ชีวิตดีเมื่อกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต มงคลที่ 10 ในมงคลชีวิต 38 ประการ
มงคลที่ 10 การกล่าว วาจาอันเป็นสุภาษิต (สุภาสิตา จะ ยา วาจา)
วาจาอันใดที่ไพเราะอ่อนหวานไม่รำคาญแก่โสต เป็นประโยชน์ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า วาจานั้นชื่อว่า วาจาสุภาษิต
วาจาสุภาษิตประกอบด้วยองค์ 5 ประการ และเว้นจากองค์ 4 ประการ ที่ว่าประกอบด้วยองค์ 5 ประการ คือ
1. กล่าวในกาลอันสมควร เพราะว่าถ้อยคำแม้จะดีปานใด ถ้าหากกล่าวผิดเวลาก็เป็นโทษได้
2. กล่าวแต่คำสัตย์จริงไม่กล่าวคำเท็จ เพเราะว่าคำสัตย์ย่อมเป็นที่สรรเสริญแก่บัญฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
3. กล่าวคำอ่อนหวานสุขุมละเอียดไม่หยาบคายให้เคืองใจผู้อื่น คือ สามารถประดิดประดอยถ้อยคำให้นุ่มนวลไม่ทิ่มแทงใจผู้ฟัง ใช้ถ้อยคำชาวเมืองที่สุภาพเรียบร้อย มีกุศโลบายในการใช้ถ้อยคำมิให้ออกไปทิ่มแทงจิตใจผู้ฟัง แม้จำเป็นจะต้องพูดเรื่องรุนแรงก็รู้จักใช้ถ้อยคำนุ่มนวลมิให้ผู้ฟังต้องเคืองใจ
4. กล่าวคำที่มีประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า ที่มีประโยชน์ในชาตินี้ เช่น ถ้อยคำที่แนะนำให้รู้จักปฏิบัติตัวให้ถูกแบบแผนของสังคม ถ้อยคำที่แนะนำให้ปฏิบัติให้สุขภาพแข็งแรง และถ้อยคำแนะนำการทำมาหากินดำรงชีวิต เป็นต้น ที่มีประโยชน์ในชาติหน้า เช่น ถ้อยคำที่แนะนำเรื่องบาปเรื่องบุญ สิ่งใดควรเว้นสิ่งใดควรกระทำ และเรื่องความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิต เป็นต้น
5. กล่าวคำที่ประกอบไปด้วยจิตเมตตาไม่มีความโกรธอิจฉาริษยาพยาบาท ประสงค์ให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจแก่ผู้ฟัง
สำหรับคำที่ว่าวาจาสุภาษิตนั้นเว้นจากองค์ 4 ก็คือ
1. มุสาวาท คือการกล่าวคำเท็จ หลอกลวง ล่อลวง ด้วยเรื่องไม่จริง ทำให้ผู้ฟังต้องเสียหายจากประโยชน์ต่าง ๆ
2. ปิสุณาวาท หรือ เปสุญญวาท คือการกล่าวถ้อยคำส่อเสียดยุยงให้คนแตกกัน ให้คนทะเลาะกัน ให้คนผิดใจกัน ให้คนแตกความสามัคคีกัน ให้คนกลายจากมิตรเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน
3. ผรุสวาท คือคำพูดหยาบคาย คำพูดเผ็ดร้อน คำพูดที่ประสงค์ให้ผู้ฟังเจ็บใจ เดือดเนื้อร้อนใจ ทุกข์ระทมใจ
4. สัมผัปปลาปะ คือ คำพูดเพ้อเจ้อ พูดเหลวไหล พูดไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีเหตุผล ไร้สาระ ไม่ถูกกาละเทศะ
ทั้ง 4 อย่างนี้เรียกว่า วจีทุจริต หมายถึงการประพฤติชั่วด้วยวาจา การประพฤติชั่วทางวาจามีโทษมาก บุคคลผู้กล่าววาจาทุจริตทั้ง 4 นี้มีโทษมากมายหลายประการ ย่อมจะยังให้บุคคลผู้กล่าววาจาทุจริตนั้นให้ไปบังเกิดในกำเนิดนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉานให้เสวยทุกขโทมนัสเวทนาแก่กล้าสิ้นกาลนาน ครั้นพ้นจากอบายภูมิแล้วมาเกิดในเมืองมนุษย์แล้ว เศษกรรมของโทษที่กล่าวมุสาวาทย่อมให้ผล มีผู้มาล่อลวงให้เสียทรัพย์ข้าวของและแกล้งฟ้องร้องในคดีความที่ไม่จริง ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าวยุยงให้เขาแตกร้าวซึ่งกันและกัน ย่อมจะทำให้ต้องแตกร้าวจากบิดามารดาบุตรภรรยาคณาญาติมิตรอำมาตย์ผู้ร่วมวงศ์พงศาญาติโกโหติกาอันเป็นที่รักใคร่ ต้องกลายเป็นผู้ปราศจากที่พึ่งพิงพาอาศัย มิตรสหายที่ผูกพันกันแต่ไหนก็ต้องแตกกันไป มิได้มีผู้จะร่วมสมาคม ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าวคำหยาบช้าด่าทอ ก็จะเจอแต่ถ้อยคำหยาบคาย ชั่วช้า เขาติเตียนนินทาด่าว่าด้วยคำเลวทรามต่ำช้ามากมายหลายประการ ส่วนเศษกรรมของโทษที่กล่าววาจาอันหาประโยชน์มิได้ ก็จะทำให้ได้ฟังแต่สิ่งไม่มีประโยชน์ ไม่มีแก่นสารสาระ ไม่มีเหตุไม่มีผล ไม่สามารถยังประโยชน์ให้เกิดสติปัญญาขึ้นมาได้
การกล่าววาจาใดไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่นนั่นเป็นวาจาที่ควรกล่าว ส่วนวาจาใดที่เบียดเบียนตนและผู้อื่นไม่ควรกล่าวเลย โดยเฉพาะถ้าหากบุคคลกล่าวถ้อยคำบิดเบือนธรรมะ คือกล่าวสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่าเป็นธรรม กล่าวสิ่งที่เป็นธรรมว่ามิใช่ธรรม ดังนี้ย่อมมีโทษเป็นบาปมากมายมหาศาล เพราะทำให้พระธรรมของพระตถาคตเจ้าเสียหาย ย่อมนำความเดือดร้อนวอดวายมาสู่ประชุมชนผู้กระทำตามถ้อยคำที่บิดเบือนนั้น ส่วนผู้กล่าวบิดเบือนธรรมย่อมจะประสบทุกข์ในอบายภูมิทั้ง ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานสิ้นกาลนาน
แม้คำหยาบคายก็ไม่ควรกล่าว เพราะจะนำทุกข์โทษมากมายมาสู่ผู้กล่าว คือทำให้เป็นผู้มีศัตรูมาก ไม่มีมิตร มีแต่คนรังเกียจไม่รักใคร่ ชอบใจ ส่วนการกล่าววาจาอ่อนหวานย่อมนำมาซึ่งมิตร และลาภสักการะมาให้ และวาจาที่เป็นเท็จไม่มีความจริงนั้น ท่านสาธุชนก็ไม่ควรกล่าวเลย ควรกล่าวแต่วาจาสัตย์ คำจริงแท้ เพราะว่าคำสัตย์ย่อมชื่อว่าเป็นคำไม่ตาย ไม่เสื่อมจากประโยชน์ของตนและผู้อื่น นำความเจริญมาให้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
อันว่าคำสัตย์นี้ย่อมเป็นคำที่สูงเลิศแสนประเสริฐ เพราะว่านักปราชญ์ทั้งหลายย่อมรักษากันสืบมาสิ้นกาลนานในกาลทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นบุคคลใดตั้งอยู่ในธรรมคือความสัตย์นี้แล้ว นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมกล่าวว่าเป็นสัปบุรุษอันประเสริฐในโลก เพราะการรักษาความสัตย์ย่อมเป็นปัจจัยแก่สวรรค์และนิพพานในอนาคต เพราะว่าบุคคลผู้กล่าวคำสัตย์ย่อมจะไปอุบัติในเทวโลกมีมากมายนักหนา และการกล่าวคำสัตย์นั้นย่อมทำให้จิตของบุคคลผู้นั้นซื่อตรงเอื้อประโยชน์ต่อการรู้แจ้งอริยสัจธรรม อันเป็นปัจจัยให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างแน่นอน
ฉะนั้นพระพุทธองค์จึงตรัสว่า รสของคำสัตย์เป็นรสที่เลิศรสที่ประเสริฐกว่ารสทั้งปวง มีรสที่ยิ่งกว่ารสเปรี้ยวหวานมันเค็มอันปุถุชนเสพรสแห่งคำสัตย์ย่อมเป็นแก่นสารในโลก เพราะจะนำความสุขอันประเสริฐให้เกิดขึ้นทั้งสุขในโลกีย์และสุขในโลกุตตระ
อานิสงส์การกล่าววาจาสุภาษิตนั้นย่อมมีผลมากมีผลไพศาล เพราะบุคคลผู้จะบรรลุธรรมได้ก็ต้องอาศัยได้ฟังวาจาสุภาษิต และอันว่าพระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนเทศนาแก่พุทธบริษัทให้สำเร็จทางสวรรค์นิพพานก็ด้วยคำสุภาษิต ทำให้เวไนยสัตว์ทั้งหลายมีศรัทธาความเชื่อความเลื่อมใส ให้มีความสลดสังเวชใจในสัพพสังขาร สามารถตัดกิเลสให้ขาดจากสันดาน ก็ด้วยวาจาสุภาษิต พระธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ชื่อว่า วาจาสุภาษิต หรือคำกล่าวของพระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต
ถึงแม้บุคคลใดก็ดีกล่าวถ้อยคำที่เข้าได้กับลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ๘ ประการ คือถ้อยคำที่ยังให้ผู้ฟังคลายกำหนัด ปราศจากทุกข์ ไม่สั่งสมกองกิเลส เพื่อความอยากอันน้อย เพื่อมักน้อยสันโดษ ไม่ระคนด้วยหมู่ เพื่อปรารภความเพียร เพื่อความเลี้ยงง่าย นี้ก็ชื่อว่าวาจาสุภาษิต
วาจาใดที่เป็นประโยชน์ในชาตินี้ เช่นบิดามารดาสอนบุตรให้ทำมาหากินในสัมมาชีพก็ชื่อว่าเป็นวาจาสุภาษิต วาจาที่บุคคลท่องบ่นสวดมนต์ภาวนากล่าวสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย สรรเสริญกุศลธรรมมีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้นก็เป็นวาจาสุภาษิต ถ้อยคำที่กล่าวโทษของสังขารปลงปัญญาให้เห็นไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มิใช่ตัวตน ก็เป็นวาจาสุภาษิต
ดังที่ได้พรรณนามานั่นก็คือการกล่าววาจาสุภาษิตย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้กล่าวและผู้ฟัง นั่นคือยังประโยชน์ให้เกิดทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ยังประโยชน์ให้เกิดทั้งทางโลกียะและโลกุตตระ ฉะนั้นการกล่าววาจาสุภาษิตจึงเป็นมงคลอันประเสริฐดังว่ามานี้แล
ที่มา พุทธมงคลอานิสงส์ – พระชุมพล พลปญฺโญ