พ้นทุกข์

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทางพ้นทุกข์ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

ขึ้นชื่อว่า “ความรัก” น้อยคนที่จะกล้าปฏิเสธว่า ไม่ต้องการรับรัก หรือไม่เคยมอบความรักให้แก่ใคร เพราะความสุขจากความรักนั้นช่างหอมหวาน ในขณะเดียวกันความทุกข์ที่เกิดจากความรักก็สุดแสนทรมานเช่นกัน เมื่อความรักเป็นดั่งดาบสองคมเช่นนี้ พุทธศาสนาจะมีวิธีการจัดการกับความรักอย่างไร พ้นทุกข์

พระอาจารย์คะ พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับความรักไหมคะ

ให้ความสำคัญสิ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรักที่บริสุทธิ์เชียวละ ความรักที่บริสุทธิ์ในที่นี้คือการให้ พระพุทธเจ้าทรงให้ในสิ่งที่ดีที่สุดแก่มนุษย์ เป็นการให้เพียงฝ่ายเดียว ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้กระทั่งคำขอบคุณหรือความรักตอบ

สิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้มนุษย์ทุกคนไม่ใช่ทรัพย์สมบัติหรือแก้วแหวนเงินทองใดๆ แต่ ท่านทรงให้ในสิ่งที่มนุษย์พึงได้รับเมื่อเกิดมาชาติหนึ่ง นั่นคือ การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ท่านปรารถนาให้เราพ้นทุกข์เข้าสู่นิพพาน ซึ่งจะทำให้มนุษย์เกิดปัญญา ตื่น เบิกบาน มีอิสระ ปล่อยวาง ปลอดโปร่ง โล่ง เบาสบาย ไม่เวียนวน ไม่มีทุกข์ และได้สัมผัสถึงความสงบร่มเย็น

ในสังคมปัจจุบันมีข่าวฆาตกรรมหรือคดีความสืบเนื่องจากความรักฉันท์หนุ่มสาวมากมาย พระอาจารย์มีข้อคิดเตือนใจอย่างไรบ้างคะ

คดีความต่างๆ โดยมากเกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่มีเจตนาในการมอบความรักในวงจำกัด เป็นต้นว่า ความสุขของเขาคนนั้นจะต้องเกิดจากฉันเท่านั้น ห้ามเกิดจากคนอื่น อย่างนี้เรียกว่าเป็นความรักที่มีราคะมาเจือปน มีอกุศล มีความเป็นเจ้าของ ยึดครองถือครอง หวงแหน ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นของเรา พอเห็นเขาไปควงกับคนอื่นก็ทนไม่ได้ เพราะความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากฉัน

แต่ในทางพุทธศาสนา ความรักที่มีอานุภาพมากเกิดประโยชน์สูงสุดคือ ความรักอย่างมีเมตตา ซึ่งเป็นจิตฝ่ายกุศลหวังเพียงให้เขามีความสุข ไม่จำกัดว่าความสุขนั้นจะเกิดจากใคร อาจเกิดจากฉันหรือจากหนุ่มสาวคนอื่นก็ได้ ขอเพียงทำให้คนที่เรารักมีความสุขเป็นพอ

พุทธศาสนามีทางแก้ปัญหานี้โดยการให้เจริญสติปัฏฐานปฏิบัติภาวนา เมื่อใดที่เกิดความรักขึ้นที่จิต ให้ใช้สติตามรู้ทันว่าเกิดราคะขึ้นด้วยไหม เพราะสติคือจิตอันเป็นกุศล ส่วนราคะเป็นจิตอกุศล เมื่อเกิดจิตอกุศลแล้วมีจิตกุศลตามเข้าไป จิตอกุศลจะสลายไปเอง เพราะกุศลและอกุศลอยู่ร่วมกันไม่ได้อยู่แล้ว หากมนุษย์ในสังคมเจริญสติปัฏฐานขึ้นในใจอยู่เนืองๆ อกุศลก็จะสลายไปเอง ต่อไปก็จะเกิดแต่รักที่บริสุทธิ์ มีเมตตา ไม่หวงแหน หรือแสดงความเป็นเจ้าของ มีเพียงความหวังดี ปรารถนาดีให้คนที่เรารักมีความสุข โดยไม่จำกัดว่าความสุขจะต้องเกิดจากใครหรือกับใคร

หากพบว่าความสุขของเขาเกิดจากคนอื่น เราก็จะปล่อยเขาไปและยังรู้สึกยินดีกับเขาด้วย แต่ถ้าเราดีจริง เขาก็จะกลับมาหาเราเหมือนเดิม พอมีกุศลขึ้นมาแล้วจิตจะไม่รู้สึกโกรธ เพราะความโกรธเป็นอกุศล ถ้าเราเพียรเจริญสติปัฏฐานคือสติให้เกิดขึ้นภายในใจแล้ว บรรดาอกุศลจิตต่างๆ เช่น ความโกรธแค้นอาฆาต จะไม่มีภายในจิตใจ ต่อไปก็จะเหลือแต่ความรักที่เป็นกุศลจิตเพียงอย่างเดียว

เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระทัยละทิ้งพระนางพิมพาและพระราหุลเพื่อออกผนวชจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นั่นแปลว่าความรักเป็นสิ่งขัดขวางการบรรลุธรรมหรือคะ

สำหรับเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้านั้น ท่านเคยทรงลองหาทางหลุดพ้นมาหลายภพหลายชาติแล้ว จนมาถึงชาติสุดท้าย จึงตัดสินพระทัยละทิ้งพระมเหสีและลูกแล้วทรงออกผนวช จนได้สำเร็จมรรคผลเป็นพระพุทธเจ้า แต่สำหรับคนทั่วไปถือว่าเป็นผู้เดินตามมรรค ไม่ใช่คนแรกที่ตามหามรรคอย่างท่าน เราจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น หากมีบ้านหลังใหญ่ มีรถคันโต แต่เรายังปฏิบัติธรรมได้ ยังมีจิตกุศล มีความรู้สึกสงบร่มเย็นได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องทำอย่างพระพุทธองค์ นอกเสียจากว่าการมีบ้านหลังใหญ่นั้นเป็นตัวขัดขวางทำให้ติด ทำให้จมในสังสารวัฏ เราก็อาจจะต้องตัดใจพรากจากสิ่งนั้นไปเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องพิจารณาที่จิตของแต่ละคนเป็นหลัก

ผู้ปฎิบัติธรรมส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า การต้องคอยปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ สามี – ภรรยา หรือลูก จะฉุดไม่ให้เข้าถึงนิพพาน จริงหรือไม่คะ

ไม่จริงเลย ความคิดเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะอะไรๆ ก็ขวางกั้นอะไรๆ ไม่ได้ อะไรๆ ก็เป็นอุปสรรคให้กับอะไรๆ ไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคให้กับเราทั้งนั้น ทิฏฐิต่างหาก ความเห็นของเราต่างหากที่เป็นอุปสรรค เช่น สามี ภรรยา ทรัพย์สมบัติ รถเบนซ์คันหนึ่งก็ยังอยู่อย่างนั้น จอดอยู่อย่างนั้น เงินในธนาคารก็อยู่อย่างนั้น ไม่สามารถนำมาร้อยรัดตัวเราได้ สรรพสิ่งทั้งหลายก็เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่อย่างนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่คนต่างหากที่มีมิจฉาทิฏฐิ ผูกโยงความคิดของตัวเองไปเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งแล้วยึดมั่นถือมั่น สมมุติว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มีค่ามีราคา แล้วนำไปจับไปทูนไว้ ว่าเป็นของของเรา

หากมีความคิดเช่นนี้ ต้องให้เขาศึกษาธรรมะเรื่อยๆ แล้วจะพบว่าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางเลย ยิ่งเห็นทุกข์ ยิ่งทำให้ใกล้ฝั่งพระนิพพาน เพราะถ้าได้เห็นทุกข์มากๆ จะทำให้ได้เห็นธรรมะที่แท้จริงเร็วขึ้น เช่น คนผิดหวังในความรัก หย่าขาดจากสามี ภรรยา หรืออกหักจากแฟน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าหากมีรักครั้งใหม่จะไม่พบทุกข์อีก เมื่อเขาทุกข์มากๆ เขาจะเห็นความไม่เป็นแก่นสาร จะเกิดความเบื่อหน่ายแล้วหันกลับมาแสวงหาหนทางหลุดพ้นทุกข์ จนเกิดปัญญาได้พบกับนิพพานเร็วขึ้น พูดง่ายๆ คือ ถ้าเข้าใจธรรมะ จะไม่ไปโทษเหตุปัจจัยภายนอก ไม่โทษสิ่งอื่น แต่จะหันกลับเข้ามาดูภายในใจตัวเอง

ถ้าอยากเข้าถึงนิพพาน อย่าไปมองสิ่งอื่นเลย อย่าไปโทษสิ่งอื่นเลย อย่าไปโทษใครว่ามาคอยขัดขวาง เพราะถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ จะไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ แต่ถ้าไม่โทษสิ่งใดแล้ว จะเริ่มเห็นทางวิมุตติหลุดพ้น ก้าวหน้าทางธรรมได้สำเร็จในที่สุด

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เรียบเรียง  บุญหนัก

Image by 1866946 on Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

โลกสวย…ด้วยการ (หนี) ทุกข์ โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ

เหตุผลที่คนทุกข์ ไม่ควรหาเพื่อนคลายทุกข์ บทความดีๆ จากท่านปิยโสภณ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.