5 วิธีอินกับความตาย เข้าใกล้นิพพาน โดย พระไพศาล วิสาโล
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้แนะนำ วิธีอินกับความตาย ซึ่งเป็นการซ้อมตายในโอกาสต่าง ๆ ฝึกใจให้ละวางตัวตน หลุดพ้นจากความหลง ไว้ดังนี้
1. ซ้อมตายก่อนนอน
ก่อนนอนทุกคืนทำใจให้ผ่อนคลาย จินตนาการว่าคืนนี้อาจเป็นคืนสุดท้ายในชีวิตของเรา ลมหายใจของเรากำลังจะหมด ร่างกายแน่นิ่งขยับเขยื้อนไม่ได้ ตัวเริ่มเย็นและแข็ง ใช่แต่เท่านั้น เรายังต้องสูญเสียทุกอย่าง ไม่ว่าคนรัก พ่อแม่ ลูกหลาน ชื่อเสียง ทรัพย์สมบัติ ฯลฯ จากนั้นถามตัวเองว่า “เราพร้อมไหมที่จะไปในคืนนี้…ถ้าไม่พร้อมแล้วทำอย่างไรถึงจะพร้อม” การพิจารณาดังกล่าวจะทำให้เราตื่นขึ้นมาในวันรุ่งขึ้นด้วยความไม่ประมาท และไม่รีรอที่จะสะสางเรื่องราวที่คั่งค้าง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมตายในทุกวินาทีของชีวิต
2. ซ้อมตายก่อนเดินทาง
เวลาเดินทางหรือนั่งอยู่ในยวดยานพาหนะ ให้นึกว่าเราอาจประสบอุบัติเหตุกลางทาง ออกจากบ้านแล้วอาจจะไม่ได้กลับเข้ามาอีกก็เป็นได้ นี่อาจเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของเรา
จากนั้นถามใจตัวเองว่า ถ้าเกิดเหตุเครื่องบินตก รถชน หรือพลิกคว่ำ ในช่วงเวลาไม่กี่วินาทีสุดท้ายของชีวิต เราจะรู้สึกอย่างไร จะวางใจอย่างไร จะตระหนกตกใจไหม จะกังวลถึงคนข้างหลังหรือไม่…
ถ้าคำตอบคือ ตระหนกตกใจ ห่วงหน้าพะวงหลังและยังไม่พร้อมจะตาย เราต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมตัวเตรียมใจ เพื่อเผชิญความตายอย่างสงบให้จริงจังมากขึ้น
3. ซ้อมตายเมื่อเสียของรัก
ทุกครั้งที่สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง เช่น ถูกขโมย ของเสียใช้การไม่ได้ เราควรใช้โอกาสนี้เตือนใจตัวเองว่า ความพลัดพรากเป็นธรรมดาของชีวิต ไม่มีอะไรที่เป็นของเราอย่างแท้จริง ถ้าเสียข้าวของเพียงเท่านี้ยังทำใจไม่ได้ เมื่อถึงวันที่เราต้องตาย ซึ่งหมายถึงความพลัดพรากจากทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต…เราจะทุกข์มากขนาดไหน
หรือจะใช้โอกาสนี้เตือนใจตัวเองก็ได้ว่า วันนี้เราเสียเงินแค่นี้ วันหน้าเราจะต้องเสียทั้งหมดที่มี เพราะความตายจะมาพลัดพรากไปหมด ดังนั้นจึงควรใช้เหตุการณ์นี้เป็นเครื่องฝึกใจให้ปล่อยวาง ถ้าหากเรา “สอบผ่าน” เหตุการณ์นี้ เราก็จะมีความพร้อมมากขึ้นในการเผชิญกับความตายซึ่งเป็นการสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต
4. ซ้อมตายเมื่อไปเยี่ยมไข้
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย ไม่ว่าจะป่วยหนักหรือป่วยเล็กน้อย ให้เราถือโอกาสใช้ผู้ป่วยเป็นครูที่สอนว่าความเสื่อมของสังขารนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่อาจบังคับให้แข็งแรงอยู่ตลอดไปได้
ฉะนั้น เราควรเตรียมตัวเตรียมใจเสียตั้งแต่วันนี้ เพราะความป่วยไข้ย่อมเกิดกับเราไม่วันใดวันหนึ่ง เมื่อถึงตอนนั้นเราจะได้รู้จักวางใจไม่ให้ทุกข์ รู้จักทำใจไม่ให้ป่วย แม้กายจะป่วยก็ตาม
5. ซ้อมตายเมื่อไปงานศพ
แม้ว่างานศพทุกวันนี้จะผิดเพี้ยนไป ไม่ค่อยเผยให้เห็นสัจธรรมของชีวิตเหมือนที่ผ่านมา แต่เราก็สามารถเจริญมรณสติได้ทุกครั้งที่ไปงานศพ โดยพิจารณาว่าผู้ที่อยู่ในหีบศพเบื้องหน้านี้ ครั้งหนึ่งก็เคยมีชีวิตเดินเหินเหมือนเรา วันหนึ่งเราก็ต้องไปนอนอยู่ในนั้นเหมือนเขา เขาคือครูที่สอนให้เราไม่ประมาทในชีวิต
จากนั้นให้เราลองจินตนาการถึงงานศพของตัวเอง ลองนึกดูว่าผู้คนที่รู้จักรักใคร่จะพูดถึงเราในแง่บวกหรือแง่ลบ การจินตนาการถึงงานศพของตัวเองเป็นการเตือนให้เราตื่นตัวและใคร่ครวญว่า…ชีวิตนี้เราทำความดีพอแล้วหรือยังนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าเราจะระลึกถึงความตายด้วยวิธีใด ที่ไหนและเมื่อไร การเจริญมรณสติจะไม่มีความหมายเลย หากเราเพียงแค่นึกคิดขึ้นมาอย่างสะเปะสะปะ โดยไม่ได้รู้สึกหรืออินไปกับมัน รวมทั้งไม่ได้เชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีคุณค่ามากขึ้น
มรณสติจะมีความหมายก็ต่อเมื่อกระตุ้นให้เรามุ่งมั่นที่จะใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท
มรณสติจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อกระตุ้นให้เราปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ละวางตัวตน ฝึกใจให้หลุดพ้นจากความหลงและความเพลิดเพลินทั้งหลาย
หากทำได้เช่นนี้ การเจริญมรณสติก็เป็นหนทางที่จะช่วยให้เราเข้าใกล้นิพพานได้…ในที่สุด
ที่มา นิพพาน…ที่นี่…เดี๋ยวนี้ โดย 4 พระผู้นำทางปัญญาแห่งยุคสมัย สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ
ในวิกฤตมีโอกาส ความตายก็เช่นกัน บทความธรรมะจาก พระไพศาล วิสาโล