คาร์ลอส สลิม เอลู

คาร์ลอส สลิม เอลู มหาเศรษฐีใจบุญแห่งเม็กซิโก แบบอย่างของผู้บริหารที่ดีเลิศ

ในปี 2010 นิตยสารฟอร์บส์จัดอันดับให้Œ คาร์ลอส สลิม เอลู (Carlos Slim Helú) เจ้าพ่อการสื่อสารแห่ง‹เม็กซิโก เป็นคนรวยที่สุดในโลก แซงหน้Œาบิล เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ดŒ้วยสินทรัพย์มูลค่‹า 53.5 พันล้Œานดอลลาร์

คาร์ลอสเป็นชาวเม็กซิกันคนแรกที่ขึ้นอันดับสูงสุด และเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปีที่บุคคลร่ำรวยที่สุดไม่ได้มาจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังเป็นครั้งแรกที่เป็นบุคคลที่มาจากระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ หลังจากนั้นคาร์ลอสยังติดโผเป็นอันดับหนึ่งของรายชื่อมหาเศรษฐีพันล้านของฟอร์บส์ติดต่อไปอีกจนถึงปี 2014 และล่าสุดในปีที่แล้วถึงแม้จะหล่นลงมาที่อันดับ 7 คาร์ลอสก็ยังเป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดในเม็กซิโกและละตินอเมริกาด้วยสินทรัพย์มูลค่า 67.4 พันล้านดอลลาร์

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@time.com

 

ด้วยเหตุที่เขาเป็นเจ้าของ Telmex บริษัทที่ได้รับสัมปทานโทรศัพท์รายใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก เป็นเจ้าของ Telcel บริษัทโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของละตินอเมริกา และเป็นเจ้าของบริษัท Amèrica Mòvil บริษัทมือถือขนาดใหญ่อันดับห้าของโลก จึงทำให้เขาได้รับฉายา “เจ้าพ่อการสื่อสาร”

นอกจากนั้นเขายังมีธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกอย่างภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัท Grupo Carso ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจก่อสร้าง ไฟฟ้า ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ยาสูบ โรงพยาบาล โรงแรม หนังสือพิมพ์ ฯลฯ มีบริษัทลูกมากกว่า 400 บริษัทใน 200 ประเทศ และมีพนักงานภายใต้การดูแลกว่า 2 แสนคน

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@centrourbano.com

 

ความสำเร็จและผลกำไรอาจทำให้นักธุรกิจทั่วไปตาร้อนผ่าว แต่สำหรับมหาเศรษฐีผู้นี้ ยังมีสิ่งสำคัญกว่าเงินตราชนิดที่นำมาเทียบกันไม่ได้

สลิมเป็นทั้งนามสกุลและชื่อเล่นของมหาเศรษฐีผู้นี้ เขาเกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1940 ที่เม็กซิโกซิตี ประเทศเม็กซิโก

สลิมมีเชื้อสายเลบานีส พ่อของเขาอพยพมาจากประเทศเลบานอนตอนอายุ 14 ปี เพราะไม่ต้องการเป็นทหาร ส่วนแม่เป็นชาวเลบานอนที่เกิดในเม็กซิโก สลิมเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 6 คน

พ่อเป็นคนที่มีอิทธิพลต่อเขามาก และเป็นฮีโร่ของเขาเสมอมา พ่อมาถึงเม็กซิโกแบบคนมือเปล่า แต่สามารถตั้งตัวได้ และเคยดำรงตำแหน่งประธานหอการค้าเลบานอนประจำกรุงเม็กซิโก

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
คาร์ลอส (นั่งกอดอก) กับครอบครัว
@businessinsider.com

 

สมัยยังเด็ก สลิมได้เงินค่าขนมจากพ่อสัปดาห์ละ 5 เปโซ ซึ่งพ่อก็จะสอนให้ลูกทุกคนทำบัญชีค่าใช้จ่ายอย่างละเอียด พ่อจะอ่านสิ่งที่ลูกๆ เขียนในสมุดพร้อมกับแนะนำวิธีใช้เงินอย่างเหมาะสม สลิมและพี่ๆ จึงเป็นนักบริหารที่เก่งกาจตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นและพันธบัตรตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี

สาธุคุณ ธีโอดอร์ เฮสเบิร์ก (Theodore Hesburgh) นักบวชผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกเคยกล่าวไว้ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่พ่อคนหนึ่งจะทำให้กับลูกๆ ของเขาก็คือ การรักแม่ของลูกนั่นเอง” ซึ่งน่าจะเป็นความจริงอย่างยิ่งในกรณีของสลิม เพราะแม้ว่าพ่อจะเสียชีวิตตั้งแต่เขาอายุเพียง 13 ปี แต่ความรักความอบอุ่นที่พ่อสร้างไว้ทำให้ครอบครัวของเขายืนหยัดขึ้นมาได้อีกครั้ง แม้จะไม่มีหัวหน้าครอบครัวแล้ว

สลิมเป็นชายหนุ่มที่หลงรักตัวเลข เขาจึงเลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Universidad Nacional Autònoma de Mèxico ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ผลการเรียนของเขาโดดเด่นมาก ทำให้ตอนเรียนอยู่ชั้นปีสามเขาได้สอนวิชาพีชคณิตและวิชากำหนดการเชิงเส้นให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยพร้อมๆ กันไปด้วย อย่างไรก็ดี หลังเรียนจบ สลิมรู้ตัวว่าเขาชอบทำธุรกิจมากกว่า จึงเรียนต่อคอร์สสั้นๆ ด้านธุรกิจ

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@carlosslim.com

 

ในปี 1965 สลิมเริ่มทำธุรกิจครั้งแรกด้วยการร่วมหุ้นกับพี่ชายเพื่อซื้อบริษัทผลิตขวดน้ำอัดลม ต่อมาก็ร่วมหุ้นกับเพื่อนซื้อบริษัทก่อสร้างและบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รวมๆ แล้วเขากลายเป็นเจ้าของบริษัทต่างๆ 5 – 6 บริษัทพร้อมๆ กัน เพราะเหตุว่าบริษัทเหล่านั้นมีผลประกอบการไม่ดีนัก จึงขายในราคาไม่แพง แต่ทุกบริษัทมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ความเป็นไปได้ในการเจริญเติบโต

สลิมเข้าไปค้นหาจุดอ่อนที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่สามารถสร้างผลกำไรได ้ แล้วจัดการแก้ไขจุดอ่อนจนบริษัทเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจุดอ่อนที่ว่า บางครั้งเป็นเรื่องที่มองเห็นง่ายมาก แต่ผู้บริหารไม่ใส่ใจเอง ตัวอย่างเช่น การมีลำดับการสั่งการมากเกินไป เป็นต้น กรณีเช่นนี้เขาจะเข้าไปลดสายการบังคับบัญชาเพื่อให้ผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงานได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และสิ่งที่สลิมเน้นย้ำมากที่สุดก็คือ การสร้างคน

สลิมกล่าวว่า ไม่มีอะไรทำให้ธุรกิจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วเท่ากับการทำให้พนักงานมีกำลังใจและมีความกระตือรือร้นในการทำงาน นอกจากนี้ หากบริษัทให้ใจกับพนักงาน พนักงานก็จะให้ใจกับบริษัทเช่นกัน ดังที่พนักงานหลายๆ คนของ Grupo Carso ไม่ยอมลาออกทั้งที่ถูกซื้อตัวด้วยเงินเดือนที่สูงกว่า เพราะพวกเขาเห็นว่าบริษัทเป็นที่ที่เขาฝากชีวิตไว้ได้

ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเม็กซิโกทรุดตัวอย่างหนัก ดอกเบี้ยถีบตัวสูงกว่าร้อยละ 20 เศรษฐกิจหยุดชะงัก ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนต่างถอนทุนออกไปจนเกือบหมด ส่วนเจ้าของบริษัทที่ไม่อาจรับภาระดอกเบี้ยได้ก็พากันขายธุรกิจในราคาถูก ซึ่งเป็นช่วงที่สลิมเข้ามากว้านซื้อบริษัทต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น บริษัทเหล่านี้จึงทำให้เขามีกำไรมหาศาล

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@imagui.eu

 

นอกจากนี้ในปี 1990 รัฐบาลได้เปิดให้ประมูลการสร้างเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ Grupo Carso สู้ราคาจนเป็นฝ่ายชนะและเป็นฐานทำให้เขาสามารถบุกเบิกตลาดการสื่อสารในประเทศต่างๆ ทั่วละตินอเมริกา และในที่สุดก็สยายปีกไปทั่วโลก

ตลอดระยะเวลาที่สลิมก่อร่างสร้างธุรกิจนั้น เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องสำคัญคือ การผูกขาดธุรกิจของเม็กซิโก จนทำใหธุ้รกิจขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตได้ แต่สลิมไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านั้น เพราะถือคติวา่ “ถ้าเราใช้ชีวิตตามความเห็นของคนอื่น เราก็ไม่ต่างจากคนตาย”

แต่เพื่อพิสูจน์ว่า อาณาจักร Grupo Carso มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ สลิมจึงทำการกุศลไม่เคยขาด ทั้งก่อตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือด้านการศึกษา สาธารณสุข เทคโนโลยี ฯลฯ หรือให้ทุนการศึกษาโดยใช้เงินส่วนตัวมากถึงปีละ 1.5 แสนทุน และเมื่อปี 2007 เขาได้ให้เงินขวัญถุงจำนวน 6 พันล้านดอลลาร์แก่มูลนิธิ 3 แห่ง ซึ่งดำเนินการโดยลูกชายทั้งสามคนของเขา การเปิดตัวมูลนิธินี้ทำให้สลิมได้ชื่อว่าเป็น“ร็อกกี้เฟลเลอร์แห่งละตินอเมริกา” (Rockefeller เป็นมหาเศรษฐีใจบุญชาวอเมริกัน)

สลิมแต่งงานกับ โซมายา โดมิท เกมาเยล (Soumaya Domit Gemayel) เมื่อปี 1967 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 6 คน ที่จริงแล้วชื่อกลุ่มบริษัท “Carso” นั้นมาจากอักษรสามตัวแรกของชื่อของสลิม บวกกับอักษรสองตัวแรกของชื่อภรรยา ต่อมาโซมายาเสียชีวิตด้วยโรคไตเมื่อปี 1999

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@bornrich.com

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@heightline.com

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@thedailybeast.com

 

สลิมไม่เคยแต่งงานใหม่ เขาสานต่องานการกุศลของภรรยา โดยเฉพาะสนับสนุนการคิดค้นวิธีการรักษาโรคไตอย่างกว้างขวาง ส่วนงานที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์งานหนึ่งก็คือ การสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อเก็บงานของศิลปินเลื่องชื่อ โดยเฉพาะงานของดาลี (Dalì) และโรแดง (Rodin) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งชื่อตามภรรยาของเขาว่า Museo Soumaya เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และน่าจะเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของสลิมที่มีต่อภรรยานั่นเอง

 

คาร์ลอส สลิม เอลู
@archdaily.com

 

สิ่งสำคัญที่สุดของมหาเศรษฐีผู้นี้คือชีวิตที่อบอวลไปด้วยความรักจากคนรอบข้าง นอกจากนี้สลิมเชื่อว่า ความสำเร็จของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินเงินทองหรือการได้รับการยอมรับจากคนอื่นเท่านั้น แต่เป็นความสุขสงบภายใน ซึ่งเกิดขึ้นจากการมองโลกในแง่บวก และความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างตัวเอง ครอบครัว เพื่อนฝูง และผู้คนในสังคม

“ตอนตายไม่มีใครเอาอะไรไปได ้ สิ่งที่หลงเหลือก็มีเพียงผลงาน ครอบครัว และเพื่อนฝูงเท่านั้น หรือถ้าโชคดี เราอาจฝากความคิดดีๆ ที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครสักคน”

 

Secret Box

ผมไม่‹ต้Œองการสร้Œางโลกที่ดีกว‹่าเพื่อคนรุ‹่นหลัง
แต่‹ตŒ้องการสรŒ้างคนที่ดีกว่‹าเพื่อโลกของเรา
– คาร์ลอส สลิม เอลู –

 

ที่มา  นิตยสาร Secret

ภาพ  achievement.org

Secret Magazine (Thailand)

IG @Secretmagazine


บทความน่าสนใจ

ดิดิเยร์ ดร็อกบา นักเตะเพื่อสันติภาพ

สตีเฟน วิลต์เชียร์ “มนุษย์กล้องถ่ายรูป” ศิลปินออทิสติกสุดยอดอัจฉริยะ

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.