เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม

ผลกรรมรังแกผึ้ง เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม จากหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม

ผลกรรมรังแกผึ้ง เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม จากหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมฺโม

บทความนี้ เรียบเรียงมาจาก เรื่องเล่ากฎแห่งกรรม ของหลวงพ่อจรัญ

เมื่อผมเป็นเด็กอายุประมาณ  12 ขวบ เข้าโรงเรียนแล้ว (รุ่นผมเข้าโรงเรียนอายุ 9 ขวบ ไม่เหมือนพวกท่านเข้าโรงเรียนกัน 4 ขวบ)

ผมมานึกถึงตัวเอง เมื่อครั้งอายุ 11-12 ขวบ ข้างบ้านผมเอง มีลุงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับโยมผู้หญิง เรียกชื่อว่า ลุงโปร่ง เรียกป้าสะใภ้ว่า ป้าเขียว มีพี่สาวของผมคนหนึ่งเป็นลูกสาวของลุงโปร่ง ชื่อ พี่สมบุญ สามีเขาเป็นคนอีสาน ชื่อ นายพรหม เป็นสามีคนที่สอง สามีคนที่หนึ่งชื่อ นายเกลี้ยง

พี่สมบุญยังไม่มีครอบครัว ผมก็โตเข้าโรงเรียนขั้นเตรียม ก็จำได้บ้างไม่ได้บ้าง พอมาทราบข่าวเรื่องนี้จากโยมละม้ายก็นึกได้ว่าเป็นความจริงอีกเช่นกัน…

มีผึ้งมาเกาะรังใหญ่ที่บ้านลุงผม บ้านอยู่ติดกัน วันนั้นเขาออกไปนอกบ้านเกือบหมด ลุงผมไปเลี้ยงควาย ป้าเขียนหาบของขายที่ตลาดบางขาม พี่สมบุญกำลังตั้งครรภ์ลูกคนที่สองก็ไปขายของด้วย เหลือแต่พี่เขยอยู่บ้าน ก็ชวนผมเอาไฟเผาผึ้ง เขาเป็นคนใช้เรา แต่เราก็เป็นเด็ก ไม่รู้ว่าเป็นบาปแต่ประการใด

ลุงกลับมาด่าแหลกเลย ลุงเป็นนักอุโบสถถือศีลกินบวช ด่า 3 วัน 3 คืน แต่ไม่ด่าผมหรอก ด่าลูกเขย เขาด่าไปด่ามาคว้าดาบตีกันเข้าแล้ว ฟันกันหัวร้างข้างแรก ตีกัน 3 วัน 3 คืน แล้วด่ากันแหลกไปอีก เพราะเหตุกฎแห่งกรรม

พี่สมบุญกับพี่เกลี้ยง เขาไม่ได้ทะเลาะกันนะ เขาไม่มีเรื่องอะไรเลยนะครับ แต่จำเป็นต้องจากบ้านไป เพราะพ่อตาคือลุงผมคว้าดาบฟันลูกเขย พี่เขยผมเลยบอกผมว่า น้องเอ๊ย! พี่อยู่ไม่ได้แล้วนะ ขอลา เป็นเพราะผึ้งนี่เอง ลุงด่า 3 วัน 3 คืน ด่าไม่พักจนลูกเขยอดกลั้นไม่ได้ ก็เถียงเข้าไปบ้าง ก็คว้าดาบฟันลูกเขย ผมอยู่ที่นั่นเห็นชัด ฝ่ายพี่สาวเขาก็บอกพ่อไปโทษพวกบ้านฉันทำไมเล่า พี่สาวเลยซัดทอดผมเข้าอีก บอกผมเป็นคนจุด สามีเขาไม่ได้จุด เลยไม่รู้จะโทษใครถูก เป็นกฎแห่งกรรมด้วยกันทั้งคู่

พี่เกลี้ยงก็เตรียมกระเป๋ากลับบ้าน ซึ่งบ้านอยู่ใต้วัดไชโยไป 5-6 ท่า เขาก็เลยไปได้ครอบครัวใหม่ ทั้ง ๆ ที่เมียเก่าไม่เคยทะเลาะกันเลย ต้องแยกกันไปเพราะกฎแห่งกรรม แต่ก็ไปมาหาสู่กัน ลูกออกมาชื่อนายสอน ตอนนี้ตายไปแล้ว ลุงผมเห็นหน้านายสอนนึกถึงลูกเขย ก็ด่าหลานแทน ในไม่ช้าลุงผมก็ตาย ตายอย่างน่าอเนจอนาถ นี่เป็นกฎแห่งกรรมชัด

ผมเองขึ้นอยู่ชั้น ป.4 ยังไม่ได้โกนเปีย มันเป็นกฎแห่งกรรมที่ผมไปเผาผึ้ง ไปวัดไหนงานที่ไหนโดนต่อยทุกงาน เคยถามเขาว่า “ลื้อมาต่อยอั๊วทำไม” เขาบอกว่า “กูคลื่นไส้มึง” ไปวัดตึกเด็กวัดรุ่นเดียวกันขับต่อยมาวัดศรัทธาภิรมย์ขับต่อยอีก มาวัดมะปรางต่อยอีก

ผมไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด มานึกได้ตอนบวช อ๋อ! เป็นกฎแห่งกรรมของเราเองที่เราไปเผาผึ้ง ผึ้งต่อยก็เอาเท้าขยี้ ยังเป็นเด็กก็ไม่ทราบไปไหนเลยถูกต่อยเรื่อย

นี่เป็นกฎแห่งกรรม ขอถวายในวันนี้ ต้องซัดเซพเนจร พี่น้องต้องระหองระแหงกันหาความสุขไม่ได้เลย จึงขอเรียนถวาย โปรดกรุณาอย่าไปทำผึ้งเลย ผึ้งมาอาศัย เขาจึงได้เอาขี้ผึ้งมาฟั่นเทียน นอกจากใช้ประกอบพิธีกรรมแล้ว ยังแฝงข้อคิดสอนธรรมะแก่เราว่า เราไปไหนต้องหาที่พึ่ง จุดเข้าแล้วมันร้อน น้ำตาไหลเลย

ร้อนคือราคะ ร้อนคือโทสะ ร้อนคือโมหะ มันมีน้ำตาไหลเห็นไหม ผึ้งคือเทียน ถ้ามันไม่ร้อนน้ำตามันจะไหลได้อย่างไรเล่า ไส้เทียนหมด ขี้ผึ้งหมด เราก็หาที่พึ่งกันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ผึ้งเป็นสัญลักษณ์ทำให้พึ่งพาอาศัยได้ ไปไหนหาที่พึ่งไว้เถอะ หาที่อยู่ที่พึ่งอาศัยเป็นปัจจัย 4 เราจะได้อยู่ดีกินดีมั่งมีศรีสุข ถ้าหากว่าไปอยู่บ้านเรือนใคร ถ้าเป็นอย่างนี้อย่าให้เขาทำ ห้ามไว้เถอะครับ เป็นบาปเห็นทันตา ลองดูถ้ามีผึ้งเกาะที่บ้านท่าน หากเอาไฟจุด ไม่ช้าหรอก ไม่เกิน 7 วัน 5 วัน จะเกิดมีเรื่องร้อนใจแย่เลย

 

เรียบเรียงจากหนังสือ กรรมและการแก้กรรม โดย กานต์ ชลอาภา


© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.