คำถามจากนักปฏิบัติหน้าใหม่ ผู้ที่เพิ่งค้นพบว่าตัวเองเป็นคน “โลกสวย” คือ ชอบมองโลกแต่ในด้านสวยงามของชีวิตโดยไม่มองถึงความเป็นจริง และแสนจะเกลียดความทุกข์ แต่ศาสนาพุทธสอนว่า ถ้าไม่เห็น ทุกข์ ก็ไม่เห็นธรรม แล้วคนไม่ชอบยุ่งกับความทุกข์อย่างเธอจะทำอย่างไรดี…
พระอาจารย์คะ หนูเกลียดความทุกข์มาก ไม่ชอบเผชิญหน้ากับมันเลย เช่น ถ้ารู้ว่ามีความรักแล้ว ทุกข์ ก็เลือกที่จะไม่มีความรักดีกว่า แต่พระพุทธศาสนาสอนว่า “ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม” หนูอยากเห็นธรรม แต่ไม่อยากเห็นทุกข์…จะได้ไหมคะ
ไม่ชอบทุกข์ ไม่ปรารถนาทุกข์ใช่ไหม…แต่ถ้าทุกข์แล้วได้ธรรม มันคุ้มนะ ถ้ามีผัว 4 – 5 คน มีลูก 7 – 8 คน แล้วทำให้ทุกข์จนถึงที่สุด จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันก็น่ามี ลองนึกถึงสมการ “เจอทุกข์ = เจอธรรม” สิ ใจเราจะได้เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนทิฏฐิ ปรับจิตให้เข้าใจ ไม่หลบ ไม่หลีก ไม่หนี ปล่อยไปตามวิถี ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ต้องเป็นจิตวิญญาณที่ระหกระเหิน เร่ร่อนในวัฏสงสารอีกหลายชาติ เพราะไม่รู้จักทุกข์เลย ฟังเผิน ๆ อาจเหมือนดี แต่ก็ต้องวนเวียนเกิดตายอยู่แบบนี้ไม่จบไม่สิ้น
จริง ๆ แล้วทุกข์เป็นทั้งหมดของชีวิต รถติด ฝนตก ทุกข์ไปหมดทุกอย่าง เหมือนที่ท่านว่าไว้ คำถามก็คือ เจอทุกข์แล้วจะเจอธรรมได้อย่างไร หลายคนเล่าว่า ไปอินเดียนี่ลำบากมาก โดยเฉพาะถ้าต้องขี้ตามข้างทางหรือในป่า จะพบว่าลำบากสุด ๆ แต่พอกลับมาบ้านเรา ทำให้เขามองชีวิตเปลี่ยนไปเพราะได้เจอธรรม ถ้าไม่ยอมไปเจอความลำบากเสียบ้าง ก็ไม่มีทางเห็นสัจธรรม
ลองไปพิสูจน์ดูได้ว่าจริงไหม ไม่แน่นะ โยมอาจติดใจห้องน้ำอินเดียที่กว้างใหญ่ไพศาลที่สุดในโลกก็ได้ (หัวเราะ)
บางครั้งเวลามีปัญหาหรือจิตตก หนูชอบหนีไปทำอย่างอื่นก่อน เช่น อ่านนวนิยาย เพราะไม่อยากจมอยู่กับปัญหา ทำแบบนี้จะหายทุกข์ไหมคะ
หนีมานานแล้วใช่ไหมล่ะ…ที่เป็นแบบนี้เพราะเรามีร่องจิตแบบตั้งรับมาตลอด ไม่ต้องถามเลยว่าในอดีตเคยสู้ไหม เปรียบกับนักมวย ก็ไม่ใช่พวกมวยไฟเตอร์ เป็นมวยหลบใน มวยตั้งรับ
ฉะนั้น ชาตินี้เป็นโอกาสดีที่จะแก้ตัว…ต้องปรับวิธีคิดใหม่ว่า จะออกจากสิ่งไหนต้องอยู่กับสิ่งนั้น จะออกจากความกลัว ต้องอยู่กับความกลัว อยู่อย่างเป็นผู้ดู ดูซิว่าความกลัวเป็นอย่างไร ต้องอยู่กับความกลัวจนความกลัวอยู่ไม่ได้ สุดท้ายจะเห็นว่าทุกอย่างไม่เสถียร เกิดขึ้นมา เดี๋ยวก็ดับไป ยิ่งไม่อยากอยู่ ยิ่งต้องอยู่…อยู่จนไม่เหลือไม่อยาก
จริง ๆ ถึงเราจะหลบอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเจอสิ่งเดิม ๆ วนมาใหม่ ฉะนั้น ให้ดูไปเลย สัญญา (ความจำได้) เรื่องไหนเกิดก็ดูไป ดูอย่างเดียว อย่าเอาอารมณ์เข้าไปร่วม เรื่องของคนนั้นคนนี้โผล่ขึ้นมา คนโน้นโกง คนนี้ทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ ก็ดูมันไป เอาสัญญามาเป็นอารมณ์ เป็นฐานของสติกรรมฐาน สัญญาเป็นเหมือนละอองน้ำ ผุด ๆ ๆ ออกมาแล้วก็ดับ ดับแล้วใจก็โล่งเบาบาง
หลายคนหลบหลีกความทุกข์ ความระทมขมขื่นไปเรื่อย ไปดูหนังฟังเพลงกินเหล้า เข้าผับบาร์ ก็จะติดนิสัยหลีกหนี จิตไม่ตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว ไม่กล้าเผชิญหน้า สุดท้ายจะเป็นพวกเฉโก หาเหตุผลให้ตัวเองข้าง ๆ คู ๆ ไปเรื่อย เขาเรียกว่าพวกชอบหนีความเป็นจริง ทุกข์คือความจริง เราหนีทุกข์ ก็เท่ากับหนีความจริง แล้วจะหนีพ้นได้อย่างไร…ไม่มีทางหรอก
ธรรมะสอนให้เราไม่หนีความจริง ไม่ปฏิเสธความจริง แต่สามารถอยู่กับความจริงได้ เมื่อยอมรับความจริงได้ก็จะไม่ทุกข์ ปัญญาก็จะเกิด เพราะได้รู้ความจริง
ดังนั้น เราต้อง…“อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิด สติ เราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน…และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด”
Technic ก็สำคัญนะ!
“แผน” หรือเทคนิคนี่สำคัญมาก บางทีนักเตะศักยภาพเต็มเปี่ยม แต่โค้ชฝีมือไม่ดีก็เป็นแชมป์ไม่ได้ พอเปลี่ยนโค้ช บางทีมได้แชมป์เลย ดังนั้นการไปพบกัลยาณมิตร จะทำให้เราได้หลักเทคนิคหรือยุทธวิธีเพิ่มเติม เช่น การไปพบครูบาอาจารย์ บางทีคิดเองมันจนแต้ม พอเจอครูบาอาจารย์หรือเพื่อนพูดมาคำหนึ่งปุ๊บ คำตอบออกมา “ผัวะ” จิตโล่ง คลายทันที ดังนั้นการมีกัลยาณมิตรสำคัญที่สุด
คล้ายฟุตบอลที่รุกไปแล้วยิงไม่ได้ ก็ตั้งรับ เราถอยให้เขารุก จะได้มีช่องว่างให้เอาลูกบอลกลับคืนมา เหมือนมวย เขารุกมา เราน็อกไม่ได้ก็ถอยมาฟุตเวิร์คบ้าง เช่น ดูเวทนา ดูความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น ไม่หลบเลี่ยงหนี แต่ถ้าดูไปแล้วไม่ไหว มันเจ็บปวดมาก ก็ไปดูอย่างอื่น (กาย-จิต-ธรรม) ก่อน หรือฟังเสียง ดูคลิปอะไรไปก่อน แล้วค่อยมาดูเจ็บดูปวดใหม่ นี่เขาเรียกว่า “แผน”
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เรียบเรียง ผั่นพั้น