สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

รำลึก หมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

รำลึก หมอเจ้าฟ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

เนื่องจากวันที่ 24 กันยายน ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือรู้จักกันใน “วันมหิดล” จึงขอนำเสนอพระราชประวัติของพระองค์ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระปณิธานและคุณูปการที่พระองค์ทรงมีต่อวงการแพทย์แผนปัจจุบันในประเทศไทย

ทูลกระหม่อมแดง

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิการเจ้า

ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 (ก่อน พ.ศ. 2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้น เดือนมกราคม พ.ศ. 2434 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้กันในปัจจุบันจึงตรงกับ เดือนมกราคม พ.ศ. 2435) หลังจากประสูติครบ 1 เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเดือนตามขัตติยราชประเพณีที่พระตำหนักสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พร้อมทั้งพระราชทานนามสมมติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช” และได้รับการออกพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมแดง”

 

 

เมื่อพระชนม์ได้ 12 พรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีมหามงคลโสกันต์ มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่ วันที่ 24 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2446 หลังโสกันต์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัตรเฉลิมพระนามตามขัตติยราชประเพณีพร้อมทั้งสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ให้ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม ในพระบรมราชตระกูลอันสูงศักดิ์ มีพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์”

ในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2447 หลังจากพิธีโสกันต์ได้ 1 ปี พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร (ต่อมาคือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ) ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (ต่อมาเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส) เป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรตเป็นพระศีลาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า “มหิตลาตุโล” ระหว่างผนวชประทับที่ตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาในวันที่ 10 ธันวาคม ศกนั้น จึงฉลองการทรงผนวช ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและทรงลาผนวชเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2447

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

ทรงศึกษาวิชาการทหารจากนายร้อยสู่นายเรือ

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447  ทรงศึกษา  ณ โรงเรียนราชกุมาร  ในพระบรมมหาราชวัง  โดยมีพระยาอิศรพันธุ์โสภณ (หนู) เป็นพระอาจารย์ภาษาไทยคนแรก มีพระสหายสนิท คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร)  และเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมแล้วทรงเสด็จไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ “โรงเรียน แฮร์โรว์” ในประเทศอังกฤษ  และวิชาการทหารเรือในประเทศเยอรมัน  เมื่อจบการศึกษาได้รับพระราชอิสริยยศเป็น นายเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมัน และนายเรือตรีแห่งราชนาวีสยาม  แล้วเสด็จกลับมาทรงรับราชการในราชนาวีสยามอยู่ระยะหนึ่ง เป็นเวลา 9 เดือน 18 วัน แล้วทรงลาออกจากกองทัพเรือเมื่อ พ.ศ. 2459 เพราะพระองค์สนพระทัยที่จะศึกษาและทดลองเพื่อค้นหาอาหารที่เหมาะกับทหารเรือไทยที่ประจำอยู่กองเรือดำน้ำ ประกอบกับพระสุขภาพของพระองค์ไม่สมบูรณ์นัก จึงมีพระดำริที่จะไปรักษาพระองค์ในประเทศตะวันตก พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์จึงทรงแนะนำให้พระองค์ เสด็จไปศึกษาต่อเรื่องอาหารและสุขวิทยาที่สหรัฐอเมริกา

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

พระปณิธานศึกษาต่อด้านแพทยศาสตร์

เมื่อพระองค์ทรงลาออกจากการรับราชการในกระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการและผู้บัญชาการโรงเรียนราชแพทยาลัย ในขณะนั้น พร้อมด้วยหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เสด็จเข้าเฝ้าเพื่อชักชวนให้มาช่วยโรงพยาบาลศิริราช โดยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ได้ทูลเชิญทูลกระหม่อมให้แวะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อทอดพระเนตรเห็นโรงคนไข้มีสถานที่คับแคบไม่พอที่จะรองรับคนไข้ได้อย่างเพียงพอ ทำให้คนไข้ต้องไปนั่งรอที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังขาดแคลนอุปกรณ์ทางแพทย์ พระองค์ทรงสลดพระทัยเป็นอย่างยิ่งและทรงตกลงพระทัยที่จะช่วยในการปรับปรุงการแพทย์ไทย แต่พระองค์มีพระดำริว่า “ก่อนจะทรงช่วยเหลือจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ จึงตั้งพระทัยจะเสด็จไปทรงศึกษาด้านการแพทย์เสียก่อน”

พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกาโดยมีพระยากัลยาณไมตรี (เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด) เป็นผู้ถวายคำปรึกษาในการเลือกมหาวิทยาลัย โดยทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐ โดยทรงเข้าศึกษาชั้นเตรียมแพทย์ก่อนเป็นเวลา 1 ปี และลงทะเบียนเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี พ.ศ. 2460

หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิกแล้ว พระองค์ทรงหยุดการศึกษาแพทย์ชั่วคราวและลงทะเบียนเข้าศึกษาในโรงเรียนสาธารณสุข ซึ่งจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เมื่อปี พ.ศ. 2462 ระหว่างการศึกษาพระองค์ได้พระราชนิพนธ์รายงานการศึกษาเรื่อง A sanitary survey of the city of Gloucester, Massachusetts 1921 และทรงสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2464

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรสาธารณสุขแล้ว พระองค์รับหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการเจรจากับมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านการศึกษาวิชาแพทย์และวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย กล่าวคือการพัฒนาหลักสูตร คณาจารย์และสิ่งแวดล้อมทางการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ขณะนั้นยังอยู่ในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้น พระองค์ตัดสินพระทัยเข้าศึกษาวิชาแพทย์ต่อในชั้นปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ เมืองเอดินบะระ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร แต่พระองค์ประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) เพราะสภาพอากาศที่อังกฤษมีอากาศชื้นและหนาวเย็น ดังนั้น พระองค์จึงต้องเสด็จนิวัตกลับพระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2466

ในปี พ.ศ. 2469 พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาวิชาแพทย์ต่ออีกครั้ง ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งทรงสำเร็จการศึกษาได้ปริญญาแพทยศาสตร์ เกียรตินิยมระดับ Cum Laude เมื่อปี พ.ศ. 2471 หลังจากนั้น พระองค์เสด็จนิวัตกลับประทศไทยเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 โดยประทับอยู่ที่พระตำหนักใหม่ วังสระปทุม

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

 

ชีวิตรักของเจ้าฟ้า บิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันของไทย

ระหว่างที่พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้พระราชทานทุนให้แก่นักเรียนแพทย์ ไปศึกษาที่สหรัฐอเมริกาจำนวน 2 ทุน ซึ่งทางโรงเรียนแพทย์ได้คัดเลือกส่งนักเรียนพยาบาลไป 2 คน คือ สังวาลย์ ตะละภัฏ (ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และอุบล ปาลกะวงษ์ ณ อยุธยา (ต่อมาคือ อุบล ลิปิธรรมศรีพยัตต์) สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงดูแลเอาใจใส่นักเรียนทั้ง 2 ของพระองค์เป็นอย่างดี ทั้งทรงแนะนำวิธีการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีของต่างประเทศให้ด้วย

ขณะทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขอยู่ชั้นปีที่ 3 พระองค์เสด็จกลับมาร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2463 ได้อภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) จนมีพระราชโอรส-พระราชธิดา 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

 

ทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค

เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยก็พระราชทานทุนให้นักเรียนไปศึกษาต่อถึง 10 ทุน ในสาขาที่เกี่ยวกับการแพทย์ พระองค์มีความเห็นว่านักเรียนแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ จะได้ศึกษาเพียงเฉพาะโรคที่เกิดขึ้นในเขตนั้นเท่านั้น เมื่อกลับมาประเทศไทยควรจะศึกษาต่ออีก 1 ปี เพื่อจะให้ได้รับความรู้และความชำนาญโรคที่มีในประเทศไทย แต่ทางการก็มิอาจทำได้ดังพระราชประสงค์ เป็นเหตุให้ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ดังนั้น พระองค์จึงเปลี่ยนพระราชหฤทัยจากทรงงานในโรงพยาบาลศิริราช เป็นเสด็จไปทรงงานยังโรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่แทน

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2472 ทรงประทับกับครอบครัวผู้อำนวยการโรงพยาบาลขณะนั้น ดร. อี.ซี. คอร์ท เป็นผู้อำนวยการฯ โดยประทับที่ตึกเล็ก และมีมหาดเล็กเพียงคนเดียวคอยรับใช้

 

หมอเจ้าฟ้า แพทย์แห่งปวงประชา

พระองค์มีความเอาใจ่ใส่ในการรักษาประชาชนอย่างมาก ชาวเมืองเชียงใหม่จึงขนานพระนามของพระองค์ว่า “หมอเจ้าฟ้า” พระองค์ได้ประทับที่เมืองเชียงใหม่ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพมหานครในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2472 เนื่องในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

หลังพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จกลับไปเมืองเชียงใหม่ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากประชวรต้องประทับในพระตำหนักวังสระปทุม พร้อมด้วยพระมารดา โดยไม่ได้เสด็จออกจากวังอีกเลย

สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงโรงพยาบาลศิริราช ยามใดที่มีผู้ใกล้ชิดเข้าเฝ้าจะรับสั่งถึงงานของโรงพยาบาลศิริราชเสมอ พระอาการดีขึ้นและแล้วก็ทรุดลง แพทย์ประจำพระองค์คือ ศาสตราจารย์ที พี โนเบิล และดับบลิว เอช เปอร์กินส์ ได้ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถแต่พระอาการก็ทรุดลงเรื่อย ๆ

 

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สวรรคต

วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. พระองค์เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) โดยมีโรคแทรกซ้อนคือพระปัปผาสะ (ปอด) บวมน้ำ และพระหทัยวาย (หัวใจวาย) ขณะมีพระชนมายุได้ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน หลังจากทรงทนทรมานอยู่ได้ 3 เดือนครึ่ง มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2473

 

ที่มาของข้อมูลและภาพจาก :

https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร_อดุลยเดชวิกรม_พระบรมราชชนก

http://www1.si.mahidol.ac.th

http://www.tnews.co.th


บทความน่าสนใจ

พระเอกหนุ่มสุดหล่อจิตใจงาม นาย ณภัทร รับปริญญา ไม่ขอช่อดอกไม้ แต่ขอเป็นเงิน !

“เดอะมอลล์ ก้าวด้วยใจ VIRTUAL RUN 2018” สานต่อก้าวนี้…เพื่อศิริราช

Dhamma Daily : เมื่อพระสงฆ์บริจาค ร่างกาย แต่นักศึกษาที่เรียนจากร่างท่านไปเป็นแพทย์ไร้จรรยาบรรณ

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เปิดตัวช่องทางบริจาคผ่านมือถือ สมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

แบล็คแคนยอน ร่วมสนับสนุน โครงการหน่วยแพทย์อาสาเฉพาะทางร่วมใจเฉลิมพระเกียรติฯ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.