แอ่วเมืองเหนือ เสริมมงคลชีวิต

แอ่วเมืองเหนือ เสริมมงคลชีวิต

ภาคเหนือนับเป็นภูมิภาคขวัญใจนักท่องเที่ยวหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างประเทศ เนื่องจากเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดใจมากมาย และอากาศก็ยังเย็นสบายกว่าภาคอื่นๆ อีกด้วย แต่ก่อนจะไปเที่ยวให้สุขกาย Secret ขอแนะนำให้เพิ่มความสุขทางใจกันเสียก่อน ด้วยการแวะสักการะสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เพื่อเสริมสิริมงคลให้ชีวิต เพิ่มสติตลอดการเดินทาง

ท่องแหล่งกำเนิดพุทธศิลป์ยุคทองแห่งพุทธศาสนา ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ.สุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2534 ภายในมีโบราณสถานสำคัญที่น่าชมและแวะสักการะมากมาย เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช วัดมหาธาตุ วัดตระพังเงิน วัดศรีชุม กำแพงเมืองสุโขทัย เป็นต้น โดยจะแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ชั้นใน (ภายในกำแพงเมือง) อุทยานประวัติศาสตร์ชั้นนอกทิศเหนือ (วัดศรีชุม) และอุทยานประวัติศาสตร์ชั้นนอกทิศตะวันตก (วัดตะพานหิน)

ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 700 ปีก่อน สุโขทัยคืออดีตราชธานีที่รุ่งเรือง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ภาษา
ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และยังเป็น ศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งเป็นยุคที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก
หากใครมีเวลาว่าง ไม่อยากให้พลาดทริปนี้เป็นอันขาด เพราะนอกจากจะได้ชื่นชมความงดงามของโบราณสถานและโบราณวัตถุอันเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราแล้ว ยังจะได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมการเมืองและความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการที่ผู้คนมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้สงบนั้น สามารถสร้างบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและงดงามได้มากเพียงใด

 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุโขทัย เปิดให้ เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเวลา 18.00 น.)

หมายเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. จะมีการส่องไฟชมโบราณสถาน

กรณีเข้าชมเป็นหมู่เป็นคณะ และต้องการวิทยากรนำชม หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โทร. 0-5569-7310

เรื่อง ลออรัตน์ ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

อ่านหน้าถัดไป

นมัสการพระธาตุช่อแฮ ปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองแพร่

พระธาตุช่อแฮ ตั้งอยู่บนดอยขนาดย่อม ในบริเวณวัดพระธาตุช่อแฮ นอกจากจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวแพร่แล้ว ยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีขาลอีกด้วย

ตามพระราชพงศาวดารกรุงสุโขทัยเล่าถึงความเป็นมาของพระธาตุช่อแฮไว้ว่า เมื่อครั้งพระมหาธรรมราชาลิไททรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย (พ.ศ.1879 – 1881) ได้โปรดฯให้สร้างสถานที่สำคัญๆ ทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติขึ้นในเขตหัวเมืองต่างๆ และได้เลือก ดอยโกสิยะที่เมืองแพร่ให้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

ขุนลัวะอ้ายก้อม เป็นผู้นำพระเกศาธาตุและพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระศอกซ้ายที่ได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท ไปบรรจุไว้ในท้องสิงห์ทองคำ แล้วจึงสร้างเจดีย์ครอบไว้เหนือยอดดอยโกสิยะแห่งนี้

คำว่า “ช่อแฮ” นั้นมาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก้อมนำมาถวาย แต่บางกระแสเชื่อว่า น่าจะเกิดจากการเพี้ยนเสียงจาก “แพร” เป็น “แฮ”

สักการะพระธาตุช่อแฮ

ก่อนจะเดินขึ้นดอยควรแวะนมัสการพระเจ้านอนซึ่งเป็นพระพุทธรูปนอนศิลปะพม่า อัฐิครูบาศรีวิชัย ผู้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2467 เสียก่อน จากนั้นจึงเดินขึ้นบันไดนาคเพื่อไปสักการะองค์พระธาตุช่อแฮ

สำหรับคนเกิดปีขาล เชื่อกันว่า หากนำผ้าแพรเนื้อดีหรือผ้าแพรสามสีไปสักการะบูชาองค์พระธาตุช่อแฮ จะทำให้ชีวิตมีความผาสุกมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน ส่วนเครื่องบูชาประกอบอื่นๆ เช่น รูปปั้นเสือ จะช่วยเสริมพลัง คุ้มครองภัย และป้องกันศัตรูได้

ชาวล้านนาเชื่อว่า ทุกคนมีพระธาตุประจำปีเกิด ครั้งหนึ่งในชีวิตจึงควรมีโอกาสได้เดินทางไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ทำให้มีชีวิตยืนนาน รวมถึงหากสิ้นชีพไป ดวงวิญญาณจะได้กลับไปสถิตยังพระธาตุองค์นั้น ไม่ต้องเร่ร่อนไปทุคติภูมิอื่นๆ

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ / ภาพ อนุพงศ์ เจริญมิตร

 

เสริมสิริมงคลชีวิต ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ถือเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของภาคเหนือ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา

เดิมที่ดินบริเวณวัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นตลาด เรียกว่า กาดลีเชียง (กาด หมายถึง ตลาด) ในประวัติเล่าว่า พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้สร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของ พญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีกสองปีจึงสร้างพระอารามเสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียง” ตามชื่อตลาด

ระหว่างปี พ.ศ. 1931 – 1954 สมัย พระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงรายไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก เมื่อขบวนช้างอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาถึงหน้าวัดลีเชียงก็เกิดติดขัดชักลากต่อไปไม่ได้ พระเจ้าแสนเมืองมาจึงให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงประดิษฐาน ณ วัดลีเชียง ประชาชนทางเหนือเรียก “พระพุทธ-สิหิงค์” ภายหลังชื่อกร่อนเป็น “พระสิงห์” จึงเรียกชื่อวัดตามพระพุทธรูปว่า “วัดพระสิงห์”

ตั้งแต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์ พระคู่บ้านคู่เมืองของสยามประเทศ

พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่กษัตริย์ลังกาได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 700 ได้อัญเชิญเข้ามาสู่ประเทศสยาม ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงฉะนั้นจึงนับว่าพระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศอย่างแท้จริง ในเมืองไทย พระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่าพระพุทธสิหิงค์นั้นมีอยู่ 3 องค์ คือ

1. ประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

2. ประดิษฐานอยู่ในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

3. ประดิษฐานอยู่ในหอพระพุทธสิหิงค์ ข้างศาลากลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระพุทธสิหิงค์เชียงใหม่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หล่อด้วยสัมฤทธิ์ปิดทองคำเปลว หน้าตักกว้าง 40 นิ้ว เป็นศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ในตำนานนั้นพระพุทธสิหิงค์ได้เดินทางไปประดิษฐานยังเมืองสำคัญต่างๆ เช่น พระนครศรีอยุธยาสุโขทัย กำแพงเพชร และได้กลายมาเป็นพระคู่เมืองเชียงใหม่ในพุทธศตวรรษที่ 20

เรื่อง ลออรัตน์ / ภาพ วรวุฒิ วิชาธร

 

บทความที่น่าสนใจ

เที่ยววัดเก่าตามรอยหลวงปู่ทวด พร้อมชิมอาหารปักษ์ใต้กลางทะเลสาปสงขลา ณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา

ชวนเที่ยว 5 วัด ลดเครียด-ใจสงบวันหยุด

Secret คือแรงบันดาลใจ
สั่งซื้อนิตยสารหรือสมัครสมาชิก Secret ได้ที่ 0-2423-9889
ทาง Naiin.com : https://www.naiin.com/magazines/title/SC/

Posted in MIND
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.