พระเตมีย์ มหาบุรุษผู้ปฏิเสธการกลับไปใช้กรรมในนรก…เรื่องเล่าทศชาติชาดก พระชาติแรก
เมื่อหิวก็ต้องกิน เมื่อภัยมาก็ต้องหนี เมื่อมีสิ่งเร้าก็ต้องแสดงอารมณ์ นับเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่เชื่อหรือไม่ว่า มีหนึ่งบุรุษที่สามารถวางเฉย ไม่ไหวติงใดๆ ทำราวกับเป็นทองไม่รู้ร้อน นับตั้งแต่เจริญวัยได้เพียงไม่กี่เดือน…หนึ่งนั้นคือ “พระเตมีย์”
พระเตมีย์ถือกำเนิดมาพร้อมกับมอบความชุ่มชื่นในหัวใจแก่พระเจ้ากาสิกราชและพระนางจันทเทวี ผู้ซึ่งเฝ้ารอคอยทายาทสืบราชบัลลังก์มาแสนนาน อีกทั้งกำเนิดนี้ยังสร้างความปีติให้แผ่นดิน อาณาประชาราษฎร์ ด้วยหยาดฝนอันชุ่มฉ่ำที่โปรยปรายมาอย่างถ้วนทั่วในวันที่พระกุมารประสูติ
เตมียกุมารจึงเป็นนามที่มีความหมายถึงผู้ยังให้เกิดความชุ่มชื่นและความยินดีของคนทั้งหลาย
ครั้นพระเตมีย์เจริญวัยได้หนึ่งเดือน พระกุมารน้อยมีโอกาสได้ขึ้นเฝ้าพระราชบิดา ณ ท้องพระโรง ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงพิจารณาคดีความลงโทษโจร 4 คนพอดิบพอดี ซึ่งวิธีการลงโทษของพระราชบิดาล้วนรุนแรงและเป็นบาปนักสร้างความหวาดหวั่น คร้ามกลัว ทั้งในตอนนี้และเบื้องหน้าแก่พระเตมีย์
ยิ่งเมื่อมองเห็นภาพในอดีตชาติที่พระองค์เคยเป็นกษัตริย์และได้ลงโทษผู้ทำผิดเช่นนี้ เมื่อตายลงก็ต้องตกนรกทนทุกข์ทรมานถึง 80,000 ปี มาบัดนี้แม้โชคชะตาจะกำหนดให้ได้กลับชาติมาเกิดในวรรณะกษัตริย์อีกครั้ง การณ์เบื้องหน้าก็คงไม่แคล้วได้ใช้กรรมในนรกอีกครา…ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่พระเตมีย์ไม่อาจยอมรับได้อีกในชาตินี้
“จงแสร้งทำเป็นคนใบ้ หูหนวก และง่อยเปลี้ยหยุดการเคลื่อนไหว เมื่อนั้นแล้วอิสระจะเป็นของท่าน”
นับเป็นปณิธานที่พระเตมีย์ยึดปฏิบัติเสมอมา ตามข้อชี้แนะของเทพธิดาผู้รักษาพระมหาเศวตฉัตร เพื่อที่จะได้เป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นครองราชย์ และได้ออกบวชอย่างที่ใจต้องการ
ไม่นานนักความเปลี่ยนแปลงนี้ก็สร้างความแปลกใจระคนความทุกข์โศกแก่พระราชบิดาและพระราชมารดายิ่งนักเพราะไม่ว่าจะทดสอบด้วยไฟ สัตว์ร้าย หรือวิธีการใดๆ เพื่อให้พระกุมารแสดงความรู้สึกออกมา ก็ไม่เป็นผล
16 ปีให้หลัง ความอดทนของพระราชบิดาก็หมดสิ้นลง เพราะพระองค์ทรงปลงใจเชื่อคำทำนายที่ว่า พระเตมีย์เป็นตัวกาลกิณี ต้องประหารให้สิ้น แม้พระราชมารดาจะอ้อนวอนขอพระเตมีย์ให้กลับคืนเป็นปกติอย่างไร ก็ไม่อาจสั่นคลอนปณิธานของพระเตมีย์ได้ ทั้งที่ใจจริงพระองค์แสนสงสารพระราชมารดาแทบขาดใจ
เมื่อได้ฤกษ์ นายสารถีจึงนำตัวพระเตมีย์ขึ้นราชรถแล่นออกนอกเมืองไป ครั้นเมื่อถึงบริเวณชายป่า นายสารถีจึงจอดรถ เปลื้องเครื่องทรงพระเตมีย์ออก แล้วไปขุดหลุมฝังพระศพ ฝ่ายพระเตมีย์เห็นเป็นโอกาสเหมาะในการหลบหนี แต่ติดอยู่ที่ไม่แน่ใจว่า “กำลังวังชา” ยังบริบูรณ์ดีอยู่หรือไม่ หากถูกขัดขวางจะได้ป้องกันตัวได้ทันท่วงที ครั้นแล้วพระเตมีย์จึงลองขยับแข้งขา ก่อนจะยกราชรถขึ้นแกว่งไกวด้วยพระหัตถ์เพียงข้างเดียว เมื่อแน่ใจในกำลังที่ยังบริบูรณ์ดี พระเตมีย์จึงเข้าไปพูดคุยเรียกสตินายสารถีให้กลับคืนมาและรู้จักบาปบุญคุณโทษ
ฝ่ายนายสารถีเมื่อรู้แน่ว่าบุรุษรูปงามเบื้องหน้าคือพระเตมีย์ เขาจึงพยายามทูลเชิญเสด็จกลับพระนคร แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อพระเตมีย์ตั้งมั่นขอออกบวชเพื่อให้หลุดพ้นจากความวุ่นวายทางโลกดังที่ตั้งปณิธานไว้…
ภายหลังเมื่อพระราชบิดาและพระราชมารดาได้ทราบความจริงก็ดีใจยิ่งนัก รีบตามเสด็จพระเตมีย์มายังอาศรมในป่านั้น เพื่อวิงวอนขอให้พระโอรสกลับคืนสู่พระนครและขึ้นครองราชย์สืบไป ทว่าพระเตมีย์ยังคงยืนยันเช่นเดิม ก่อนจะแสดงธรรมโปรดพระราชบิดา พระราชมารดา และข้าราชบริพารที่ตามเสด็จ สร้างความเลื่อมใสศรัทธายิ่งนักจนผู้คนทั้งหลายต่างขอออกบวชตาม
การตัดสินพระทัยเช่นนี้ทำให้เหล่ากษัตริย์เมืองใหญ่น้อยใกล้เคียงต่างพากันยกทัพมา หมายยึดครองเมืองพาราณสี แต่เมื่อทั้งหมดเดินทัพไปยังอาศรมชายป่าและฟังธรรมจากพระเตมีย์ กษัตริย์เหล่านั้นต่างพากันละทิ้งราชสมบัติทางโลก…ขอดำเนินชีวิตในเส้นทางธรรมด้วยการบวชและบำเพ็ญเพียรตามสืบไป
พระเตมียชาดกนี้ เป็นพระชาติแรกในทศชาติชาดก (ชาดก 10 เรื่องสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) ว่าด้วยการบำเพ็ญเนกขัมบารมี (การออกบวช)
ที่มาจากคอลัมน์ A Tale โดย วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์
บทความน่าสนใจ
พระมหาชนกบนท้องถนน ท่านว.วชิรเมธี ยกย่อง ตูน อาทิวราห์ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี
คติพระโพธิสัตว์ ความเชื่อที่เริ่มจะกลาย ความหมายที่เริ่มจะกลืน