ในหลวงรัชกาลที่9

หวนรำลึกพระราชดำรัสของพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 พระมหากษัตริย์นักพัฒนา

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) แห่งแผ่นดิน พระมหากษัตริย์นักพัฒนา จากวันนั้นจนถึงวันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในประเทศเหลือคณานับมาตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์

รัชกาลที่ 9

พระองค์ทรงสอนให้เราคนไทยใช้หลักในการดำรงชีวิตในหลักของ “ความพอเพียง” เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีมีความสุข พระองค์ท่านได้ทรงเหน็ดเหนื่อยและทรงทุ่มเทพระวรกายตรากตรำทำงานหนัก และมุ่งมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพสกนิกรชาวไทยเสมอมาตราบจนปัจจุบัน

ด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณอันล้นพ้นหาที่สุดมิได้ ที่พระองศ์ทรงเสียสละความสุขสบายส่วนพระองค์ ทรงงานหนักเพื่อทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีพืชผลทางการเกษตรงอกงาม ดั่งจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำรัสที่เกิดขึ้นมามากมาย หนึ่งในโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับ “ข้าว” พืชผลที่ล่อเลี้ยงคนไทยทั้งประเทศมายาวนาน พระองค์ท่านยังได้เข้ามาช่วยพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพทัดเทียบกับข้าวจากต่างประเทศ และพัฒนาความรู้ให้กับชาวนาเพื่อปลูกข้าวให้มีคุณภาพมากขึ้น จนต่างชาติให้การยอมรับ

ในหลวงรัชกาลที่ 9

ดังนั้น Health&Cuisine จึงขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชดำรัสเรื่อง “ข้าว” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ เคยดำรัสเอาไว้มาให้ประชาชนคนไทยได้ทราบถึงคำสอนและความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อคนไทยเรามากมายเหลือเกิน

รัชกาลที่ 9

พระราชดำรัสเกี่ยวกับข้าวและชาวนา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศ

“.. ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อย ๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก..”

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศ (2536)

“ข้าวที่ออกเป็นสีลักษณะนี้เป็นข้าวที่มีประโยชน์ อย่างข้าวกล้องคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยกินกันเพราะเห็นว่าเป็นข้าวของคนจน ข้าวกล้องมีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรงข้าวขาวเม็ดสวยแต่เขาเอาของดีออกไปหมดแล้ว มีคนบอกว่าคนจนกินข้าวกล้อง เรากินข้าวกล้องทุกวัน เรานี่ก็คนจน”

กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศ (2541)

” ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาการทดลองและทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมี ความยากลำบากอยู่ มิใช่น้อย จำเป็นจะต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผลเป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้น เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้างเพราะ จะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วน ช่วยเพิ่มปุ๋ยกากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป”

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ผู้นำกลุ่มชาวนา เมื่อ พฤษภาคม 2504
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 2

” เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูก… เข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก  … ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป ”

พระราชดำรัส ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงดนตรี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวัน เสาร์ ที่ 6 มีนาคม พ.. 2514 
จากหนังสือ : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 6-7

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 9

“ธนาคารข้าว… ให้มีคณะกรรมการควบคุม ที่คัดเลือกจากราษฏรในหมู่บ้าน เป็นผู้เก็บรักษา พิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับข้าวคืน ตลอดจนจัดทำบัญชีทำการของธนาคารข้าว ราษฎรที่ต้องการข้าวไปใช้บริโภคยามจำเป็นให้คงบัญชียืมข้าวไปใข้จำนวนหนึ่ง เมื่อสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้แล้วก็นำมาคืนธนาคาร พร้อมด้วยดอกเบี้ย (ข้าว) จำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ซึ่งข้าวซึ่งเป็นดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะเก็บรวบรวมไว้ในธนาคาร และถือเป็นสมบัติของส่วนรวม…ราษฏรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทั้งนี้หากปฏิบัติตามหลักการที่วางไว้ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด แต่จะค่อย ๆ เพิ่มจำนวนขึ้น และจะมีข้าวสำหรับบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน ในที่สุดธนาคารข้าวจะเป็นแหล่งที่รักษาผลประโยชน์ของราษฎรในหมู่บ้าน และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้านด้วย”

ทรงพระราชทานแนวทางดำเนินงานธนาคารข้าวแก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2519
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 8

พระราชดำรัสของพ่อหลวง

“ในอนาคต…ข้าวไร่มีบทบาทมากเพราะไม่ต้องใช้น้ำมาก และอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ สำหรับพวกข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ให้เป็นพืชเสริมสำหรับแปรรูป เพื่อเป็นประโยชน์ต่อชาวเขาและเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง”

กระแสพระราชดำริ เมื่อเสด็จทอดพระเนตรแปลงทดลองข้าว ณ สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 13

ในหลวงรัชกาลที่ 9

“…ในสมัยปัจจุบัน อาชีพเพาะปลูกนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเพาะปลูกนี้เป็นจุดเริ่มต้น ของชีวิตมนุษย์ ถ้าเราไม่มีการเพาะปลูก ก็จะไม่มีวัตถุดิบที่จะมาเป็นอาหาร หรือเป็นเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นสิ่งก่อสร้าง ฉะนั้นต้องทำการกสิกรรม…”

พระราชดำรัส พระราชทาน แก่ผู้นำสหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์นิคม ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2521
จากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาข้าวไทย : หน้า 2

ในหลวงรัชกาลที่ 9  พ่อหลวง

“แต่จะเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆ อย่างนี้ทำไม จะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้”

จาก หนังสือ “ใต้ร่มพระบารมี” 20 ปี กปร. หน้า 44

ฝนหลวง

” ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมผลผลิตให้ได้ปริมาณสูงสุดแต่เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าโสหุ้ย และทำลายคุณภาพดิน แต่ควรศึกษาสภาวะการตลาดการเกษตร ตลอดจนการควบคุมราคาผลิตผลไม่ให้ ประชาชนได้รับความเดือนร้อน”

จาก หนังสือ “ใต้ร่มพระบารมี” 20 ปี กปร. หน้า 66

 

” ทฤษฎีใหม่เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชน มีกิน แบบตามอัตภาพ คือ อาจไม่รวยมากแต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก”

“… หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และมีที่สำหรับขุดสระน้ำ ”

จาก หนังสือ “ใต้ร่มพระบารมี” 20 ปี กปร. หน้า 45

พ่อหลวงรัชกาลที่ 9

แหล่งที่มา : http://www.thairice.org/html/culture/culture04_1.html

เรียบเรียงโดย Health&Cuisine

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.