ที่ใดมีรักที่นั่นมีทางพ้นทุกข์ บทความธรรมะที่จะทำให้ เข้าใจความรัก ดียิ่งขึ้น
ที่ใดมีรักที่นั่นมีทางพ้นทุกข์ ส่วนมากมักเข้าใจว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ แต่ทำไมคราวนี้กลับตรงกันข้าม ความรักพาให้พ้นทุกข์ได้จริงไหม ลองมาหาคำตอบเพื่อทำความ เข้าใจความรัก ให้ดียิ่งขึ้นกันเถอะ
ขึ้นชื่อว่า“ความรัก”น้อยคนที่จะกล้าปฏิเสธว่า ไม่ต้องการรับรัก หรือไม่เคยมอบความรักให้แก่ใคร เพราะความสุขจากความรักนั้นช่างหอมหวาน ในขณะเดียวกันความทุกข์ที่เกิดจากความรักก็สุดแสนทรมานเช่นกัน เมื่อความรักเป็นดั่งดาบสองคมเช่นนี้ พุทธศาสนาจะมีวิธีการจัดการกับความรักอย่างไร
พระอาจารย์คะ พระพุทธศาสนาให้ความสําคัญกับความรักไหมคะ
ให้ความสําคัญสิ พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งความรักที่บริสุทธิ์เชียวละ ความรักที่บริสุทธิ์ในที่นี้คือการให้ พระพุทธเจ้าทรงให้ในสิ่งที่ดีที่สุดแก่มนุษย์ เป็นการให้เพียงฝ่ายเดียว ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แม้กระทั่งคําขอบคุณหรือความรักตอบ
สิ่งที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าทรงมอบให้มนุษย์ทุกคนไม่ใช่ทรัพย์สมบัติหรือแก้วแหวนเงินทองใดๆ แต่ท่านทรงให้ในสิ่งที่มนุษย์พึงได้รับเมื่อเกิดมาชาติหนึ่ง นั่นคือ การหลุดพ้นจากวัฏสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด ท่านปรารถนาให้เราพ้นทุกข์เข้าสู่นิพพาน ซึ่งจะทําให้มนุษย์เกิดปัญญา ตื่น เบิกบาน มีอิสระปล่อยวาง ปลอดโปร่ง โล่ง เบาสบาย ไม่เวียนวน ไม่มีทุกข์และได้สัมผัสถึงความสงบร่มเย็น
ในสังคมปัจจุบันมีข่าวฆาตกรรมหรือคดีความสืบเนื่องจากความรักฉันท์หนุ่มสาวมากมาย พระอาจารย์มีข้อคิดเตือนใจอย่างไรบ้างคะ
คดีความต่างๆโดยมากเกิดขึ้นเพราะคนส่วนใหญ่มีเจตนาในการมอบความรักในวงจํากัด เป็นต้นว่า ความสุขของเขาคนนั้นจะต้องเกิดจากฉันเท่านั้น ห้ามเกิดจากคนอื่น อย่างนี้เรียกว่าเป็นความรักที่มีราคะมาเจือปน มีอกุศล มีความเป็นเจ้าของ ยึดครองถือครอง หวงแหน ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นของเรา พอเห็นเขาไปควงกับคนอื่นก็ทนไม่ได้ เพราะความสุขนั้นไม่ได้เกิดจากฉัน
แต่ในทางพุทธศาสนา ความรักที่มีอานุภาพมากเกิดประโยชน์สูงสุดคือ ความรักอย่างมีเมตตา ซึ่งเป็นจิตฝ่ายกุศลหวังเพียงให้เขามีความสุข ไม่จํากัดว่าความสุขนั้นจะเกิดจากใคร อาจเกิดจากฉันหรือจากหนุ่มสาวคนอื่นก็ได้ ขอเพียงทําให้คนที่เรารักมีความสุขเป็นพอ
พุทธศาสนามีทางแก้ปัญหานี้โดยการให้เจริญสติปัฏฐานปฏิบัติภาวนา เมื่อใดที่เกิดความรักขึ้นที่จิต ให้ใช้สติตามรู้ทันว่าเกิดราคะขึ้นด้วยไหม เพราะสติคือจิตอันเป็นกุศล ส่วนราคะเป็นจิตอกุศล เมื่อเกิดจิตอกุศลแล้วมีจิตกุศลตามเข้าไป จิตอกุศลจะสลายไปเอง เพราะกุศลและอกุศลอยู่ร่วมกันไม่ได้อยู่แล้วหากมนุษย์ในสังคมเจริญสติปัฏฐานขึ้นในใจอยู่เนืองๆ อกุศลก็จะสลายไปเอง ต่อไปก็จะเกิดแต่รักที่บริสุทธิ์ มีเมตตา ไม่หวงแหนหรือแสดงความเป็นเจ้าของ มีเพียงความหวังดี ปรารถนาดีให้คนที่เรารักมีความสุข โดยไม่จํากัดว่าความสุขจะต้องเกิดจากใครหรือกับใคร
หากพบว่าความสุขของเขาเกิดจากคนอื่น เราก็จะปล่อยเขาไปและยังรู้สึกยินดีกับเขาด้วย แต่ถ้าเราดีจริง เขาก็จะกลับมาหาเราเหมือนเดิม พอมีกุศลขึ้นมาแล้ว จิตจะไม่รู้สึกโกรธ เพราะความโกรธเป็นอกุศล ถ้าเราเพียรเจริญสติปัฏฐานคือสติให้เกิดขึ้นภายในใจแล้ว บรรดาอกุศลจิตต่างๆ เช่น ความโกรธแค้นอาฆาต จะไม่มีภายในจิตใจ ต่อไปก็จะเหลือแต่ความรักที่เป็นกุศลจิตเพียงอย่างเดียว
เจ้าชายสิทธัตถะทรงตัดพระทัยละทิ้งพระนางพิมพาและพระราหุลเพื่อออกผนวชจนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นั่นแปลว่าความรักเป็นสิ่งขัดขวางการบรรลุธรรมหรือคะ
สําหรับเจ้าชายสิทธัตถะซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้านั้น ท่านเคยทรงลองหาทางหลุดพ้นมาหลายภพหลายชาติแล้ว จนมาถึงชาติสุดท้าย จึงตัดสินพระทัยละทิ้งพระมเหสีและลูกแล้วทรงออกผนวช จนได้สําเร็จมรรคผลเป็นพระพุทธเจ้า แต่สําหรับคนทั่วไปถือว่าเป็นผู้เดินตามมรรค ไม่ใช่คนแรกที่ตามหามรรคอย่างท่าน เราจึงไม่จําเป็นที่จะต้องทําเช่นนั้น หากมีบ้านหลังใหญ่มีรถคันโต แต่เรายังปฏิบัติธรรมได้ ยังมีจิตกุศล มีความรู้สึกสงบร่มเย็นได้ เราก็ไม่จําเป็นต้องทําอย่างพระพุทธองค์ นอกเสียจากว่าการมีบ้านหลังใหญ่นั้นเป็นตัวขัดขวางทําให้ติด ทําให้จมในสังสารวัฏ เราก็อาจจะต้องตัดใจพรากจากสิ่งนั้นไปเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งในเรื่องนี้ต้องพิจารณาที่จิตของแต่ละคนเป็นหลัก
ผู้ปฎิบัติธรรมส่วนใหญ่มักรู้สึกว่า การต้องคอยปรนนิบัติดูแลพ่อแม่ สามี-ภรรยา หรือลูก จะฉุดไม่ให้เข้าถึงนิพพาน จริงหรือไม่คะ
ไม่จริงเลย ความคิดเช่นนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะอะไรๆก็ขวางกั้นอะไรๆไม่ได้ อะไรๆก็เป็นอุปสรรคให้กับอะไรๆไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคให้กับเราทั้งนั้น ทิฏฐิต่างหาก ความเห็นของเราต่างหากที่เป็นอุปสรรค เช่น สามี ภรรยา ทรัพย์สมบัติรถเบนซ์คันหนึ่งก็ยังอยู่อย่างนั้น จอดอยู่อย่างนั้น เงินในธนาคารก็อยู่อย่างนั้น ไม่สามารถนํามาร้อยรัดตัวเราได้ สรรพสิ่งทั้งหลายก็เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งตั้งอยู่อย่างนั้นไม่ได้ทําอะไรเลยแต่คนต่างหากที่มีมิจฉาทิฏฐิ ผูกโยงความคิดของตัวเองไปเกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งแล้วยึดมั่นถือมั่น สมมุติว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มีค่ามีราคา แล้วนําไปจับไปทูนไว้ ว่าเป็นของของเรา
มีความคิดเช่นนี้ ต้องให้เขาศึกษาธรรมะเรื่อยๆ แล้วจะพบว่าไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางเลยยิ่งเห็นทุกข์ ยิ่งทําให้ใกล้ฝั่งพระนิพพาน เพราะถ้าได้เห็นทุกข์มากๆจะทําให้ได้เห็นธรรมะที่แท้จริงเร็วขึ้น เช่น คนผิดหวังในความรัก หย่าขาดจากสามี ภรรยา หรืออกหักจากแฟน ไม่มีอะไรเป็นเครื่องรับประกันได้ว่าหากมีรักครั้งใหม่จะไม่พบทุกข์อีก เมื่อเขาทุกข์มากๆ เขาจะเห็นความไม่เป็นแก่นสาร จะเกิดความเบื่อหน่ายแล้วหันกลับมาแสวงหาหนทางหลุดพ้นทุกข์ จนเกิดปัญญาได้พบกับนิพพานเร็วขึ้น พูดง่ายๆคือ ถ้าเข้าใจธรรมะ จะไม่ไปโทษเหตุปัจจัยภายนอก ไม่โทษสิ่งอื่น แต่จะหันกลับเข้ามาดูภายในใจตัวเอง
อยากเข้าถึงนิพพาน อย่าไปมองสิ่งอื่นเลย อย่าไปโทษสิ่งอื่นเลย อย่าไปโทษใครว่ามาคอยขัดขวาง เพราะถ้ายังมีความรู้สึกแบบนี้อยู่ จะไม่สามารถเข้าถึงนิพพานได้ แต่ถ้าไม่โทษสิ่งใดแล้ว จะเริ่มเห็นทางวิมุตติหลุดพ้น ก้าวหน้าทางธรรมได้สําเร็จในที่สุด
ที่มา : นิตยสาร Secret ฉบับที่ 87
เรื่อง : พระอาจารย์นวลจันทร์ กิตติปัญโญ
เรียบเรียง : บุญหนัก
บทความน่าสนใจ
- 10 ขั้นตอน ชวนคนรักให้ รักษาศีล หลักการแสดงความรักที่เป็นรูปธรรม
- บทเรียนจากความเจ็บปวดซ้ำซาก ของหญิงผู้โหยหาความรัก
- รักแท้เป็นแบบไหน ? ความรักในมุมมองของพระพุทธศาสนา
- มุมมองความรัก…ที่ฟังแล้วต้อง “ใจเต้น” หมอเจี๊ยบ ลลนา
- “ฉันคือร่างกาย เธอคือหัวใจ” ความรักอันยิ่งใหญ่ของ รอง เค้ามูลคดี