หยุดอาการ ตื่นเช้า ปวดหัว แค่ปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน
เชื่อว่าหลายคนในที่นี้ต้องเคยเป็นกันอย่างแน่นอนค่ะ กับอาการ ตื่นเช้า ปวดหัว ที่ไม่ว่าจะนอนเยอะ หรือนอนจนพอแค่ไหน ร่างกายก็ยังคงประท้วงด้วยความงัวเงีย ไม่ยอมลุกออกจากที่นอนสักที วันนี้เราจึงมีเทคนิคดีๆ และวิธีง่ายๆ มาฝากทุกคนให้นำไปปรับใช้กันค่ะ
รู้จังหวะการนอนเพื่อให้ตื่นเช้าอย่างสดชื่น
ตลอดการนอนหลับ ร่างกายมีวงจรการนอนอยู่ 2 ระดับ คือ ช่วงหลับลึกและหลับฝันสลับกันไป ในช่วงหลับลึก ทั้งอวัยวะภายในและสมองจะอยู่ในสภาพพักผ่อน ต่างจากช่วงหลับฝันที่สมองยังคงทำงาน ฉะนั้น หากเราสามารถตื่นในช่วงหลับฝันได้ จะช่วยให้สมองไม่ทำงานหนักมากเกินไป โดยหลังจากนอนหลับไปแล้ว 6 ชั่วโมง หรือ 7-8 ชั่วโมง ก็สามารถตื่นได้ทันที
- ข้อแนะนำ : ใช้เครื่องมือคำนวณการนอนหลับเป็นตัวช่วย
การใช้อุปกรณ์ติดตามการนอนหลับ (Sleep Calculator) จะช่วยให้ทราบว่าวงจรการนอนของตัวเองเป็นอย่างไร หลับลึกและหลับฝันเท่าไหร่ และนอนหลับไปกี่ชั่วโมงจนกระทั่งตื่น
ใช้แสงแดดปลุกให้ตื่นแทนนาฬิกาปลุก
การใช้นาฬิกาปลุกช่วยให้ตื่นได้ตรงเวลาก็จริง แต่การสะดุ้งตื่นขณะที่ร่างกายกำลังอยู่ในสภาพผ่อนคลาย กลับกลายเป็นการสร้างภาระให้อวัยวะต่างๆ และสมอง เนื่องจากทุกส่วนยังไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับใช้งาน จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกหงุดหงิด เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก
การปล่อยให้ร่างกายตื่นเองตามธรรมชาติ โดยใช้แสงแดดยามเช้าเป็นตัวกระตุ้นแทน ช่วยให้ระบบประสาทอัตโนมัติ อุณหภูมิร่างกาย สมอง และหัวใจพร้อมทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดีกว่า การวางเตียงให้อยู่ใกล้กับหน้าต่างบานใหญ่เพื่อให้แสงส่องถึงได้ง่าย ติดม่านบางๆ กรองแสงไว้สักนิด แล้วปล่อยแสงแดดทำหน้าที่ของมัน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ตื่นเช้าได้อย่างสดใสแล้ว
- ข้อแนะนำ : ถ้าใช้ผ้าม่านหนาๆ ให้เปิดช่องไว้เล็กน้อย
หากใช้ผ้าม่านเนื้อหนา ก่อนนอนให้เปิดช่องไว้สัก 10 เซนติเมตร เพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามาได้พอดีๆ ไม่มากหรือน้อยเกินไป
ดื่มน้ำ 1 แก้ว ช่วยให้ตาสว่าง
การดื่มน้ำ 1 แก้ว หลังตื่นนอนจะช่วยให้ตาสว่าง และรู้สึกสดชื่นได้ทันที แม้การนอนหลับตลอดคืนร่างกายจะไม่ได้ทำงานหนัก แต่ก็ยังมีเหงื่อออก ฉะนั้น เมื่อตื่นนอน ร่างกายจะสูญเสียน้ำไปราว 200 มิลลิลิตร การเติมน้ำจึงเปรียบเสมือนกับการเปิดระบบทำงานของร่างกาย หากอยู่ในภาวะขาดน้ำ ระบบไหลเวียนโลหิตและการปรับอุณหภูมิร่างกาย จะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ จึงทำให้รู้สึกงัวเงียอยู่
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด เพราะทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายที่กำลังเพิ่มขึ้นหยุดชะงัก การทำงานของระบบเผาผลาญต่ำลง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ฉะนั้นควรดื่มน้ำที่ระดับอุณหภูมิห้องจะดีกว่า
- ข้อแนะนำ : น้ำดื่ม 1 แก้ว มีประโยชน์มากมาย
เมื่อเติมน้ำให้ร่างกาย เซลล์ต่างๆ ที่มีของเหลวเป็นส่วนประกอบหลักก็มีความสมบูรณ์ อีกทั้งยังกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้นด้วย
ตื่นเต็มตาด้วยการอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว
ถ้าอยากให้เช้าวันใหม่สดใส ไม่งัวเงียหลังลุกจากที่นอน ขอแนะนำให้เปิดน้ำอุ่นจากฝักบัวอาบให้ทั่วตัว เพื่อกระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้ทำงานเต็มที่ โดยตั้งอุณหภูมิน้ำไว้ราว 41 องศาเซลเซียส หรือแค่รู้สึกว่าอุ่นๆ ก็พอ เพราะหากใช้น้ำที่ร้อนเกินไป คงรู้สึกทรมานมากกว่า หลังอาบน้ำอุ่นเสร็จแล้ว ควรเปลี่ยนมาอาบน้ำอุณหภูมิปกติทันที และที่สำคัญต้องไม่ลืมดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนอาบน้ำ เพื่อชดเชยการเสียน้ำด้วย
- ข้อแนะนำ : เปิดฝักบัวให้แรงเต็มที่ไปเลย
เมื่อความร้อนจากน้ำอุ่นสัมผัสผิวหนัง จะปลุกระบบประสาทซิมพาเทติกให้ตื่นขึ้นทันที การเปิดฝักบัวให้น้ำพุ่งออกมาแรงๆ ยังช่วยให้กระบวนการดีขึ้นไปด้วย
ทำกิจกรรมชวนสนุกในทุกเช้า
ทั้งที่รู้ว่าการตื่นเช้าเป็นเรื่องดี แต่คงมีหลายคนอยากขดตัวนอนใต้ผ้าห่มมากกว่า ลองหากิจกรรมที่ทำในตอนเช้า เช่น รดน้ำต้นไม้ วิ่งจ๊อกกิ้ง ไปตลาดสด หรือแวะดื่มกาแฟร้านโปรดในบรรยากาศสบายๆ ไม่เร่งรีบ เป็นต้น มาเป็นตัวกระตุ้นให้อยากตื่นเช้ากันดีกว่า เพราะยิ่งตื่นเช้ามากเท่าไร ก็มีเวลาเหลือให้ทำกิจกรรมที่ชอบได้มากมายก่อนออกไปทำงาน แถมยังเดินทางสบายๆ ไม่ต้องเบียดเสียดกับใคร
เมื่อตื่นเช้าได้จนเป็นนิสัยแล้ว จะพบว่าสุขภาพกายและใจดีขึ้น มีพละกำลังพร้อมทำสิ่งต่างๆ มากมายโดยไม่รู้สึกเหนื่อยล้า พร้อมใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่
- ข้อแนะนำ : เมื่อมีความสนุกรออยู่ก็พร้อมจะตื่นเช้าอย่างสดใส
ถ้าวันไหนมีนัดเดต นัดช็อปปิ้ง หรือตีกอล์ฟกับเพื่อนสนิท ถือเป็นกิจกรรมสนุกๆ ที่ช่วยให้ตื่นเช้ากว่าปกติได้ ลองทำดู
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากหนังสือ : แค่นอนดี ก็ผอมได้ – Amarin Health
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- วิธีสร้างความสุข เติมพลังและกำลังใจ ด้วยการนึกถึงเรื่องดี ๆ ก่อนนอน
- สังเกตให้ดี 5 โรคที่อาจเกิดจากอาการ << ง่วงนอนบ่อยๆ>> อาจไม่ใช่แค่อิ่ม
- นอนน้อย ทำงานหนัก ควรดูแลสุขภาพอย่างไรดี
- นอนกรน อาการเริ่มต้นของโรคหยุดหายใจขณะหลับ ป้องกัน-รักษาได้ด้วยการปรับนิสัยการนอน