื่อและอาจารย์จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้วิธีศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าหรือนักศึกษาเป็นหลัก
“ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของสื่อคือ คนไม่เชื่อโฆษณา ไม่เชื่อเจ้าของผลิตภัณฑ์ เวลาออกแบบสื่อ ผมจึงต้องเลือกเครื่องมือที่ถูกต้อง ถ้าคนเชื่อบุคคลภายนอกมากกว่า ก็ใช้กลยุทธ์ KOL (Key Opinion Leader) หรือการดึง Influencer เข้ามาช่วยทำเนื้อหาโฆษณา รวมถึงใส่อารมณ์และเรื่องราวเข้าไปด้วย จะให้ผลดีกว่าแค่โฆษณาเฉย ๆ”
คุณสุนาถ ธนสารอักษร ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Rabbit’s Tale
สิ่งที่แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ควรปรับตัวเพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ได้แก่
- ลักษณะคอนเทนต์ ต้องมีความเกี่ยวข้องกับผู้ฟัง สนุก เกิดอารมณ์ร่วม และมีประโยชน์สำหรับผู้บริโภค
- รูปแบบคอนเทนต์มีหลากหลายมากขึ้น นักการตลาดควรรู้จัก เข้าใจ และเลือกใช้รูปแบบของคอนเทนต์ให้เหมาะกับสินค้าและผู้บริโภค
- เก็บรวบรวม และ วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อให้รู้จักและรู้ใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยควรมีการทดลองทำคอนเทนต์เพื่อดูผลว่าตรงตามกลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และสามารถพัฒนาอย่างไรให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
“เมื่อดิจิทัลปฏิวัติคนและธุรกิจ ทางรอดสุดท้ายคืออะไร”
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าเทคโนโลยีไม่ได้มีเพื่อแย่งงานของมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม กลับช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกสบายให้มากกว่า
การสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาชิ้นหนึ่ง จึงต้องเน้นความสำคัญไปที่การใช้งานมากกว่าสนใจแต่วิทยาการล้ำหน้า แต่กลับไม่สร้างประโยชน์อันใด
“ทักษะอีกอย่างที่คนได้เปรียบคอมพิวเตอร์คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) คนเรามีอารมณ์ที่ลึกซึ้งและเข้าใจได้ยากมากเลยนะ คอมพิวเตอร์อาจจะอ่านผลเอ็กซเรย์ได้เร็ว แต่ไม่อาจบอกข่าวร้ายหรือให้กำลังใจคนไข้ได้เท่าแพทย์ที่เป็นคนจริง ๆ อาจมีสักวันที่ทำได้ แต่คงต้องใช้เวลานาน ตรงนี้แหละที่ทำให้เราหาทางรอดในยุค Digital Disruption ได้”
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปัจจัย 6 ประการที่กำลังเกิดขึ้นในยุคดิจิทัล 4.0 และควรให้ความสำคัญ ได้แก่
1. ข้อมูล (intelligence)
ในปัจจุบัน ข้อมูลคือสิ่งที่สำคัญ มีราคาสูง จึงทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้อกับข้อมูล เช่น Data Scientist กลายเป็นหนึ่งในอาชีพแห่งอนาคต
ผู้คนมีการใช้ชีวิตแบบออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมกันในเวลาเดียวกัน จนเกิดการนำข้อมูลมาผลิตสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ เช่น การเกิดขึ้นของร้านชำ Amazon Go ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้า และตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการซ์้อสินค้าแบบจับต้องได้ มองเห็นสินค้าจริง ไม่มีเวลารอให้สินค้ามาส่ง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความรวดเร็วในการจ่ายเงิน ไม่อยากต่อแถวรอจ่ายเงินในเวลาเร่งรีบ จึงเกิดเป็นร้านชำออฟไลน์ที่สามารถเดินเลือกหยิบสินค้า และชำระเงินแบบออนไลน์ได้ทันที
2. ข้ามโลก (Integration)
การเกิดขึ้นบริการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ จะช่วยเชื่อมโลกและเชื่อมคนเข้าด้วยกัน
3. ขี้เหงา (Isolation)
สังคมออนไลน์ทำให้คนใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เกิดความเหงามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากร้านอาหารบางร้านที่มีบริการโต๊ะอาหาร หม้อต้ม และที่นั่งสำหรับลูกค้าคนเดียวเพิ่มมากขึ้น และการเกิดขึ้นของ Application หาคู่ที่เพิ่มจำนวนและเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
4. ขาดเหตุผล (Irationality)
ผู้บริโภคตัดสินใจด้วยอารมณ์และความรู้สึกเป้นสำคัญ การทำให้ผู้บริโภครู้สึกและมีอารมณ์ร่วม เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้สินค้านั้นได้รับความสนใจ
5. ของจริง (integrity)
สินค้า บริการ และข่าวสารที่จะคงอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันได้ ต้องเป็น “ของจริง” กล่าวคือ ต้องดีจริง มีคุณภาพจริง เป็นความจริง ไม่หลอกลวง หากมีการหลอกลวงผู้บริโภค ก็ไม่สามารถปกปิดเอาไว้ได้นาน ความจริงจะถูกขุดคุ้ยออกมาเปิดเผยได้ง่ายมากขึ้นกว่าในอดีต
6. ขัดเกลาใจ (Inner Mind)
เมื่อโลกนี้เต็มไปเทคโนโลยี คนรู้ว่าโลกเปลี่ยน แต่อาจจะยังตามเทคโนโลยีไม่ทัน คนจึงสนใจที่จะหันกลับมาดูแลใจของตนเองมากยิ่งขึ้น ดังที่จะเห็นตัวอย่างได้จากยอดขายหนังสือธรรมะที่ยังคงขายดี เป็นที่นิยมอยู่เสมอ
“ศาสตร์แห่งการตลาด คือศาสตร์แห่งการสร้างสุข”
ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานหลักสูตร Master in Branding and Marketing (MBM) ภาษาอังกฤษ และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แนวคิดของงานนี้เป็นการต่อยอดความคิดจากหนังสือ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่”
โดย เคลาส์ ชวาบ (Klaus Schwab) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum)
รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งจะเปลี่ยนวิถีชีวิตและวิธีการทำงานของเราไปอย่างพลิกฝ่ามือ ด้วยขนาด ขอบเขต และความซับซ้อน ที่แตกต่างไปจากการปฏิวัติครั้งใดๆ ที่ผ่านมา เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาหลอมรวมโลกกายภาพ ชีวภาพ และดิจิทัล เข้าด้วยกัน พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อทุกสาขาวิชา ทุกระบบเศรษฐกิจ ทุกอุตสาหกรรม และทุกรัฐบาล กระทั่งท้าทายแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับความหมายของการเป็นมนุษย์เช่นไรบ้าง และทุกภาคส่วนควรตั้งรับเช่นไรให้การปฏิวัติครั้งใหม่นี้ยังประโยชน์แก่ตนเอง รวมถึงมนุษยชาติ แทนที่จะเป็นภัยคุกคาม
ชมถ่ายทอดสดงานสัมมนา ได้ที่ Amarin HOW-TO