กระยาสารท

กระยาสารท ตำนานขนมไทยโบราณ พร้อมสูตรและวิธีทำ – A Cuisine

กระยาสารท

กระยาสารท เป็นขนมหวาน ของไทย มีหลักฐานว่าเป็นอาหารสมัยพุทธกาล แปลว่า “อาหารที่ทําให้ฤดูสารท” ซึ่งทำจากถั่วลิสง งา ข้าวคั่ว มาผัดกับน้ำตาล เป็นอาหารตามประเพณีโบราณ มักจะทำกันมากในช่วงสารทไทย คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เพื่อทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง…แต่ยังขนมโบราณชนิดนี้ยังมีประวัติที่น่าสนใจอีกมาก ตามแอดมาเลยค่ะ…

 

ประวัติการทำกระยาสารท

อดีตเมื่อถึง เทศกาลสารทไทย จะมีการกวนกระยาสารทแข่งกันเป็นที่สนุกสนาน และตามธรรมเนียมแล้ว คนรุ่นเก่าจะนิยมนำกระยาสารท ซึ่งถือเป็นขนมชั้นดีไปมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ หรือแลกกันกินเป็นการประชันฝีมือกันอีกด้วย และถ้าจะกินกระยาสารทให้ครบเครื่องจริงๆ จะต้องมีมะพร้าวขูดโรยบนกระยาสารทแล้วกินคู่กับกล้วยไข่

การทำบุญในเทศกาลสารทนี้ ทั่วทุกภูมิภาคของไทยจะทำบุญวันสารทไทยเหมือนกัน แต่เรียกชื่อต่างกันไป ในภาคใต้เรียก “ประเพณีชิงเปรต” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียก “ทำบุญข้าวสาก” ภาคเหนือเรียก “ตานก๋วยสลาก”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเรียกชื่อแตกต่างกันอย่างไร คติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือ ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ปู่ย่าตายายและญาติมิตรทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง

พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต วัดราชบุรณราชวรวิหาร และผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ฝ่ายกิจการต่างประเทศ บอกว่า ในทานพระพุทธศาสนาได้บันทึกไว้ในอรรถกถาเมตตาภาวสูตรบทที่ว่า สรทสมเย ได้แก่ ในสารทกาล (ฤดูใบไม้ร่วง) เดือนอัสสยุชะ (เดือน ๑๑) และเดือนกัตติกะ (เดือน ๑๒) ท่านเรียกฤดูสารทในโลก (พระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๑ ภาค ๔)

จึงเป็นอันสรุปได้ว่า “สารทเป็นฤดูกาลแห่งการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารช่วงปลายฤดูฝนเริ่มเข้าต้นฤดูหนาว โดยเหตุที่ความเชื่อของชาวอินเดียผูกพันอยู่กับเทพเจ้าในธรรมชาติ ดังนั้นเมื่อได้ผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวคราวแรก จึงนำไปบวงสรวงบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน ซึ่งความเชื่อเช่นนี้ คงมีอยู่ทั่วไปในสังคมบรรพกาลทั่วโลก”

สารท (สาด) นี้ เป็นคำที่เรายืมอินเดียมาใช้ทั้งคำ แต่อินเดียจะออกเสียงว่า สา-ระ-ทะ และไม่ได้ใช้เรียกเฉพาะวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อของฤดูกาลในประเทศอินเดียอีกด้วย ซึ่งจะตกอยู่ในช่วงเดือน ๑๐-๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติของที่ทําในเทศกาลสารทถวายพระสงฆ์นี้ เรียกว่า “กระยาสารท” แปลว่า “อาหารที่ทําให้ฤดูสารท” กระยาสารทนี้คงจะเนื่องมาจากข้าวมธุปายาส ซึ่งเป็นอาหารของชาวอินเดีย ใช้ข้าว น้ำตาล น้ำนม ผสมกัน และไม่กําหนดว่าทําเฉพาะฤดูสารทบางทีเขาทํากินกันเอง เช่น ที่นางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้าก็เป็นเวลาเดือนหก

เฉพาะในประเทศไทย ที่ได้รับอิทธิพลความเชื่อจากอินเดียผ่านอารยธรรมยุคต่างๆ ในภูมิภาคแถบอุษาคเนย์นี้ ก็คงเลือกรับปรับประยุกต์เข้ามาเป็นวิถีในการดำเนินชีวิตบ้างไม่มากก็น้อย กระทั่งเมื่อประชาชนได้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามากขึ้นการเซ่นสรวงบูชาเทพเจ้าด้วยผลผลิตจากการเพาะปลูกจึงเคลื่อนตัวมาเป็นการทำบุญถวายทาน ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา แต่ถึงกระนั้นก็มิได้หมายความว่า ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าในธรรมชาติจะหมดไปเสียทีเดียว ดังจะพบได้จากพิธีกรรมเกี่ยวกับแม่โพสพ เช่น การทำพิธีรับขวัญข้าว เป็นต้น

“ผู้ที่เคยนับถือศาสนาพราหมณ์แล้วกลับมานับถือพระพุทธศาสนา เมื่อถึงคราวที่เคยทําบุญตามฤดูกาลให้แก่พราหมณ์ก็จัดทําถวายพระสงฆ์เหมือนที่เคยทําแก่พราหมณ์ ถือกันว่า ารทําบุญด้วยของแรกได้เป็นผลานิสงส์อย่างยิ่ง และเมื่อทําบุญแล้ว มักจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว การทําพิธีอุทิศให้แก่ผู้ตายของชาวฮินดูเรียกว่า ศราทธ์เสียงเหมือนกับคําว่า สารท ในภาษาไทยซึ่งเป็นชื่อฤดู” พระมหาสุเทพกล่าว

สูตรและวิธีทำ กระยาสารท คลิก!

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.