ไปสนุกกับวิถีชีวิตบางลำพูในอดีต @ พิพิธบางลำพู

ไปสนุกกับวิถีชีวิตบางลำพูในอดีต @ พิพิธบางลำพู

“บางลำพู”ย่านการค้าเก่าแก่ที่มีเสน่ห์ รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน แม้ปัจจุบันย่านนี้จะเปลี่ยนไปจากเดิม แต่“พิพิธบางลำพู” ได้บันทึกเสน่ห์เหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าได้ไปย้อนรำลึก

บางลำพู ใช้ตัว พ.พาน ซึ่งหมายถึง ต้นลำพู ไม่ใช่ ภ.สำเภา อย่างที่เราเข้าใจกัน

พิพิธบางลำพู คือพิพิธภัณฑ์ที่จัดขึ้นโดยกรมธนารักษ์ เดิมที่นี่คือโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ก่อนจะโอนมาเป็น โรงพิมพ์คุรุสภา ซึ่งเป็นสถานที่พิมพ์หนังสือแบบเรียนที่แรกของไทย ต่อมาได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2544

• ที่นี่ประกอบด้วยอาคารสองหลัง คือ อาคารปูนสีขาวรูปตัว L ติดถนนพระสุเมรุ เป็นตึกปูนแบบบาวเฮ้าส์และอาคารไม้สองชั้นติดคลองบางลำพู เคยใช้เป็นที่ฝึกสอนช่างพิมพ์แห่งแรกของไทย

Highlight ห้ามพลาด
• อาคารปูนชั้น 1 สามารถเดินชมได้อย่างอิสระ ห้องแรกจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน “เอกบรมองค์ราชินี”เนื่องจากอาคารหลังนี้สร้างในปี พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9

• ห้องที่สอง“ป้อมเขตขัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์”กลางห้องเป็นแนวกำแพงจำลอง พร้อมเกร็ดความรู้การหล่ออิฐแบบโบราณ พร้อมความรู้เรื่อง “คูคลองล่องลำนำ” คูคลองรอบพระนคร ต่อด้วย “ป้อมปกนครา” ความเป็นมาของ 14 ป้อมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และ “ประตูคู่วิถี” ทั้งประตูเมือง ประตูวังหน้าและประตูวังหลัง

• ชั้นสองอาคารปูนจัดแสดงนิทรรศกรมธนารักษ์ ถ่ายทอดบทบาทหน้าที่ของกรมธนารักษ์

• เมื่อเดินเชื่อมไปยัง ชั้นสองของอาคารไม้ คือ นิทรรศการชุมชนบางลำพูซึ่งมีเจ้าหน้าที่พาชมเป็นรอบ
• เดินข้ามสะพานย้อนยุคเข้ามาสู่ “พระนครเซ็นเตอร์” ในยุคที่บางลำพูเป็นย่านความบันเทิงเฟื่องฟุที่สุดของพระนคร ศูนย์รวมมหรสพหลากแขนงแหล่งใหญ่

“น้องมอมแมม”เด็กหญิงยืนส่องลอดรั้วสังกะสีของ ละครร้องแม่บุญนาค คณะนาครบรรเทิงถ้าอยากรู้ว่าสนุกขนาดไหน ต้องมองลอดช่องดูกันเอง

โรงหนังบุษยพรรณ ฉายหนังดังในอดีต มีเก้าอี้ไม้โรงหนังแบบเก่าให้ทดลองนั่งชม มองไปที่จอ จะเห็นตัวเองนั่งดูหนังอยู่ด้วยนะ

วิกลิเกหอมหวล ลิเกคณะดังของย่านบางลำพู ของอาจารย์หอมหวลนาคศิริ เมื่อไปยืนหน้าจอ ผู้ชมจะเห็นตัวเองใส่ชุดลิเก เมื่อโบกมือชุดที่เห็นก็จะเปลี่ยนไปได้

ห้าง ต.เง็กชวน จำหน่ายแผ่นเสียงไวนิลตรากระต่าย ของที่นำมาแสดงเป็นของจริงจากที่ร้านเดิม ปัจจุบันคือที่ตั้ง ร้านขนมเบื้องแม่ประภา

• เดินขึ้น “รถราง” สัญลักษณ์การคมนาคมแรก ๆ ในพระนคร เพื่อเข้าไปเที่ยว ร้านดีร้านดังของบางลำพู
– ร้านกาแฟนันทิยา โดดเด่นกว่าร้านในยุคเดียวกันตรงที่เปิดชั้นสองเป็นห้องพักรายวัน เรียกว่าเป็นเกสต์เฮ้าส์ยุคแรกก็ว่าได้ ร้านนี้เคยอยู่ที่ตรงหัวโค้ง(ห้างนิวเวิลด์) เป็นร้านกาแฟที่คุณรงค์ วงสวรรค์ เคยมานั่งจิบกาแฟ

ร้านแก้วฟ้า ร้านทำเครื่องหนังแฮนเมด ของคุณแก้ว ผูกทวนทอง เจ้าของห้างนิวเวิลด์ เครื่องหนังปั๊มแบรนด์บิ๊กบัฟฟาโล เพราะใช้หนังกระบือป่านำเข้าจากต่างประเทศ ร้านนี้ถูกไฟไหม้ไปเมื่อปี 2542

ตั้งฮั่วเส็ง ร้านขายเครื่องมือเย็บปักถักร้อย ไหมพรมนำเข้าจากญี่ปุ่น ต่อมาขายเครื่องสำอางค์ และโคโลญน์4711 นำเข้าจากเยอรมัน

• เดินเล่นสู่ห้อง “ย่ำตรอกบอกเรื่องเล่า” สัมผัสวิถีชุมชน ชมของดีบางลำพูที่ซุกซ่อนตามตรอกซอกซอยน้อยคนนักที่จะรู้ เช่น ศิลปะแทงหยวกของชุมชนวัดใหม่อมตรส ข้าวต้มน้ำวุ้น ของชุมชนวัดสามพระยา เครื่องถมของชุมชนบ้านพานถม ทองคำเปลว ของชุมชนบวรรังสี ศิลปะการปักชุดโขน ชุดละคร ของชุมชนตรอกเขียนนิวาส-ตรอกไก่แจ้

บ้านดุริยประณีต ของอาจารย์สุดจิตต์ ดุลยประณีต ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (คีตศิลป์) ยังคงเปิดสอนดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย ขับร้องเพลงไทยเดิม ทุกวันเสาร์อาทิตย์

ต้นลำพูจำลอง มีกิ่งจริงของต้นลำพูร้อยปีต้นสุดท้าย ที่เคยอยู่ริมน้ำในสวนสันติชัยปราการ และล้มตายไปเมื่อน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ซึ่งชาวบ้านนำมามอบให้หล่อรวมกับต้นจำลองนี้ (ไดคัท– ลูกของต้นลำพู เป็นลูกกลม มีขั้วแฉก ปลายเป็นรากแหลม เมื่อลูกหล่นจะปักยึดลงไปในดินเลน)

• สักการะ พระพุทธบางลำพูประชานารถ มิ่งขวัญของชุมชนบางลำพู เป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบอินเดียโบราณ ที่พระอุระด้านซ้ายบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เดิมประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหารต่อมาสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺโน) ทรงประทานให้ชาวชุมชนบางลำพู ทุกวันที่ 12 เมษายน จะแห่อัญเชิญเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมสรงน้ำในวันสงกรานต์

เมื่อเดินออกมาจากที่นี่ รู้สึกได้ว่าเราได้ “รู้จัก” และ “หลงรัก” บางลำพูมากขึ้นเป็นกอง

“อยากให้ผู้มาชมได้รู้จักกรมธนารักษ์ และชุมชนบางลำพูมากขึ้น ผ่านนิทรรศการต่าง ๆ ของที่นี่ ที่จะพาย้อนไปรู้จักประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้ทุกคนได้ซึมซับบรรยากาศในอดีตกลับไป” –ชัชฎา ทับเทศ เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการ

• เปิดบริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์เวลา 10.00 – 18.00 น. เปิดให้ชมเป็นรอบ ทุก 30 นาที
*รอบสุดท้าย เวลา 16.00 น.
• การเดินทาง รถเมล์สาย 3,6,9,30,32,33,43,65,82 และ 529 เรือ ขึ้นท่าพระอาทิตย์
• ค่าเช้าชม: ฟรี
• ติดต่อ: โทร. 0-2281-9828 Facebook: pipitbanglampu


ที่มา:  คอลัมน์ Serve Your Senses นิตยสาร Secret ฉบับ 229 (10 ม.ค.60)
เรื่อง: เชิญพร คงมา ภาพ:วรวุฒิ วิชาธร


บทความน่าสนใจ

เที่ยวตามรอยนิยาย “กาหลมหรทึก” ดูสถานที่จริง ให้อินนิยาย

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.