สุญญตาทาน : ทานแห่งความว่างที่ไม่ต้องมีผู้ให้และผู้รับ โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเรื่อง ” สุญญตาทาน ” ไว้ใน “ทานกถา หลักปฏิบัติเกี่ยวกับทานบริจาค” ท่านแสดงธรรมนี้ไว้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2514 เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่อาจเข้าใจยากสักหน่อย เพราะเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้ง สลายความมีให้กลายเป็นความไม่มี แต่อย่างไรก็ตามสุญญตาทานเป็นทานประเภทหนึ่งที่ท่านพุทธทาสภิกขุอธิบายไว้อย่างน่าสนใจมาก
ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่า สุญญตาทานเป็นคำที่ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นศัพท์ที่ท่านตั้งขึ้นมา เป็นความสามารถเฉพาะตนที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของท่าน คือการเล่นคำกับความหมาย เพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในโลกียธรรม (ธรรมะระดับโลก) และโลกุตตรธรรม (ธรรมะระดับเหนือโลก)
โดยความหมายของ “ทาน” แปลว่า “ให้” มักมาคู่กับคำว่า “บริจาค” แต่ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวว่าตามจริงแล้ว ทาน และ บริจาค มีความหมายที่ต่างกัน บริจาค หมายถึง “การสละออกไปรอบด้าน” (จาคะ แปลว่า สละ ส่วนบริ แปลว่า รอบด้าน) ตรงข้ามกับคำว่า “ปฏินิสสัคคะ” แปลว่า “ให้คืน” หากเข้าใจความหมายศัพท์พระ 3 คำนี้ จะทำให้เข้าใจเรื่องสุญญตาทานได้ไม่ยาก
สุญญตาทานคือการบริจาคตัวกูของกูออกไปเสียให้หมด เป็นทานที่ไม่ต้องการปฏิคาหกคือไม่ต้องการผู้รับทาน และในทางกลับกันทานนี้ไม่ต้องมีผู้ให้ทานเช่นกัน หากทำทานนี้สำเร็จจะปราศจากตัวกูของกูอย่างแน่นอน พอนึกถึงคำว่า บริจาค ขอให้คิดว่า “เป็นการผลักออกไป หรือซัดออกไปให้ไกล ๆ “ เอาออกไปเพื่อให้เกิดความว่างขึ้น
ท่านพุทธทาสภิกขุแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติสุญญตาทานไว้ 4 ขั้นด้วยกันดังนี้
ขั้นที่ 1 เรียกว่า “สละมานะทิฏฐิ” หมายถึง “สละความไม่ยอมคนอื่น หรือความจองหองออกไป” ขั้นที่ 2 เรียกว่า “สละอัตตนียา” หมายถึง “สละความเห็นแก่ตัว” เห็นว่าเป็นของกู ๆ ลองนึกเสียงของนกเขาที่พ้องกับคำว่า “ของกู” ดูสิ “ของกู ๆๆๆๆๆๆ” แล้วลองคิดดูว่าถ้าเอาแต่คิดและพูดแบบนี้ก็ไม่ต่างจากคนบ้า ขั้นที่ 3 เรียกว่า “สละอัสมิมานะ” หมายถึง “ตัวกูละตัวกู” ตรงกับ “จิตที่ตื่นรู้ละอัตตา”
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป