Dhamma Talk : วิธีตอบแทนพระคุณ ให้ถูกต้องตามพระธรรม โดย อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร
ถาม : อาจารย์คะ หน้าที่ของลูกมีอะไรบ้างคะ
ตอบ : พ่อแม่เป็นผู้มีอุปการคุณต่อลูก เพราะฉะนั้นลูกต้องกตัญญู คือ รู้คุณ และกตเวที คือ ตอบแทนคุณ ด้วยการประพฤติจริยธรรมของลูก ได้แก่
หนึ่ง ท่านเลี้ยงเรามา ต้องเลี้ยงท่านตอบแทน หนักหนาอย่างไรให้คิดว่า สมัยเรายังเป็นเด็ก ท่านอดทนเลี้ยงเรา เราหิว ร้องไห้กลางดึก ท่านก็ตื่นมาป้อนนมให้หายหิว เราทำสกปรกเลอะเทอะ ท่านก็ตามเช็ดตามล้างให้
สอง รักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ไม่ทำพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ ไม่ทำตัวเป็นปัญหาของสังคม ไม่ทำตัวให้เป็นที่พูดถึงในทางไม่ดี
สาม ช่วยธุรกิจการงานของท่าน ไม่ว่าจะเป็นงานบ้านหรือหากท่านทำธุรกิจ มีกิจการใด หากเราช่วยได้ก็ต้องช่วยทำงานแทนท่าน
สี่ ประพฤติตนให้สมควรเป็นผู้ได้รับมรดก
และ ห้า เมื่อท่านล่วงลับไปแล้วต้องทำบุญอุทิศให้ท่าน
ถาม : ถ้าเราไม่สามารถอยู่เลี้ยงดูพ่อแม่ในยามที่ท่านแก่ชรานี่ ถือว่าอกตัญญูไหมคะ
ตอบ : ถ้าเรามีเหตุจำเป็น ทำให้เลี้ยงดูท่านไม่ได ้ ต้องให้คนอื่นดูแลแทน เช่น จ้างพยาบาล ถือว่าเป็นการตอบแทนคุณท่านเหมือนกัน
ถาม : ถ้าพ่อแม่มีกิจการที่เราไม่อยากทำ ไม่ตรงกับความถนัดของเรา หรือไม่ใช่สิ่งที่เราเรียนมาล่ะคะ
ตอบ : ต้องดูว่างานนั้นเป็นงานที่ดีหรือเปล่า โดยพิจารณาว่า หนึ่ง ไม่ผิดกฎหมาย สอง ไม่ผิดศีล สาม ไม่ผิดธรรม ถ้าไม่ผิดทั้งสามข้อนี้ เราควรช่วยท่านทำงานเท่าที่จะช่วยได้ ยกเว้นว่าไม่มีความสามารถ ทำไม่ได้จริงๆ ไม่ถือว่าเป็นความผิด ถ้าสามารถทำได้เมื่อว่าง แต่ไม่อยากทำ ถือว่าอกตัญญู เพราะเป็นการทำตามกิเลสของเรา
ถาม : ถ้าพ่อแม่ทำสิ่งที่ไม่ดี คือ ผิดกฎหมาย ผิดศีล ผิดธรรม อย่างนี้ถือว่า พ่อแม่ไม่มีคุณธรรม ลูกไม่ให้ความร่วมมือนั้น ไม่ผิด และไม่ถือว่าเป็นการอกตัญญู แล้วลูกควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกับพ่อแม่ล่ะคะ
ตอบ : ต้องวางเฉยเสีย ตราบใดที่ท่านยังไม่เอ่ยปากขอให้เราแนะนำหรือชี้ทาง ในฐานะลูก ไม่มีสิทธิ์แนะนำสั่งสอน กับผู้ใหญ่ท่านอื่นและเจ้านายก็เช่นกัน แม้จะเห็น่าท่านทำผิด ต้องวางเฉยเสีย เพราะเป็นกรรมของท่าน เราไม่มีสิทธิ์จะไปสั่งสอน
ถาม : ถ้าพ่อแม่ทำในสิ่งที่ผิด เช่น มีความเห็นที่ผิด หรือติดอบายมุขแล้วลูกสงสารไม่อยากให้พ่อแม่ทำในสิ่งที่ผิดล่ะคะ
ตอบ : สงสารคือมีจิตคิดจะช่วยเหลือนั้นทำได้ ไม่ผิด แต่จะช่วยได้หรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าช่วยได้ก็ช่วยให้เต็มความสามารถ แต่เมื่อเหนือความสามารถของเราแล้ว จะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยวาง เช่น ถ้าพ่อแม่ป่วย เราพาไปหาหมอ แล้วต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหมอที่จะรักษา เราทำได้แค่พาไปส่งโรงพยาบาล ไปเฝ้า ไปดูแลอย่างเต็มความสามารถ และเมื่อทำเต็มที่แล้วท่านยังไม่หายหรือเสียชีวิตไป เราต้องปล่อยวาง
ถาม : แล้วถ้าเหตุไม่ดีที่ท่านทำส่งผลกระทบมาถึงเราด้วยล่ะคะ
ตอบ : เราย่อมต้องเดือดร้อนไปด้วย เพราะเราอยู่ในสังคม เช่นเดียวกับการที่เราเป็นคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เมื่อมีคนทำให้เศรษฐกิจของประเทศวิกฤติ เราย่อมต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุที่เคยทำกรรมร่วมกันมา
ถาม : ในเมื่อเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราช่วยป้องกันไม่ได้หรือคะ
ตอบ : ในทางโลกทำได้ แต่ในทางธรรมทำไม่ได้ เรื่องของกรรมไม่มีใครช่วยใครได้ เมื่อกรรมจะให้ผล เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปขวางทางกรรม ดูอย่างตอนที่วิฑูฑภะหลานชายของพระพุทธเจ้าจะยกกองทัพสาวัตถีไปฆ่าล้างโคตรชาวกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า เนื่องจากโกรธที่ชาวกบิลพัสดุ์ไปดูถูกว่าตนเป็นลูกที่เกิดในวรรณะจัณฑาล แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระญาติผู้ใหญ่พยายามช่วยด้วยการไปขัดตาทัพไว้ถึงสองครั้ง แต่ในครั้งที่สามพระองค์ก็ทรงวางอุเบกขา เพราะทรงรู้ว่านี่เป็นเรื่องของเวรกรรมที่เคยมีต่อกัน ในที่สุดชาวกบิลพัสดุ์จึงต้องรับชะตากรรม ถูกฆ่าล้างโคตรทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ และพระองค์ก็ทรงช่วยพระญาติไม่ได้
ถาม : แล้วถ้าเราทนไม่ไหวและต้องการหนีออกจากปัญหาล่ะคะ
ตอบ : อย่างนี้ถือว่าผิด เพราะในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของเขา เราต้องมองให้ออก แล้วคิดให้ได้ว่า นั่นเป็นวิบากของเขา และปล่อยวาง เอาสติไว้ที่ตา ที่หู ไม่เอาเรื่องของเขามาเป็นเรื่องของเรา แล้วเราก็จะอยู่ได้
การเอาสิ่งที่กระทบทางหูทางตามาเป็นอารมณ์นั้น เป็นอาการของคนขาดสติ และเป็นบาปแก่ตัวเราเอง
สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เมื่อเราเห็นเขาทำไม่ดี ก็ให้นำเขามาเป็นครูสอนตัวเราเองว่าอย่าไปทำอย่างเขา
ถาม : ถ้าลูกเข้ามาทางธรรมแล้วอยากชักชวนพ่อแม่ให้เข้ามาทางธรรมบ้าง ต้องทำอย่างไรคะ
ตอบ : การที่ลูกไปชวนนั้นไม่ควรทำ เพราะว่าในทางธรรมนั้นเขาไม่ชวนผู้ที่ยังไม่ศรัทธา ต้องให้มาเองด้วยความศรัทธาและความสมัครใจ เพราะฉะนั้นถ้าลูกต้องการให้พ่อแม่เข้ามาทางธรรม ลูกต้องทำตัวให้พ่อแม่ศรัทธาให้ได้ก่อน เหมือนพระสารีบุตร ที่ทำให้นางสารีผู้มีมิจฉาทิฐินับถือลัทธิบูชาท้าวมหาพรหมเลื่อมใสในตัวท่าน ด้วยการปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญบารมี จนกระทั่งท้าวมหาพรหมได้ลงมาเยี่ยมท่านก่อนนิพพาน เมื่อแม่เห็นเช่นนั้นแล้วเกิดศรัทธา เอ่ยปากให้ลูกสอนได้ พระสารีบุตรจึงแสดงธรรมให้ท่านฟัง
ถาม : เมื่อท่านศรัทธา ขอให้เราสอนแล้วเราควรสอนท่านอย่างไรคะ
ตอบ : ให้ท่านปฏิบัติตามหลักศีล สมาธิ ปัญญา หรือหาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน แต่ถ้าท่านแก่มากจนอ่านหนังสือไม่ได้ก็เปิดเทปสวดมนต์ให้ท่านฟัง เพราะการสวดมนต์นั้นเป็นการปฏิบัติธรรมเบื้องต้น ฟังแล้วสติและสมาธิจะเกิด
ถ้าท่านแก่จนหูก็ไม่ได้ยินแล้ว ให้สอนท่านบริกรรมพุทโธ หายใจเข้ากำหนดว่า พุท หายใจออกกำหนดว่า โธ วิธีนี้ทำให้หญิงชราที่เป็นโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งหมอวินิจฉัยแล้วว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกแค่ห้าเดือน อยู่ต่อไปได้ถึงห้าปี และเมื่อตายก็ตายอย่างมีสติ อย่างนี้สุคติก็เป็นที่หมาย นี่จึงเป็นวิธีที่ดีที่จะตอบแทนพระคุณพ่อแม่
ถาม : ถ้าพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่แก่มากหรือป่วยขั้นสุดท้ายแล้วมีวิธีที่จะช่วยให้ท่านไปสู่ภพภูมิที่ดีไหมคะ
ตอบ : มี เพราะถ้าไม่มีอกุศลกรรมอื่นมาตัดรอน กรรมใกล้ตายจะมีผลทันที เราจึงสามารถช่วยได้ด้วยการนิมนต์พระมาทำสังฆทาน หรือเปิดเทปสวดมนต์ให้ท่านฟัง แต่ก่อนจะเปิดต้องถามท่านก่อนนะว่าจะฟังไหม หรือจะนำรูปพระที่ท่านศรัทธาไปติดไว้รอบๆ ที่นอนก็ได้ เพื่อให้ไม่ว่าท่านจะมองไปทางไหน นอนหงาย ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ก็เห็นรูปพระ ท่านจะได้มีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งกระทบที่ดี เมื่อตายก็จะตายอย่างสงบและมีสติ จะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี
ถาม : ส่วนพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกเข้ามาทางธรรม เพราะกลัวว่าลูกจะไม่แต่งงาน ไม่มีหลานสืบสกุลล่ะคะ ต้องทำอย่างไร
ตอบ : การที่พ่อแม่ขัดขวางไม่ให้เราเข้าทางธรรม ไม่ให้เราทำความดี อยากให้ลูกเแต่งงานมีครอบครัว ถือเป็นกิเลสของท่าน ถ้าเรารู้เท่าทันแล้ววางเฉย ไม่สนองกิเลสของท่าน ไม่ถือว่าผิด
ถาม : แล้วถ้าท่านบ่นว่าหรือพูดไม่ดีกับเราล่ะคะ
ตอบ : ก็ปล่อยให้ท่านพูดไป ส่วนเราฟังอย่างมีสติ แล้ววางเฉย ไม่เอาสิ่งที่ไม่ดีมาปรุงเป็นอารมณ์ เหมือนพระอรหันต์ไง ใครมาพูดมาว่าอะไร ท่านก็นิ่งอย่างเดียว ไม่เข้าไปร่วมกระบวนกรรมด้วย
คนที่มีสติจะไม่โทษคนอื่น แต่จะดูที่ตัวเองว่า เราดีหรือยัง เรามีสติมากพอที่จะรับมือกับเรื่องต่างๆ หรือยัง เรามีปัญญาเห็นแจ้งที่จะเห็นว่าเขาทำไม่ดีก็เป็นกรรมของเขา แล้วเราปล่อยวางได้หรือยัง ผู้รู้จะแก้ปัญหาที่ตัวเอง ไม่ไปแก้ที่คนอื่น
ถาม : แล้วถ้าทำอย่างไรพ่อแม่ก็ไม่ยอมศรัทธา ไม่สนใจธรรมะ ไม่ยอมทำบุญเลย เราสามารถทำบุญแทนพ่อแม่ได้ไหมคะ
ตอบ : เรื่องของบุญนั้นทำแทนกันได้แค่การบอกให้ท่านอนุโมทนา เมื่อเราไปทำบุญมาให้บอกพ่อแม่ว่า ลูกไปทำบุญมา ขออุทิศบุญให้พ่อแม่ ถ้าท่านบอกว่า สาธุ ท่านก็ได้บุญ คือบุญที่เกิดจากการอนุโมทนา แต่ถ้าท่านวางเฉยก็เรื่องของท่าน เราต้องปล่อยวาง ชีวิตเป็นของใคร เจ้าของชีวิตต้องเลือกบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง
ถาม : ในทางปฏิบัติ เราจะปล่อยวางได้อย่างไรคะ
ตอบ : ต้องพัฒนาจิตให้มีสติให้มาก เพราะหากสติมีกำลังอ่อน ระลึกไม่ทันสิ่งกระทบ การที่เรารับสิ่งไม่ดีของคนอื่นมาเป็นอารมณ์ เราเองก็จะบาปไปกับเขาด้วย ดังนั้นการพัฒนาจิตให้มีสติจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสติคือสิ่งที่ทำให้ระลึกได้ทันสิ่งที่เข้ากระทบจิต แล้วใช้ปัญญาจัดการกับทุกปัญหาของชีวิตได้อย่างถูกต้องตามธรรม ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องฝึกสติให้มากๆ
ที่มา : นิตยสาร Secret
เรื่อง : ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา