ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ b จะป้องกันได้อย่างไร
นับเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่มีการระบาดทุกปี สำหรับ ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ b นั้นอาจไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ a แต่คนไทยก็เป็นกันเยอะ วันนี้เราเลยนำคำแนะนำจากบทความของฐานข้อมูลออนไลน์ของกลุ่มงานเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลว่าควรรับมือกับโรคนี้อย่างไรดี
ทำความรู้จักกับไข้หวัดใหญ่กันก่อน
โรคไข้หวัดใหญ่จะมีการระบาดใหญ่เป็นประจำในช่วงฤดูหนาว เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ซึ่งมีอยู่ 3 ชนิดด้วยกันคือ ชนิดเอ บีและซี เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดซีนั้นพบน้อยในวงแคบและไม่รุนแรง ส่วนชนิดบีพบเฉพาะในคนไม่ค่อยทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นพบได้ในคนและสัตว์นานาชนิดสามารถก่อโรคได้รุนแรงและเป็นปัญหาของโลกเกือบทุกปีเพราะแพร่ระบาดในหลายพื้นที่
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นมีการแบ่งชนิดย่อย (Subtype) โดยพิจารณาจากดูจากไกลโคโปรตีนที่เปลือกหรือแคปซูลของไวรัส (Surface glycoprotein) ซึ่งประกอบไปด้วย ฮีแมกกูตินิน (hemagglutinin) และเอ็นไซม์นิวรามินิเดส (neuraminidase) โดยฮีแมกกูตินิน (hemagglutinin: H) ทำหน้าที่จับกับตัวรับ (receptor) บนเซลของเราทำให้เชื้อเข้าสู่เซลได้ ส่วนเอ็นไซม์นิวรามินิเดส (neuraminidase:N) เป็นเอ็นไซม์ย่อยไกลโคโปรตีนบนผิวเซลทำให้ไวรัสเป็นอิสระจากเซลและไปจับกับเซลอื่นและแพร่เชื้อต่อไป ในสัตว์มี H 15 ชนิดและ N 9 ชนิด แต่ในคนมี H 3 ชนิดคือ H1, H2, H 3 และ N 2 ชนิด คือ N1 และ N2 แต่สายพันธุ์ H5 และ H7 มีความรุนแรงสูงอาจแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ดังเช่น ไข้หวัดนก (Avian influenza: H5N1) ที่มีการะบาดอยู่ในบางพื้นที่ของประเทศไทย เป็นต้น
เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถกลายพันธุ์ได้ 2 ลักษณะคือ การกลายพันธุ์ทีละน้อยและเกิดขึ้นเป็นประจำตลอดเวลาอย่างช้าๆ (antigenic drift) และการกลายพันธุ์แบบฉับพลัน (antigenic shift) มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากของฮีแมกกูตินิน (hemagglutinin) และ / หรือ เอ็นไซม์นิวรามินิเดส (neuraminidase) ทำให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ การกลายพันธุ์ชนิดที่ 2 นี้จะทำให้คนทั่วไปไม่สามารถต้านโรคได้ มักทำให้เกิดการระบาดใหญ่ การกลายพันธุ์ทำให้เราเป็นไข้หวัดใหญ่ซ้ำได้อีกเรื่อยๆ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอนั้นสามารถกลายพันธุ์ได้ทั้งสองแบบ ในขณะที่ชนิดบีจะกลายพันธุ์เฉพาะแบบแรก ทำให้ไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอเกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายและควบคุมได้ยากกว่า
เชื้อเข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจ ซึ่งเชื้อโรคจะมาจากน้ำมูก น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย เมื่อมีการไอ จามทำให้เชื้อแพร่กระจายในอากาศ แล้วเราสูดเข้าไปในทางเดินหายใจและทำให้เกิดโรคภายใน 1-3 วัน นอกจากนั้นอาจติดต่อโดยการที่เราไปจับสิ่งของที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได แก้วน้ำ โทรศัพท์ เป็นต้นแล้วเรามาจับบริเวณใบหน้าเรา ทำให้เชื้อเข้าไปในร่างกายทางจมูกได้
โดยส่วนใหญ่โรคนี้ไม่ได้อันตรายร้ายแรงอันใดกับคนทั่วๆไป แต่ในผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจวาย เบาหวาน โรคไตวาย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น อาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนได้มาก เช่น เกิดปอดอักเสบติดเชื้อทั้งจากไวรัสไข้หวัดใหญ่เองหรือจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 20,000-50,000 รายทุกปี แต่อัตราการเสียชีวิตไม่ถึง 10 รายต่อปี โดยส่วนใหญ่ผู้ที่เสียชีวิตมักเป็นผู้ป่วยสูงอายุ
อาการของไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ซึ่งมักมีอาการมากในช่วง 3-4 วันแรก หลังจากนั้นอาจมี เจ็บคอ ไอแห้งๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล โดยทั่วไปมีอาการอยู่ประมาณ 7-10 วัน ผู้สูงอายุอาจมีอาการไม่ชัดเจน (atypical presentations) ได้บ่อย บางครั้งอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ซึมสับสนหรือการช่วยเหลือตนเองได้ลดลง
นอกจากนั้นยังมีการสำรวจพบว่าในช่วงฤดูหนาวมักมีผู้ป่วยที่มีอาการโรคเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองอุดตัน และผู้ป่วยที่เสียชีวิต โดยไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้น และผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีอาการเหล่านี้มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มาก่อน และการได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ สามารถลดการเกิดโรคดังกล่าวลงได้ครึ่งหนึ่ง จึงทำให้คิดว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จนทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดเกิดขึ้น
การรักษาเมื่อมีอาการไม่สบายแล้วก็เหมือนกับการรักษาไข้หวัดดังกล่าวแล้ว ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพรินลดไข้ เนื่องจากอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ ( Rye syndrome) ได้ สำหรับยากดการเพิ่มจำนวนของไวรัส ได้แก่ Amantadine, Rimantadine และ Neuraminidase inhibitors (oseltamivir และ zanamivir) นั้นมักไม่ต้องใช้และไม่ค่อยมีในโรงพยาบาลทั่วไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้และปัจจุบันไวรัสมีการดื้อยามากขึ้น ส่วนใหญ่ใช้ในรายที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง