กิเลส

กิเลส และความทุกข์ 3 ระดับ บทความดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

กิเลส และความทุกข์ 3 ระดับ บทความดี ๆ จาก ท่าน ว.วชิรเมธี

กิเลส คือปัจจัยเชิงลบที่ทำให้จิตและปัญญาเสื่อมคุณภาพ กิเลสเกิดขึ้นมาคราวหนึ่งปัญญาก็มัวหมองไปคราวหนึ่ง ถ้ากิเลสเกิดทุกขณะจิต ชีวิตก็เศร้าหมอง ปัญญาก็หดหาย กิเลสจึงเป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองของชีวิต เป็นเหตุแห่งความทุกข์

ความทุกข์ในชีวิตของคนเรามี 3 ระดับ คือ

1. ทุกข์เพราะไม่มี คือความทุกข์ที่เรียกว่าความยากจนนั่นเอง

2. ทุกข์เพราะมี แต่ไม่พอ คือความทุกข์ที่เกิดจากความไม่พอใจในสิ่งที่มี มีแล้วแต่ก็ยังอยากมีอีกต่อไปไม่จบสิ้น

3. ทุกข์เพราะมี แต่ไม่เท่า คือความทุกข์ที่เกิดจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นที่มีมากกว่า พอเปรียบเทียบแล้วพบว่าตัวเองยังมีไม่เท่ากับที่เขามีก็ทุกข์

ร็อกกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีคนสำคัญระดับโลกชาวอเมริกัน ได้เขียนบอกเล่าเอาไว้หลังจากมีเงินเป็นหมื่นล้าน เขาบอกว่าทรัพย์สินเงินทองของมหาเศรษฐีควรนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่มวลมนุษย์ เก็บไว้เท่าที่จำเป็น ที่เหลือให้แจกจ่ายแบ่งปันออกไป ไม่ใช่ว่าหามาแล้วก็เก็บอย่างเดียว ไม่มีการแบ่งปันออกไปเลย

เหมือนปี่เซียะของคนจีนที่คนไทยชอบซื้อมาบูชา เพราะปี่เซียะไม่มีทวารสำหรับถ่ายออก คนจีนก็บูชา คนไทยก็บูชา เอามาตั้งไว้หน้าร้าน ถือคติว่า เมื่อเงินไหลเข้ามาแล้วไม่ต้องไหลออกไป หลักคิดอย่างนี้แม้จะทำให้รู้จักเก็บรู้จักออม แต่ถ้ายึดติดถือมั่นมาก ก็ทำให้เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวแบ่งปันแก่ใครไม่ได้ ให้แก่ใครไม่เป็น มีแนวโน้มที่จะยึดติดว่าทรัพย์สินคือคุณค่าสูงสุดของชีวิต แล้วมองข้ามคุณค่าด้านอื่น ๆ ไป

ทางพุทธศาสนาเมื่อสอนเรื่องการหาเงิน ท่านไม่ได้สอนแค่หาและเก็บ แต่สอนว่า รู้จักหารู้จักเก็บ รู้จักใช้ รู้จักให้ รู้จักเปลี่ยน (เป็นบุญ เป็นคุณภาพชีวิต เป็นภาษีบำรุงสังคมและอุดหนุนคุณความดีให้สังคมมีธรรม) และรู้จักปล่อยวางอย่างเป็นนายของทรัพย์   เงินนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกด้วย 2 ชื่อ คือ

1. ปัจจัย

2. อสรพิษ

ถ้าเรารู้จักใช้เงิน เงินจะเป็นปัจจัย เพราะปัจจัยก็คือเครื่องอำนวยความสะดวกของชีวิต เป็นต้น พอมีเงินแล้วก็ทำให้มีเครื่องอุปโภคบริโภคพรั่งพร้อม มีบ้าน มีรถ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เจ็บป่วยก็มียารักษา ลูกหลานเกิดมาก็ส่งเขาไปเรียนในโรงเรียนชั้นนำ เข้าสังคมคนก็นับถือ อยากทำบุญก็ได้ทำเต็มที่ อยากช่วยเหลือสังคมก็ไม่ต้องเป็นกังวล อยากเดินทางท่องเที่ยวในหรือต่างประเทศก็ทำได้ไม่ติดขัด

แต่ถ้าใช้เงินไม่เป็น เช่น มีเงินมากมายแต่ก็หวงไว้คนเดียว ไม่ยอมแบ่งสันปันส่วนให้ดี การทำอย่างนี้ทำให้คนตำหนิได้ว่าเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ทำให้ชื่อเสียงในทางเสียหายฟุ้งกระจายออกไป หรือแบ่งเหมือนกัน แต่แบ่งอย่างไม่ยุติธรรม ก็ทำให้พี่น้องทะเลาะกัน เข่นฆ่ากันเพราะแย่งทรัพย์สมบัติ กลายเป็นศึกสายเลือด หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นที่เพ่งเล็งของพวกมิจฉาชีพ

หรือบางทีก็นำเงินที่มีไปลงทุนในธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย ทำให้ถูกครหา ถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับกุมคุมขัง หรือนำเงินนั้นไปเล่นการพนันจนมีชื่อเสียงในทางไม่ดีเป็นที่เลื่องลือและ/หรือไม่รู้จักบริหารจัดการเงินอย่างมืออาชีพ ทำให้ธุรกิจล่มสลายกลายเป็นคนล้มละลาย ทุกข์หนักหนาสาหัสจนล้มเจ็บปางตาย หรือถึงแม้มีเงินมากมาย แต่ก็ยัละโมบไม่มีที่สิ้นสุด หายใจเข้าออกก็ยังคิดถึงแต่เรื่องเงิน เงิน เงิน ทำให้ตัวเองสยบยอมอยู่ใต้อำนาจ เงิน จิตใจไม่โปร่งโล่งใส อยู่ที่ไหนก็เป็นกังวล

ถ้าใช้เงินไม่เป็นคุณแก่คุณภาพชีวิตอย่างนี้ เงินจะมีค่าเป็นอสรพิษที่กัดเจ้าของ กัดกินคุณงามความดี กัดกินคุณภาพชีวิต ถึงมีเงิน แต่ก็ยากจนความสุข

 

ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 183

ภาพ : Image by Free-Photos from Pixabay

สามารถส่งปัญหาธรรมและเรื่องสร้างแรงบันดาลใจมาได้ที่ >>> Secret Magazine (Thailand)


บทความน่าสนใจ

Dhamma Daily : วิธี ตัดกิเลส สำหรับชาว shopaholic

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.