เสียงระฆังให้สัญญาณหมดยก นักชกในชุดเสื้อกล้ามสีน้ำเงินเดินคอตกกลับเข้ามุม ทั้งเหงื่อทั้งน้ำไหลมารวมกันจนเสื้อเปียกชุ่ม คิ้วทั้งสองข้างขมวดเข้าหากัน ดวงตาทั้งคู่เริ่มแดงก่ำและมีแววกังวล
เขาเดินกลับไปที่กลางสังเวียนอีกครั้ง ดวงตาคู่เดิมเริ่มมีหยาดน้ำใสไหลพรั่งพรู เมื่อมือที่กรรมการยกขึ้นชูไม่ใช่มือของเขา
โอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ของ สมจิตร จงจอหอ ปิดฉากลงเช่นนั้น
จากตัวเต็งเหรียญทองรุ่นฟลายเวท แต่กลับต้องจบทัวร์นาเมนต์ เพราะตกรอบสอง ทั้งที่อยู่ในวัยหนุ่มแน่นและฟิตซ้อมอย่างหนักมาตลอดชีวิต หวังจะได้เดินอยู่หน้าขบวนแห่เหรียญทองกับเขาบ้าง แต่บนเวทีฮีโร่โอลิมปิกครั้งนั้นไม่มีที่ว่างสำหรับสมจิตร
ท่ามกลางเสียงโห่เฮฉลองเหรียญทองของมนัส บุญจำนงค์ ชีวิตของสมจิตรกลับเงียบเหงาเดียวดายที่สุด น้ำตาลูกผู้ชายอกสามศอกพรั่งพรูออกมาอย่างไม่อาย เขาสะอื้นไห้ราวกับจะใช้น้ำตาช่วยลบคำว่า “แพ้” ออกไปจากชีวิต
สมจิตรร่ำๆ ว่าจะแขวนนวมเลิกชกไปเสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่โชคยังดีที่เขายั้งใจคิดใหม่ได้ทัน…
“ผมเริ่มชกมวยตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก เพราะผมไม่ค่อยสันทัดเรื่องทำนาปลูกข้าวเหมือนคนในครอบครัว ก็เลยหันมาเอาดีด้านชกมวยไทย ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ จากมวยงานวัดก็เริ่มไปอยู่ค่ายมวย ขึ้นเวทีที่ไหนผมชนะหมด ล้มเขาจนตัวเองหมดคู่ชก”
ผลเสียจากชั้นเชิงแบบ “มวยเทวดา” ทำให้สมจิตรหมดคู่แข่ง เป็นแชมป์แบบแช่อยู่กับที่ ไม่ได้ขยับฝีไม้ลายมือไปไหน สุดท้ายมวยเทวดาคนนี้จึงต้องขยับไปชกกับรุ่นใหญ่ คราวนี้ถึงชั้นเชิงจะเก่งกาจขนาดไหน ก็พ่ายแพ้เพราะเบียดสู้แรงเสียดทานของคู่ต่อสู้ที่น้ำหนักต่างกันหลายปอนด์ไม่ไหว
โชคชะตาพลิกไปพลิกมาหลายตลบ สมจิตรต้องระเหเร่ร่อนไปเปิดร้านซักรีดและขายน้ำอยู่พักใหญ่ แต่สุดท้ายเส้นทางวนให้กลับมาขึ้นสังเวียนผ้าใบอีกครั้ง
“ระหว่างที่รับจ้างรีดเสื้อผ้าอยู่นั้น ผมเห็นในทีวีเขาประกาศรับสมัครนักมวยสมัครเล่นไปชกรายการชิงแชมป์ประเทศไทย ผมตั้งเป้าเข้าชกในรายการนี้ทันที”
“ผมเริ่มต้นฝึกซ้อมด้วยตนเอง เช่าห้องพักเล็กๆ นอน อาศัยล้างเนื้อล้างตัวในห้องน้ำตามปั๊มน้ำมันหรือห้างสรรพสินค้า ก่อนจะขึ้นเวทีในนามนักชกอิสระ ไร้ค่ายไร้สังกัด”
กลับขึ้นสังเวียนคราวนี้ เขาผงาดในฐานะนักชกมวยสากลสมัครเล่น สังกัดกองทัพบก ตระเวนล่าแชมป์อยู่ 2 ปี ชื่อ “สมจิตร จงจอหอ” ก็เด่นหราติดโผขุนพลเสื้อกล้ามทีมชาติไทย
โอลิมปิก 2000 สมจิตรตามเพื่อนๆ ไปนครซิดนีย์ในฐานะตัวสำรอง ช่วยเป็นคู่ซ้อมให้วิจารณ์ พลฤทธิ์ เพียงเพื่อจะได้สัมผัสผืนผ้าใบระดับโลกซึ่งเขายังไม่มีโอกาส
โอลิมปิก 2004 คราวนี้สมจิตรแบกความหวังของคนไทยทั้งประเทศไปกรุงเอเธนส์ ครั้งนี้เขาได้เป็นตัวจริง แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่า…เขาทำไม่สำเร็จ
นักชกวัยยี่สิบเก้าเพิ่งขึ้นเวทีโอลิมปิกครั้งแรก เผชิญความกดดันอันหนักหน่วง แต่ละหมัดของเขาใส่ความหวังไว้จนล้น ขึ้นเวทีแต่ละหนเขาอยากชนะมากเกินไป สุดท้ายใจนักชกลูกบุรีรัมย์จึงไม่นิ่งสมาธิขาดหาย ยกท้ายๆ เขาเดินเข้าชกด้วยอาการลนลาน ทำให้แพ้คะแนน ตกรอบก่อนเวลาอันควร
แพ้ ผิดหวัง ล้มเหลว ท้อแท้ เสียใจ นอกจากน้ำตา ตอนนั้นโลกทั้งใบของสมจิตรมีแต่ถ้อยคำเหล่านี้
“ตอนกลับจากเอเธนส์ เขาให้ไปยืนที่แท่นต้อนรับ แต่นักมวยมีหลายคน ยืนกันเต็มแท่น ผมไม่มีที่ยืน ก็เลยลงมาหาครอบครัวข้างล่าง กอดกันร้องห่มร้องไห้ ตอนร่วมขบวนฉลองเหรียญทองของมนัส บุญจำนงค์ ในปีนั้น ผมเฝ้าแต่พร่ำถามตัวเองว่า ‘เราต้องอยู่ข้างหลังอีกแล้วหรือนี่”
ในขณะที่อารมณ์เศร้าและผิดหวังกำลังดิ่งลึก กำลังใจจากคนรอบข้าง บวกกับคำพูดเพียงบางคำของคู่ชีวิต ทำให้สมจิตรกลับมาสวมวิญญาณนักสู้ได้อีกครั้ง
“หลังจากประกาศเลิกชก ภรรยาผมเตือนสติว่า ‘อยากให้พี่คิดดูดีๆ ว่า อยากเลิกจริงๆ หรืออยากเลิกเพราะหนีปัญหา’
“ผมกลับมานั่งคิด ถ้าเลิกตอนแพ้ แล้วเราจะเหลืออะไรเป็นความภาคภูมิใจ ผมจึงตั้งสติใหม่ กัดฟันซ้อม ดูแลร่างกาย รักษาระเบียบวินัย เตรียมตัวเตรียมใจสู้ใหม่อีกสี่ปีข้างหน้า”
โอลิมปิก 2008 สมจิตรขึ้นสังเวียนที่ปักกิ่งในฐานะกัปตันทีมมวยสากลสมัครเล่น สมจิตรวาดฝีไม้ลายมือได้สะใจคนดูทุกนัดฝากหมัดแบบเน้นๆ จนคะแนนชนะขาดทุกรอบ เขาได้โชว์ท่าประจำของตนเองทุกครั้งที่ขึ้นชก
วันที่ขึ้นชกนัดสุดท้าย กำปั้นของสมจิตรทำให้คนทั้งโลกได้ฟังเพลงชาติไทย เขาปล่อยโฮเหมือนเมื่อสี่ปีที่แล้ว แต่สิ่งที่ต่างไปก็คือขณะที่สะอึกสะอื้นอยู่นั้น สิ่งที่เขามองเห็นมิใช่คำว่า “แพ้” หากแต่เป็นธงไตรรงค์ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่าธงผืนอื่น
“ผมผ่านมาเยอะ เจ็บมาเยอะ แต่ผมอดทน ผมพยายาม ขอให้ทุกคนสู้…สู้แบบผม”
นี่คือถ้อยคำของสมจิตร จงจอหอ หลังลงจากเวทีในวันนั้น…วันที่หน้าอกของเขามีเหรียญทองโอลิมปิกประดับอยู่อย่างสง่างาม
เรื่อง อิสระพร บวรเกิด ภาพ ณัฐวุฒิ เพ็งคำภู