เฉินซู่จวี๋ แม่ค้าขายผักหัวใจยิ่งใหญ่ เจ้าของ รางวัลแมกไซไซ
เชื่อหรือไม่ หนึ่งในหกของผู้ที่ได้รับ รางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2012 เป็นแม่ค้าขายผัก!
เฉินซู่จวี๋ (Chen Shu-chu) คือชื่อของแม่ค้าขายผักคนดังกล่าว เธอเป็นชาวไต้หวัน เรียนจบแค่เกรดแปด ตลอดเวลาที่ผ่านมา เฉินซู่จวี๋ ไม่เคยประกอบอาชีพอื่นใดนอกจากการบริหารแผงขายผักของเธอในมณฑลไต้ตง (Taitung County) ซึ่งได้รับมรดกตกทอดมาจากพ่ออีกต่อหนึ่ง
ชีวิตประจำวันของเฉินซู่จวี๋ คือ ต้องตื่นตั้งแต่ตีสองตีสามเพื่อเดินไปซื้อผักในตลาดขายส่ง จากนั้นเธอจะกลับมาจัดร้านและขายต่อเนื่องไปจนถึงเวลาประมาณสองทุ่ม แม้ว่าผักที่เธอขายจะไม่ได้มีราคาสูงกว่าแม่ค้าคนอื่น คือตกกำละ 30 ดอลลาร์ไต้หวัน (หรือประมาณ 30 บาท) ถ้าซื้อ 3 กำ ลดเหลือ 50 ดอลลาร์ไต้หวัน ทว่าด้วยความที่เฉินซู่จวี๋ ใช้ชีวิตอย่างสมถะและประหยัดอดออม เธอจึงสามารถแบ่งรายได้เพื่อบริจาคให้สถานเด็กกำพร้า โรงเรียน ฯลฯ ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมา แม่ค้าขายผักคนนี้บริจาคเงินไปแล้วกว่า 10 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน
ถ้าวัดจากทรัพย์สินเงินทอง เฉินซู่จวี๋ คงไม่มีทางติดทำเนียบเศรษฐี เพราะเธอไม่มีเงินเก็บในบัญชีมากนัก แต่จะแบ่งเงินที่หามาได้เพื่อช่วยเหลือองค์กรสาธารณกุศลอย่างเงียบๆ มาโดยตลอด
และถ้าวัดจากการใช้ชีวิต ก็คงไม่มีเศรษฐีคนไหนยอมให้เธอมายืนอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะเฉินซู่จวี๋ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไม่ต่างจากแม่ค้าตัวเล็กๆ ทั่วทั้งพื้นพิภพ เธอนอนบนพื้นเพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพหลังมากกว่า และคิดว่าถ้านอนสบายเกินไป เธอจะตื่นแต่เช้ามืดไม่ไหว เธอกินอาหารง่ายๆ ค่าอาหารทั้งวันไม่เกิน 100 ดอลลาร์ไต้หวัน เธอไม่มีรถยนต์แต่ก็สามารถอาศัยเท้าทั้งสองข้างเดินไปทุกๆ ที่ที่จำเป็นต้องไป ซึ่งได้แก่ บ้าน ตลาดขายส่ง และแผงขายผัก ดังนั้นจึงไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันหรือค่าเดินทาง เธอไม่ใส่เสื้อผ้าหรูหราด้วยเหตุผลที่ว่าลำพังเสื้อผ้าธรรมดาๆ ก็อบอุ่นและเพียงพอสำหรับเธอแล้ว
แต่ถ้าวัดจากน้ำใจซึ่งดูเหมือนจะไหลรินอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คงยากเหลือเกินที่จะมีมหาเศรษฐีคนไหนทำได้อย่างเธอ เพราะเฉินซู่จวี๋ ไม่ได้ให้ทานเพื่อหวังจะได้รับชื่อเสียงหรือคำสรรเสริญ แต่ให้เพราะเชื่อว่า “เงินจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่ออยู่ในมือของผู้ที่ต้องการใช้เท่านั้น” เฉินซู่จวี๋ ใช้เงินเท่าที่เธอต้องการและให้ส่วนที่เหลือกับผู้อื่น ส่วนการทำงานหนักถึงวันละ 16 ชั่วโมง และการใช้ชีวิตแบบสมถะที่หลายคนอาจรู้สึกว่าไม่สุขสบายนัก ก็เป็นรูปแบบชีวิตที่เธอเลือกเอง และเธอก็ไม่ได้รู้สึกลำบากแต่อย่างใด เพราะเธอรักงานที่ทำและรักลูกค้าของเธอมากเหลือเกิน ตรงกันข้าม เฉินซู่จวี๋ รู้สึกอิ่มเอมตั้งแต่ลืมตาตื่น เพราะรู้ว่าสามารถช่วยคนอื่นได้…ชีวิตของเธอมีความหมายสำหรับใครอีกหลายๆ คน
เฉินซู่จวี๋ เป็นลูกสาวคนโตของครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพขายผัก เธอมีน้องอีกหกคน ก่อนจะมีอายุ 13 ปี เธอใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไป คือไปโรงเรียนเพื่อเรียนหนังสือและมีเวลาเล่นสนุกกับเพื่อน เธอเรียนหนังสือเก่งมาก และมีแววว่าน่าจะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น
ตอนอายุ 13 แม่ของเฉินซู่จวี๋ ล้มป่วย หมอบอกให้พ่อของเธอส่งแม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งทางโรงพยาบาลเรียกเงินประกันจำนวน 5,000 ดอลลาร์ไต้หวันล่วงหน้า ถ้าไม่มีก็จะไม่รับตัวแม่ ทำให้พ่อของเธอต้องไปหยิบยืมเงินจากเพื่อนบ้านและคนรู้จัก ซึ่งแม้ว่าจะหาเงินมาได้ครบตามจำนวน แต่ก็ไม่ทันการ เพราะแม่ของเธอสิ้นลมไปก่อน
เมื่อแม่ตาย พ่อขอร้องให้เธอออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยขายผักและเลี้ยงน้องๆ ที่ยังเล็ก เฉินซู่จวี๋ จึงลาออกจากโรงเรียนและกลายเป็นแม่ค้าที่อายุน้อยที่สุดในตลาด เธอจะมาตั้งแผงเป็นคนแรกและกลับเป็นคนสุดท้ายเสมอ
ตอนอายุ 17 – 18 ปี น้องชายคนหนึ่งของเธอเป็นไข้หลังจากว่ายน้ำ เป็นอีกครั้งที่หมอบอกให้ครอบครัวส่งตัวน้องชายไปรักษาที่โรงพยาบาลชั้นนำ ทว่าเธอไม่มีเงินพอ ในตอนนั้น หวงซุ่นจง (Huang Shun-zhong) ครูคนหนึ่งของน้องชายช่วยเป็นตัวตั้งตัวตีขอรับเงินบริจาคจนได้เงินพอค่ารักษา ทว่าน้องชายก็เสียชีวิตไปก่อนอีกเช่นกัน
แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์จะจบลงด้วยความเศร้าโศก เพราะที่สุดเงินก็ช่วยยื้อชีวิตของคนที่เธอรักไว้ไม่ได้ ทว่าเฉินซู่จวี๋่กลับรู้สึกซาบซึ้งในความช่วยเหลือที่คนรอบข้างมีให้ เธอจึงไม่รีรอที่จะส่งต่อความช่วยเหลือให้ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
หลังจากพ่อของเธอเสียชีวิตเมื่อปี 1993 เฉินซู่จวี๋ ซึ่งเป็นชาวพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ก็บริจาคเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ไต้หวันให้วัดฝัวกวงซาน (Fo Guang Shan Monastery) ในปี 2000 เธอบริจาคเงินอีกหนึ่งล้านดอลลาร์ไต้หวันให้โรงเรียนเก่าของเธอ เพื่อก่อตั้งกองทุนฉุกเฉินสำหรับช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน ต่อมาเมื่อครูหวงซุ่นจง มาปรึกษากับเฉินซู่จวี๋ ว่าอยากจะสร้างห้องสมุดให้เด็กๆ เธอก็บอกครูผู้มีพระคุณว่าเธอจะขอเป็นสปอนเซอร์หลัก และในที่สุดเมื่อห้องสมุดขนาดสองชั้นสร้างเสร็จเมื่อปี 2005 นอกจากจะทำให้เธอได้ตอบแทนบุญคุณของครูที่เคยช่วยเหลือเธอแล้ว ยังทำให้เธอเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ และต่อมาเมื่อนิตยสารชั้นนำของโลกอย่างฟอร์บส์เอเชีย ไทม์แมกกาซีน รีดเดอร์สไดเจสต์ ยกย่องให้เธอเป็นบุคคลต้นแบบ เฉินซู่จวี๋ ก็มีชื่อเสียงระดับโลก
ครั้งหนึ่งเฉินซู่จวี๋ เกือบจะแต่งงานเพราะการดูตัว ทว่าพ่อของเธอขอให้รอจนกว่าน้องๆ จะเรียนจบ เธอยินยอม ทว่าว่าที่เจ้าบ่าวไม่เห็นด้วยจึงเลิกรากันไป หลังจากนั้นเธอก็ครองตัวเป็นโสดเรื่อยมา แต่แน่นอนว่าไม่โดดเดี่ยว เพราะอุปนิสัยที่ซื่อตรงและมีน้ำใจ ทำให้เธอมีมิตรอยู่ทุกหนทุกแห่ง
ที่แน่ๆ แม้จะเรียนไม่สูง ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในแต่ละวันและไม่เคยท่องโลกกับใครเขา แต่เธอก็มีแนวคิดที่เฉลียวฉลาดและน่าเลียนแบบมากๆ เช่น
“ง่ายที่จะคืนเงินที่ขอยืมมา แต่ยากที่จะตอบแทนความชื่นชม” (เฉินซู่จวี๋ ให้เหตุผลที่เธอไม่ยอมออกสื่อ แม้ว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ธุรกิจของเธอให้ฟรีๆ)
“ใช้เท่าที่จำเป็น แล้วคุณจะเก็บเงินได้อีกเยอะเชียว” (เธอตอบเมื่อมีคนสงสัยว่าเหตุใดแม่ค้าขายผักจึงมีเงินบริจาคเป็นล้านๆ)
“ปรัชญาชีวิตของฉันนั้นเรียบง่าย คือ ถ้าทำไปแล้วรู้สึกแย่ แปลว่ากำลังทำสิ่งที่ผิด แต่ถ้าทำแล้วมีความสุข แปลว่าฉันกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนคนอื่นจะพูดว่าอย่างไรนั้น ไม่สำคัญเลย”
ถึงแม้เฉินซู่จวี๋ในวัย 68 ปี จะเลิกอาชีพแม่ค้าขายผักตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วเพราะล้มป่วย แต่เรื่องราวของเธอยังอยู่ในความทรงจำ และเป็นเครื่องยืนยันว่า แม้จะเป็นคนไม่สำคัญหรือเป็นคนตัวเล็กๆ ก็ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้จริงๆ
Secret Box
ฉันสะสมความดีแทนที่จะสะสมความมั่งคั่ง
เพราะชีวิตนั้นแสนสั้นและไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไร
– เฉินซู่จวี๋
ที่มา นิตยสาร Secret
เรื่อง Violet
ภาพ wikipedia, womenyeah.com