ดี ชั่ว เราเลือกได้ บทความธรรมะดี ๆ จากพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญจะมาไขข้อข้องใจเรื่องคนดี-คนชั่ว และเกณฑ์การตัดสินความดีและความชั่วว่าควรใช้อะไรตัดสิน เราอาจจะพบว่า ดี ชั่ว เราเลือกได้ ไม่ได้เป็นเรื่องชะตาฟ้าลิขิต แต่เป็นเราที่สามารถลิขิตเองได้
” คนดีได้ดีมีที่ไหน คนชั่วได้ดีมีถมไป”เป็นคํากล่าวที่ทําให้คนใฝ่ดีรู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่มากก็น้อย ผนวกกับหลายเหตุการณ์ในปัจจุบันที่ทําให้คํากล่าวนี้ดูหนักแน่นขึ้นทุกที ถ้าเช่นนั้นเราควรเลือกยืนอยู่ฝ่ายใดกันแน่ ความดีหรือความชั่วร้าย..
คนที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี เช่น คนที่ครั้งหนึ่งเคยติดยา หรือพวกเด็กแว๊น เขาจะต้องทําอย่างไรคะ ถ้าต้องการกลับตัวเป็นคนดี
ถ้าเขาอยากเป็นคนดีจริงๆ สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนแปลงคือจิตใจแค่ความรู้สึกภายในใจเปลี่ยนเป็นใฝ่ดี เขาก็จะกลายเป็นคนดีทันทีเลย แม้ยังไม่ได้เริ่มทําอะไรเลยนะ เพราะจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว ถ้ามีจิตตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีแล้วพฤติกรรมและวาจาก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีด้วย เรียกได้ว่าแค่ใจคิดจะเปลี่ยนขณะนั้นก็ได้เป็นคนดีเรียบร้อยแล้ว
บางสังคมเรียกการกระทําแบบหนึ่งว่าเป็นความดี แต่อีกสังคมกลับมองว่าเป็นความชั่ว จริงๆแล้วเราจะใช้เกณฑ์อะไรมาวัดคะ
ยุคสมัยนี้คนที่ร่ําเรียนสูง มีงานดี มีเงิน มียศฐาบรรดาศักดิ์มีบริวาร และมีชื่อเสียง มักจะถูกสังคมยกย่องว่าเป็นคนดีน่านับถือ แต่คนเหล่านี้อาจจะไม่ใช่คนดี ไม่ใช่คนที่น่านับถือในอีกหมื่นปีข้างหน้าก็ได้ ซึ่งหลักธรรมคําสอนได้อธิบายไว้ว่า ความจริงทุกสิ่งแบ่งออกเป็น2ชนิด คือ สมมุติสัจจะและปรมัตถสัจจะ
สมมุติสัจจะ คือ ความจริงโดยสมมุติ เป็นความจริงแบบชาวโลก แบบโลกียธรรม สามารถเกิดขึ้นได้ เปลี่ยนแปลงได้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับกาลสมัย ค่านิยม และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น เช่น ชาวต่างชาติสามารถนั่งไขว่ห้างฟังธรรมได้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดแปลกสําหรับบ้านเมืองเขา แต่ถ้าคนไทยนั่งแบบนั้นบ้าง ก็จะถูกคนในบ้านเมืองเรามองว่าทําความผิดร้ายแรงแตกต่างจากปรมัตถสัจจะ ซึ่งแปลว่าความจริงที่เป็นสัจธรรม
เป็นความจริงแท้แน่นอน แบบโลกุตรธรรม ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ขึ้นกับเพศ วันเวลา หรือสถานที่ เช่น หากมนุษย์ในยุคนี้เกิดโทสะขึ้นภายในจิตใจ ก็จะเกิดความรู้สึกร้อนรุ่ม ซึ่งเป็นความรู้สึกเดียวกันกับมนุษย์เมื่อพันปีที่แล้ว และหากมนุษย์ในอีกพันปีข้างหน้าเกิดโทสะก็จะมีความรู้สึกร้อนรุ่มลักษณะเดียวกันนี้ด้วย ดังนั้นความดีและความชั่วสามารถแยกออกจากกันได้ด้วยการพิจารณาตามความเป็นจริง ว่าเป็นสมมุติสัจจะทางโลกหรือปรมัตถสัจจะในทางธรรม ถ้าเป็นแบบสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า เมื่อต้องเข้าเมืองตาหลิ่วก็ควรหลิ่วตาตาม เมื่ออยู่ในสังคมใด เมืองใด ก็ควรสังเกตให้ดีว่าเขาปฏิบัติกันอย่างไร เราก็ปฏิบัติไปตามนั้น อย่าทําตนเป็นจระเข้ขวางคลองจึงจะสามารถอยู่ร่วมในสังคมนั้นได้ ส่วนความจริงแบบปรมัตถสัจจะนั้นจะเข้าใจได้ด้วยการปฏิบัติธรรม ตามดูจิตจนเกิดปัญญาเท่านั้น
สมมุติในกรณีที่เราพยายามรักษาศีลอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอดแต่วันหนึ่งไปเที่ยวกับเพื่อนแล้วอดใจไม่ไหว ดื่มเหล้าจนเมามายจะแก้ไขอย่างไรดีคะ
เมื่อหักห้ามใจไม่ไหวก็ไม่ต้องห้าม พระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้ไว้ว่า ถ้าจําเป็นต้องทําความชั่วก็ไม่ควรที่จะกระทําบ่อยๆ ให้ทํานานๆครั้ง อย่าไปทําถี่ และไม่พึงยินดีในการกระทํานั้น มนุษย์เราในชาติหนึ่งชีวิตหนึ่งที่เกิดมาจะไม่ให้ทําบาปกรรมเลย สร้างแต่กุศลอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ ชีวิตคนคนหนึ่งจะมีทั้งจิตที่เป็นกุศลและอกุศลปะปนกันไปตลอด แต่อยากให้ยึดหลักในการใช้ชีวิตว่า เมื่อใดที่เกิดกุศลจิตขึ้นมาแล้ว ให้ลุกขึ้นทําทันทีอย่ารีรอ และควรทําทุกครั้งที่เกิดจิตอันเป็นกุศล เพราะกุศลจิตไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย หนําซ้ําเมื่อเกิดแล้วก็อาจอยู่ได้ไม่นานเพราะอกุศลจิตจะคอยแทรกแซงตลอดเวลา หากปล่อยให้เลยผ่านไปเราก็จะไม่ได้ทําเสียที
หากครอบครัวยากจน แล้วแม่ล้มป่วยกะทันหัน ลูกหมดหนทางจะหาเงินมารักษา จึงไปลักขโมยคนอื่น อย่างนี้จะถือว่าลูกเป็นคนชั่วไหมคะ
ลูกคนนี้มีจิตสองฝ่ายคือ เป็นทั้งฝ่ายธรรมะและฝ่ายอธรรมในคนคนเดียว ซึ่งจิตฝ่ายธรรมะนั้นเป็นกุศลจิตที่มีความกตัญญู-กตเวทีต่อแม่ เป็นจิตที่น่าอนุโมทนา แต่จิตอีกด้านเป็นฝ่ายอธรรม เป็นจิตอกุศล เพราะการลักขโมยถือว่าเป็นบาป ซึ่งการทําบุญกับแม่ในลักษณะนี้เป็นบุญที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นบุญที่ด่างพร้อย เพราะมีตัวบาปติดมาด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียทางโลกตามมาอีกมากมาย เช่น หากแม่ทราบภายหลังว่าเงินที่นํามารักษาได้มาจากการลักขโมย อาจทําให้แม่เสียใจจนล้มป่วยหนักกว่าเดิม หรือหากขโมยไม่สําเร็จแล้วลูกต้องติดคุกติดตารางใครจะดูแลรักษาแม่ ทางที่ดีที่สุดคือ ให้ลูกคนนี้ได้เข้าใจธรรมะแล้วจะพบว่า มีวิธีสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีพโดยชอบมากมายที่สามารถหาเงินมาช่วยแม่ได้ เช่น อาจขอผัดผ่อนจากโรงพยาบาลในการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆแล้วพยายามทํางานที่สุจริตให้หนักขึ้น หรือหาวิธีการอื่นซึ่งจะมีเข้ามาเองตามวาระแห่งกรรม ขอเพียงยึดหลักธรรมในใจว่า หากกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่หรือใครก็ตาม ต้องทําโดยไม่ก่อเวรสร้างบาป
หากทําความดีมาตลอดชีวิต แต่จิตสุดท้ายเกิดนึกถึงความชั่วที่เคยก่อ เมื่อตายไปจะต้องไปสู่อบายภูมิจริงๆหรือคะ ถ้าเช่นนี้ก็ไม่ยุติธรรมสิคะ
ยุติธรรมที่สุดแล้ว เพราะจิตเป็นนาย หากจิตดวงสุดท้ายยึดสิ่งใดก็ต้องไปสู่สิ่งนั้นก่อน แม้จะเคยทําแต่ความดีมาตลอด99%ของชีวิต แต่เผลอทําความชั่วเพียง1% เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิตดวงจิตไปจับที่อบายภูมิ1%นั้น ดวงจิตก็จะพาไปรับผลกรรมชั่วก่อน แต่จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เช่น อาจจะไปเกิดเป็นยุงที่มีอายุขัยเพียงเจ็ดวัน พอดับลง จิตก็จะพาไปยังส่วนกุศล99%ที่เหลือ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดเป็นเทวดาหรือเป็นมนุษย์ ในทางกลับกัน คนที่ทําความชั่วมาตลอด99%ของชีวิตและสั่งสมความดีเพียง1% เมื่อวาระสุดท้ายมาถึง แต่บังเอิญได้มีโอกาสฟังธรรม ไหว้พระ สวดมนต์ ทําให้จิตดวงสุดท้ายไปสู่สุคติแต่ก็จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ตามผลของความดี1%ที่เคยทํา เช่นอาจได้เป็นมนุษย์อยู่ในครรภ์มารดาเพียงเดือนเดียวก็ถูกทําแท้งแล้วกลับมารับผลกรรมชั่วอีก99%ที่เหลือเช่นเดียวกัน
ดังนั้นขอให้มีจิตตั้งมั่นในการสั่งสมความดีอย่างเด็ดเดี่ยวฮึกเหิม กล้าหาญ แกล้วกล้า และมั่นคงเถิด แม้ไม่เห็นผลในวันนี้ แต่ความดีที่ทําไม่หายไปไหนอย่างแน่นอน
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 86
เรื่อง : พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เรียบเรียง : บุญหนัก
บทความน่าสนใจ
ยุติ วงจรปฏิจจสมุปบาท เพื่อตัดภพให้สิ้นชาติ โดยพระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เหนือกว่าศีล 5 คือ กุศลกรรมบถ 10 โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
ชาติหน้าดีแค่ไหน กำหนดได้ด้วย จิตดวงสุดท้าย โดย พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ