อาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู คุณปู่ของชาวโลก – “บางครั้งแข็งกร้าว บ่อยครั้งอ่อนโยน ไม่เคยกลัวอะไรเลย และแทบจะไม่เคยขาดอารมณ์ขัน”
ข้างต้นเป็นคำกล่าวของเนลสัน แมนเดลา ที่พูดถึง อาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู (Archbishop Desmond Tutu) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกาใต้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก ทุกวันนี้หากมีการแบ่งแยก กีดกัน หรือการใช้ความรุนแรง เป็นต้องมีคำตักเตือนของท่านมาให้ได้ยินเสมอ
ถ้าจะบอกว่า ท่านอาร์ชบิชอปกำลังทำหน้าที่คุณปู่คุณตาของชาวโลกก็คงไม่ผิด อาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ในเมืองเคลิกส์ดอร์ป แคว้นทรานส์วาล ประเทศแอฟริกาใต้ พ่อของท่านเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถม ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ท่านได้เรียนหนังสือมากกว่าเด็กผิวดำ ส่วนแม่ของท่านเป็นทั้งแม่ครัวและภารโรงของโรงเรียนแห่งนั้น
ความทรงจำเก่าแก่ตั้งแต่สมัยท่านยังเด็กมาก ๆ ก็คือ วันหนึ่งขณะที่ท่านยืนอยู่กับแม่ที่ริมถนน มีบาทหลวงรูปหนึ่งซึ่งเป็นคนขาวเดินสวนทางมา ขณะที่กำลังจะเดินผ่านไป บาทหลวงได้เปิดหมวกให้แม่ของท่านด้วย ท่านจำได้ว่ารู้สึกตกใจมาก เพราะไม่เคยเห็นคนขาวแสดงความเคารพหรือแม้แต่แสดงความสุภาพต่อคนผิวดำมาก่อน บาทหลวงรูปนี้แท้จริงแล้วมีชื่อว่า บาทหลวงเทรเวอร์ ฮัดเดิลสตัน (Trevor Huddleston) ท่านมีหน้าที่ดูแลโบสถ์ในเขตสลัมของชาวแอฟริกันผิวดำในโซเฟียทาวน์ นครโจฮันเนสเบิร์ก นับจากวันนั้นบาทหลวงเทรเวอร์ก็กลายเป็นผู้คอยรับฟังปัญหา และเป็นแรงบันดาลใจของอาร์ชบิชอปเดสมอนด์ในวัยเด็ก
ท่านอาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู โตเป็นหนุ่มในช่วงที่รัฐบาลแอฟริกาใต้นำนโยบายแบ่งแยกสีผิวมาใช้ (ค.ศ. 1948 – 1994) สมัยนั้นท่านทำงานเป็นครูสอนหนังสือ ทว่าด้วยความที่นโยบายดังกล่าวไม่ให้ความเท่าเทียมทางการศึกษากับเด็กผิวดำ ท่านจึงลาออกและตัดสินใจที่จะเป็นพระเพื่อดำเนินรอยตามหลวงพ่อเทรเวอร์
ท่านเข้าเรียนวิชาเทววิทยาที่ St Peter’s Theological College ในนครโจฮันเนสเบิร์ก และบวชเป็นพระในคริสต์ศาสนานิกายแองกลิคัน (Anglican) ในปี ค.ศ. 1960 ท่านได้รับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านเทววิทยาจากมหาวิทยาลัย King’s College ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นจึงกลับมาเริ่มงานสอนหนังสือที่บ้านเกิด
ปี ค.ศ. 1975 ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะแองกลิคันในนครโจฮันเนสเบิร์ก และดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ The South African Council of Churches ระหว่างปี ค.ศ. 1976 – 1978 ทำให้ท่านได้แรงสนับสนุนจากโบสถ์ทุกแห่งในแอฟริกาใต้ พร้อมกันนั้นท่านก็ยังเขียนบทความและเดินสายแสดงปาฐกถาทั้งในบ้านเกิดและต่างประเทศ เพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิว ท่านกล่าวประณามนโยบายนี้อย่างเผ็ดร้อนตรงไปตรงมา ซึ่งทำให้ท่านถูกยึดพาสปอร์ตถึงสองครั้งและเคยถูกจับขังคุกมาแล้ว
หนึ่งในวิธีการที่ท่านทำเพื่อกดดันรัฐบาลแอฟริกาใต้ในขณะนั้นก็คือ การเรียกร้องให้นานาชาติดำเนินการคว่ำบาตรแอฟริกาใต้บ้านเกิดของท่านเองต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะเชื่อว่าในที่สุดเศรษฐกิจที่ตกต่ำจะผลักดันให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนนโยบาย วิธีของท่านส่งผลให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งเป็นสองประเทศที่เข้ามาลงทุนในแอฟริกาใต้มากที่สุดถอนการลงทุนไปหมด ช่วงนั้นค่าเงินตกต่ำลงกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ และเหตุการณ์ก็เป็นอย่างที่อาร์ชบิชอปคาดการณ์ไว้ รัฐบาลต้องทำการปฏิรูป ท่านจึงเริ่มจัดการเดินขบวนอย่างสันติ ด้วยการนำคนกว่า 30,000 คนออกมาเดินบนถนนในเคปทาวน์ (ขณะนั้นเนลสัน แมนเดลา ยังคงติดคุกอยู่)
ในปี ค.ศ. 1984 คณะกรรมการโนเบลได้มอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้แก่ท่าน ต่อมาในปี ค.ศ. 1985 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นบิชอปแห่งโจฮันเนสเบิร์ก และจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเคปทาวน์ มีหน้าที่ปกครองศาสนจักรนิกายแองกลิคันตลอดทั้งทวีปแอฟริกาตอนใต้ นับว่าท่านเป็นคนผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
ปี ค.ศ. 1992 นโยบายแบ่งแยกสีผิวถูกยกเลิกไป เนลสัน แมนเดลาได้รับการปล่อยตัว และประเทศแอฟริกาใต้ก็เริ่มกลับสู่ความสงบอีกครั้ง ท่านลาออกจากตำแหน่งอาร์ชบิชอปในปี ค.ศ. 1996 และได้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนจนได้รับการขนานนามว่าเป็นตัวแทนแห่ง “จิตสำนึกด้านคุณธรรม” ของทวีปแอฟริกา
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะท่านคิดว่าท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่คนหนึ่งของโลกหรือเปล่า แต่สิ่งที่ทุกคนประจักษ์ก็คือ อาร์ชบิชอปเดสมอนด์ ตูตู ไม่ได้ใส่ใจเฉพาะปัญหาของแอฟริกาเท่านั้น เมื่อท่านเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้องท่านก็จะออกมาตักเตือนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่หรือประเทศที่มีแสนยานุภาพทางทหาร ก็ล้วนเคยได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากท่านมาแล้ว
ท่านเคยออกมาวิจารณ์รัฐบาลแอฟริกาใต้กรณีที่นิ่งเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซิมบับเว รวมทั้งวิพากษ์นโยบายของอิสราเอลที่ไม่ยอมลดราวาศอกให้กับปาเลสไตน์ ท่านเขียนจดหมายถึงรัฐบาลจีนให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และต่อว่าจีนที่ไม่ยอมเข้าไปช่วยแก้ปัญหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดาร์ฟูร์ แม้แต่ยูเอ็นซึ่งเคยทำงานร่วมกันอย่างเหนียวแน่น ทว่าเมื่อครั้งที่ยูเอ็นยอมหลับตาข้างเดียว เพราะเกรงใจอินโดนีเซียต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในเวสต์ปาปัว ท่านก็ไม่เว้นการตำหนิ ท่านต่อต้านกลุ่มที่เกลียดชาวเกย์ ซึ่งในจำนวนนี้มีชาวคาทอลิกอยู่ไม่น้อย ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า การเป็นเกย์ผิดหลักพระคัมภีร์ แต่ท่านก็เหน็บแนมได้อย่างเจ็บแสบว่า “ถ้าพระเจ้าทรงเกลียดเกย์ พระองค์ก็ไม่ใช่พระเจ้าของผม”
ในวัยล่วงเลยกว่า 87 ปี ท่านอาร์ชบิชอปมีความฝันอยากจะเห็นคนทั้งโลกรักกันเสมือนหนึ่งครอบครัวเดียวกัน ท่านเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“…ยิ่งนานวันผมก็ยิ่งเชื่อมั่นในความจริงว่า มนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐ ทุกชีวิตคือความล้ำค่า พื้นฐานของมนุษย์คือสิ่งดีงาม ในประเทศของผมมีคำคำหนึ่งซึ่งยากจะแปลออกมาเป็นภาษาอื่น คำนั้นอ่านว่า ‘อุอุนตู’ (Uun tu)
“อุอุนตู มีความหมายว่า คุณและฉันถูกสร้างมาเพื่อกันและกัน…พวกเราถูกสร้างมาให้มีชีวิตอยู่ในโยงใยอันซับซ้อนซึ่งเชื่อมโยงกัน อุอุนตูบอกว่า ‘ฉันต้องการคุณเพื่อที่ฉันจะได้เป็นมนุษย์คนหนึ่ง และคุณก็ต้องการฉันด้วยเหตุผลเดียวกัน’”
การที่ท่านเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของชาวโลกไปทั่ว ทำให้ท่านซึ่งจริง ๆ ก็สูงวัยมากแล้วถูกต่อว่าหรือแม้แต่ถูกประณามหลายครั้ง แต่ท่านก็ยังคงอดที่จะเตือนไม่ได้อยู่นั่นเอง
จะว่าไปแล้ว ท่านก็เป็นเหมือนคุณปู่คุณตาที่คอยตักเตือนลูกหลานด้วยความปรารถนาดี บางครั้งอาจจะไม่เข้าหูบ้าง แต่รับรองว่า ถ้าไม่มีคำเตือนของท่าน เราคงจะต้องเหงาสุด ๆ เลยทีเดียว
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ veja.abril.com.br, apbspeakers.com, silive.com