ชีวิตบั้นปลาย

“ก่อนไม้จะผลัดใบ” เรื่องราวของชายผู้เนรมิตชีวิตบั้นปลายให้สวยงาม

“ก่อนไม้จะผลัดใบ” เรื่องราวของคุณตาถนอม ชายผู้เนรมิต ชีวิตบั้นปลาย ให้สวยงาม

บทความ “ก่อนไม้จะผลัดใบ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ ชีวิตบั้นปลาย ให้มีความสุข เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Secret เขียนโดย นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

เมื่อไม่นานมานี้มีรายงานว่าจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์กันว่า อีกประมาณ 20 ปีข้างหน้าจะมีอัตราเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัว และทำให้ประเทศไทยก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว

ในฐานะที่เป็นอายุรแพทย์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ชัดเจนเช่นกัน เรามีวิธีการรักษาโรคที่ก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นทำให้สามารถยืดอายุผู้ป่วยจากโรคร้ายได้มากขึ้นด้วย แต่สิ่งที่ผมคิดว่าน่าเป็นห่วงมากขึ้นตามมานั่นก็คือ สภาพจิตใจของผู้ป่วยที่มีแนวโน้มสวนทาง เพราะผู้ป่วยสูงอายุหรือวัยชรานั้นมักมีภาวะซึมเศร้า และรับไม่ได้ต่อการเสื่อมถอยของร่างกายและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการรักษาเป็นอย่างมาก

ครั้งหนึ่งผมเคยออกหน่วยตรวจเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเพื่อติดตามการรักษา ซึ่งเป็นกิจกรรมการตรวจรักษานอกสถานที่ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เหตุที่ผมอยากไปช่วยตรวจ ณ ตอนนั้นไม่ใช่สาเหตุอื่นใด นอกเสียจากผมจะได้ไปพบกับผู้ป่วยที่เคยรักษา หนึ่งในผู้ป่วยที่อยู่ในแผนการเดินทางไปเยี่ยมก็คือตาถนอม คุณตาอายุประมาณ 80 ปี แต่ร่างกายยังแข็งแรงและทำงานต่าง ๆ มากมาย ตาถนอมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคถุงลมโป่งพองกำเริบ ผมรักษาอาการของคุณตาดีขึ้นจนกลับบ้านได้ จึงอยากติดตามอาการต่อเนื่อง

เมื่อเรามาถึงบ้านตาถนอม ภาพแรกที่เห็นคือ คุณตากำลังใช้จอบขุดดินเพื่อปลูกต้นไม้อย่างคล่องแคล่ว ท่าทางไม่เหมือนคนอายุ 80 แบบนี้เราคงไม่ต้องถามถึงอาการเหนื่อยหอบของคุณตาอีกแล้ว

ชีวิตบั้นปลาย
Photo by Mathias Konrath on Unsplash

พวกเราหยุดพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กับคุณตา ท่านบอกว่าตอนนี้เลิกเผาถ่านไปแล้วตามที่หมอห้าม ยกหน้าที่นี้ให้เป็นของหลานชาย ส่วนคุณตามีอาการเหนื่อยหอบเป็นบางครั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่เพิ่มขึ้นมาคือ ตาที่พร่ามัว มองเห็นไม่ถนัดและหูที่ได้ยินไม่ค่อยชัด รวมถึงข้อเข่าที่เริ่มปวดเวลาต้องยืนนาน ๆ สิ่งเดียวที่เราสังเกตว่าคุณตาเหมือนเดิมก็คือ ใบหน้ายิ้มแย้มและเสียงหัวเราะที่ดูเหมือนจะมากขึ้นกว่าตอนอยู่โรงพยาบาล พวกเราคุยหยอกล้อว่าคุณตาอารมณ์ดี ไม่เหมือนคนป่วยเลย ท่านบอกว่าเคล็ดลับง่ายนิดเดียวคือ ให้พอใจและมีความสุขกับสิ่งที่เหลืออยู่และใช้งานมันอย่างทะนุถนอม พวกเราฟังคำสอนของตาถนอมแล้วยิ้มออกกันทุกคน เข้าใจแล้วว่าทำไมคุณตาถึงชื่อนี้

ผู้สูงอายุหรือวัยชราหลายท่านกังวลและเครียดกับอาการเจ็บป่วยของตัวเองอย่างมากจนบางครั้งกลายเป็นเครียดเกินพอดี ซึ่งทำให้มีผลต่ออาการเจ็บป่วยทางกายที่มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว หลายท่านคอยแต่พร่ำบ่นกับลูกหลานว่า วัยสูงอายุหรือวัยชราช่างไม่มีอะไรดีเลยจริง ๆ ได้แต่รอเวลาให้โรคภัยไข้เจ็บมาถามหาและรอวันจากไป

แต่แท้ที่จริงแล้ว วัยชรานี้นับเป็นช่วงชีวิตที่มีคุณค่ามากที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ถือได้ว่าเป็นช่วงชีวิตที่ทรงเกียรติและควรได้รับการยกย่องนับถือ เพราะท่านเป็นผู้ที่อดทนข้ามผ่านร้อนหนาว ความทุกข์ทรมาน และความเจ็บปวดทั้งกายใจอย่างแสนสาหัสมานับครั้งไม่ถ้วนได้อย่างเข้มแข็งและสง่างาม ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้สำเร็จ เป็นช่วงวัยที่สามารถแผ่ความอบอุ่นเจือจุนคนรอบข้างด้วยประสบการณ์ชีวิตที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน

ความสุขของคนวัยสูงอายุหรือวัยชราคงเกิดขึ้นจากการเรียนรู้วิธีที่จะมีความสุขกับสิ่งที่ยังเหลืออยู่ในตัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่เหนื่อยหน่ายกับชีวิตที่เหลือจนกลายเป็นคนไร้คุณค่า แต่ก็ไม่ประมาทละเลยกับชีวิตจนเกินไป

ก่อนกลับ ตาถนอมพาพวกเราเดินผ่านต้นหูกวางที่ใบกลายเป็นสีแดงเต็มต้น เตรียมพร้อมก่อนจะผลัดเปลี่ยนใบใหม่ ช่างเป็นภาพที่สวยงามน่าประทับใจอย่างยิ่ง

คุณตาบอกว่า “ก่อนไม้จะผลัดใบ” ก็สวยงามอย่างนี้แหละ ชีวิตคนก็คล้ายกัน ช่วงวัยชราควรเป็นให้ได้อย่างต้นไม้ คือสวยและสง่างามที่สุดเท่าที่ชีวิตเคยเป็นมา 

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

เรื่อง  นายแพทย์ชวโรจน์ เกียรติกำพล

Image by giseg from Pixabay

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

วัยชรา วัยว่าง ต้องขวนขวายหมั่นทำบุญสร้างกุศล โดย หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

เหงาใช่ไหม บทความธรรมะดีๆ จากพระราชญาณกวี (ท่านปิยโสภณ)

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.