พระโพธิสัตว์ทุกองค์ หลังจากได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แท้ในอนาคต ก็จะพิจารณา พุทธการกธรรม ซึ่งพระโพธิสัตว์องค์ก่อน ๆ ได้บำเพ็ญมาแล้วว่ามีอะไรบ้าง และจะต้องบำเพ็ญหรือปฏิบัติต่อข้อธรรมแต่ละข้ออย่างไร
พระโพธิสัตว์จะพิจารณาพุทธการกธรรมทีละข้อ ๆ เมื่อพิจารณาจบแต่ละข้อ ก็จะหาต่อไปว่ายังมีธรรมข้ออื่นที่ต้องบำเพ็ญอีกหรือไม่ ถ้าพบว่ายังมีอีก ก็จะพิจารณาต่อไปอีก จนครบทั้งหมด 10 ข้อ ซึ่งก็คือ บารมี 10 หรือ ทศบารมี นั่นเอง
บารมี แปลว่า “เต็ม” ซึ่งหมายถึง “การทำให้กำลังใจเต็ม ทรงอยู่ในใจให้เต็มครบถ้วนบริบูรณ์ไม่บกพร่องทั้ง 10 ประการ”
การสร้างบารมี คือ การกระทำที่ประกอบด้วยกุศลเจตนา คุณงามความดีที่ควรกระทำ หรือคุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมาในการทำให้กำลังใจเต็มเปี่ยม และมีคุณธรรมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงสิ่งที่ปรารถนา โดยผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิหรือปรารถนาที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องบำเพ็ญบารมีถึง 30 ทัศ คือ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี ซึ่งทำได้ง่าย ไปจนถึงยากตามลำดับ
บารมีทั้ง 10 อย่างที่เป็นบารมีขั้นต้น เรียกว่า บารมี 10
บารมีทั้ง 10 อย่างที่เป็นบารมีขั้นกลาง เรียกว่า อุปบารมี 10
บารมีทั้ง 10 อย่างที่เป็นบารมีขั้นปลาย เรียกว่า ปรมัตถบารมี 10
บารมีขั้นต้นซึ่งมี 10 ทัศเป็นบารมีขั้นที่ทำสำหรับสร้างกำลังใจให้เกิดในใจ โดยสามารถแจกแจงได้ดังนี้
1. ทานบารมี จิตพร้อมในการให้ทานเป็นปกติ แม้แต่บุตร ภรรยา สมบัติทั้งหลายก็ให้ได้
2. ศีลบารมี จิตพร้อมในการทรงศีลเป็นปกติ หากต้องสละสิ่งนอกกายทุกอย่างเพื่อรักษาศีลก็ยินดี
3. เนกขัมมบารมี จิตพร้อมในการถือบวช (ในใจ) เป็นปกติ สามารถจะถือบวชโดยไม่อาลัยสิ่งใด ๆ แม้แต่บุตร ภรรยา
4. ปัญญาบารมี จิตพร้อมที่จะใช้ปัญญาในการทำความดีเพื่อผู้อื่น โดยไม่สนใจสมบัติเงินทองหรือสิ่งรอบกาย
5. วิริยบารมี มีความเพียรในทุกขณะ ควบคุมใจไว้เสมอ
6. ขันติบารมี มีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการทำความดี
7. สัจบารมี จริงใจและตั้งใจทำจริงทุกอย่าง
8. อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ตรงโดยเฉพาะ
9. เมตตาบารมี สร้างอารมณ์ความปรารถนาดี ไม่เป็นศัตรูกับใคร มีความรักตนเสมอด้วยบุคคลอื่น
10. อุเบกขาบารมี การวางใจให้เป็นกลาง แม้จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความลำบากยุ่งยากใจ ก็มีใจเป็นกลาง ไม่โกรธเกลียด มองทุกสิ่งและยอมรับตามความเป็นจริง
บารมีทั้ง 10 ทัศนี้เป็นการสละสิ่งนอกกาย อาทิ สมบัติ เกียรติยศ บุตร ภรรยา ทั้งหมดเพื่อสร้างบารมี
เมื่อขึ้นมาสู่ขั้นอุปบารมีจะเริ่มสละอวัยวะและเลือดเนื้อให้แก่ผู้อื่นเพื่อการสร้างบารมีให้มั่นคงต่อไป อาทิ สละอวัยวะและเลือดเนื้อเพื่อเป็นทานแก่สัตว์ หรือเพื่อรักษาสัจจะใด ๆ ฯลฯ
สำหรับขั้นปรมัตถบารมี เป็นการสละชีวิตตนเพื่อสร้างบารมีในข้อนั้น ๆ เช่น ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาศีล อดทนต่อผู้ที่จะทำร้ายให้ถึงชีวิต หรือเมตตาให้ความรักแก่ผู้ที่จะทำร้ายตนให้ถึงชีวิต ฯลฯ
ที่มา พระศรีอริยเมตไตรย – ณัฐนภ ตระกลธนภาส สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ