พญาช้างปาลิเลยกะ ผู้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
หากพูดถึง ” พญาช้างปาลิเลยกะ ” หลายท่านอาจงงและไม่คุ้นชื่อของพญาช้างเชือกนี้เท่าไหร่นัก แต่หากบอกว่า ” ป่าเลไลยก์ ” ชื่อปางหนึ่งของพระพุทธรูปที่มีช้างและลิงอยู่ด้วย ก็คือชื่อของพญาช้างเชือกนี้เหมือนกัน แต่อาจเพี้ยนไปบ้าง เพื่อให้เข้ากับการออกเสียงของคนไทย หลายคนคงถึงบางอ้อตาม ๆ กัน มาทำความรู้จักกับพญาช้างเชือกนี้กันว่ามีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร
ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ในกรุงโกสัมพี ได้เกิดเรื่องวิวาทขึ้นระหว่างพระภิกษุชาวโกสัมพี 2 รูป พระภิกษุในโฆสิตารามต่างแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เรียกได้ว่าเป็น “สังฆเภท” เรื่องวิวาทนี้เกิดขึ้นจากการที่พระภิกษุผู้เป็นนักเทศน์ ในคัมภีร์เรียกท่านว่า “พระธรรมกถึก” ได้เข้าส้วมพอเสร็จกิจแล้วก็ตักน้ำเพื่อจะราดทำความสะอาดสิ่งปฏิกูล แต่ท่านราดน้ำไม่หมดภาชนะ เมื่อพระภิกษุอีกรูปเป็นผู้เคร่งในพระวินัยมาก จึงได้ชื่อว่าเป็น “พระวินัยธร” เข้ามาใช้ส้วมต่อ เมื่อเห็นว่าน้ำในภาชนะเหลือ จึงกล่าวต่อพระธรรมกถึกว่า
“ท่าน ! การที่ท่านเหลือน้ำไว้ในภาชนะเช่นนี้เป็นอาบัตินะ”
พระธรรมกถึกตอบกลับว่า “กระผมไม่ทราบ ต้องขอโทษด้วย การไม่ทราบและไม่เจตนาคงไม่อาบัติหรอกขอรับ”
“ท่านไม่ทราบก็ไม่เป็นไร แต่อย่างไรก็อาบัติอยู่ดี เพราะผิดพระวินัยที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้”
พระวินัยธรว่าตามพระวินัยที่พระบรมศาสดาบัญญัติ พระธรรมกถึกก็ไม่ยอมรับว่าตนอาบัติ ทำให้เรื่องที่ไม่ต่างจากน้ำผึ้งหยดเดียวขยายกลายเป็นเรื่องใหญ่ พระภิกษุในโฆสิตารามต่างแบ่งฝ่ายเข้าข้างพระอุปัชฌาย์ของตน ในคัมภีร์กล่าวว่าแม้กระทั่งมนุษย์ เทพ และพรหมที่ทราบเรื่องนี้ยังแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และเกิดการถกเถียงกันว่าพระธรรมกถึกผู้นี้อาบัติ หรือไม่อาบัติกันแน่
เรื่องนี้ทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เสด็จมาห้ามปรามด้วยพระองค์เอง ตรัสห้ามถึง 3 ครั้ง พระภิกษุก็ไม่ยอมลดละทิฐิต่อกัน พระองค์จึงตรัสเล่าชาดกที่แสดงถึงความสามัคคี เช่น วัฏฏกชาดก (นกกระจาบแตกความสามัคคี) เป็นต้น หวังให้พระภิกษุเหล่านั้นเห็นถึงคุณแห่งความสามัคคี พระภิกษุทั้งหลายก็ยังคงไม่เข้าหากัน ยังคงแยกกันฉันและทำสังฆกรรมอยู่ดี
เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตัดสินพระทัยเดินทางไปจำพรรษที่ป่ารักขิตวัน ระหว่างทางที่พระองค์เสด็จผ่าน ทรงพบผู้ใดก็จะตรัสแสดงธรรมเรื่องความสามัคคีเสมอ เมื่อพระองค์เสด็จถึงป่ารักขิตวันแล้ว ทรงเลือกควงไม้สาละเป็นที่ประทับ ซึ่งในที่ตรงนั้นเป็นที่อาศัยของพญาช้างชื่อว่า “ปาลิเลยกะ” หรือ “ปาเลไลยก์” พญาช้างตนนี้จึงคอยอุปฐากพระบรมศาสดา
เมื่อพุทธศาสนิกชนชาวโกสัมพีทราบว่า พระภิกษุในโฆสิตารามเป็นเหตุให้พระผู้มีพระภาคเจ้าต้องเสด็จไปประทับที่ป่ารักขิตวัน ทำให้พวกเขาเลิกใส่บาตรพระภิกษุวัดนี้ ทำให้พระภิกษุไม่มีอาหารกิน สุดท้ายก็ต้องอดอยากกันทั้งวัด อุบาสกคนหนึ่งกล่าวว่า หากพวกท่านไปขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้าและเชิญพระองค์กลับมา พวกข้าพเจ้าจึงกลับมาใส่บาตรพวกท่านตามเดิม
ด้วยว่าช่วงนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษาพอดี ตามพระวินัยห้ามพระภิกษุเดินทางไปไหนมาไหน ต้องให้พ้นช่วงเข้าพรรษาไปก่อน พระภิกษุชาวโกสัมพีจึงไม่สามารถเดินทางไปขอขมาพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ป่ารักขิตวันได้ พระภิกษุชาวโกสัมพีจึงต้องอดอยากและทรมานไปตลอดเข้าพรรษา
ขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่ป่ารักขิตวัน พญาช้างได้รับใช้พระองค์เป็นอย่างดี ใช้งวงของมันสีไม้เพื่อให้เกิดไฟ เพื่อก่อขึ้นเป็นกองไฟเพื่อถวายความอบอุ่นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าในตอนกลางคืน ยังเดินตรวจตราไม่ให้ใครเข้ามาทำร้ายพระองค์ในขณะที่บรรทม รุ่งเช้าก็จัดเตรียมน้ำสรงพระพักตร์ และน้ำบ้วนพระโอษฐ์ถวาย
วานรตัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ เห็นพญาช้างดูแลพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างดี ตนก็อยากปรนนิบัติพระพุทธเจ้าบ้าง จึงนำรวงผึ้งมาถวาย ครั้งพระองค์รับรวงผึ้งนั้นแล้ว ทรงเอาตัวอ่อนของผึ้งที่อยู่ในรวงผึ้งออกแล้วเสวย วานรเห็นดังนั้นก็ดีใจกระโดดโลดเต้นใหญ่ แต่แล้วก็ผลัดต้นจากกิ่งไม้มาถูกตอไม้แหลมเสียบจนเสียชีวิต แต่ความสุขในการถวายรวงผึ้งนั้นทำให้วานรตัวนี้ไปเกิดเป็นเทพบุตร
เมื่ออนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกาทราบว่า ตลอดเข้าพรรษานี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ป่ารักขิตวัน ทำให้สองท่านเป็นห่วงพระองค์อย่างมาก เกรงว่าพระองค์จะเป็นอันตราย เพราะไม่มีพระภิกษุคอยอุปฐากดูแล จึงเข้าไปพบพระอานนท์ที่พระเชตวัน พระอานนท์รับอาสาไปตามพระผู้มีพระภาคเจ้ากลับมา เมื่อพระภิกษุในโฆสิตารามทราบว่าพระอานนท์จะเดินทางไปหาพระบรมศาสดาจึงขอติดตามไปด้วย เมื่อถึงชายป่ากลับขอพระอานนท์ว่าพวกตนจะรออยู่ด้านนอก จึงมีพระอานนท์เพียงรูปเดียวที่เข้าไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้า
พญาช้างเห็นว่ามีคนแปลกปลอมเข้ามาก็วิ่งพุ่งเข้าใส่หมายจะทำร้ายพระอานนท์ พระพุทธเจ้าทรงเห็นพอดีจึงตรัสห้ามพญาช้างอย่าสังหารพระอานนท์ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ พระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐาก (ผู้ดูแล) พญาช้างสังเกตการดูแลพระผู้มีพระภาคเจ้าจากพระอานนท์ ประดุจเด็กน้อยจ้องมองเพื่อจดจำการกระทำของผู้ใหญ่
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพระอานนท์ถึงพระภิกษุในโฆสิตารามว่าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง พระอานนท์ทูลว่าตอนนี้พระภิกษุเหล่านั้นได้ติดตามมาด้วย แต่รออยู่ที่ชายป่า ไม่กล้าเข้ามาพบพระบรมศาสดาเพราะละอายที่เป็นต้นเหตุทำให้พระองค์เสด็จมาประทับอยู่ที่นี่
พระบรมศาดาจึงตรัสให้พระอานนท์เชิญพระภิกษุเหล่านั้นเข้ามาพบพระองค์ได้ และพระภิกษุทั้งหลายก็กราบขอขมาทั้งทูลเชิญให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับไปแดนมนุษย์ พราะพระองค์จะทรงลำบากไม่มีใครคอยอุปฐาก พระบรมศาสดาจึงกล่าวว่า “ขณะที่ประทับอยู่ที่นี่พญาช้างเชือกนี้ได้ดูแลเราเป็นอย่างดี และการเป็นผู้เที่ยวไปเพียงคนเดียวประเสริฐกว่า (น่าจะทำนองว่าอยู่คนเดียวสบายใจกว่า)” พระอานนท์เห็นว่าพระบรมศาดาตรัสเช่นนี้จักไม่เสด็จกลับอย่างแน่นอนจึงกล่าวว่า “ข้าแต่พระองค์ อนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นห่วงพระองค์ ได้ฝากข้าพเจ้าว่า ขอร้องให้พระองค์เสด็จออกไปจากป่าแห่งนี้เถิด พระเจ้าข้า”
ดังนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงรับคำขอของอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามหาอุบาสิกา พระองค์ทรงมอบบาตรและเครื่องอัฏฐบริวารแก่พระภิกษุช่วยถือ ขณะที่พระองค์กำลังออกจากป่าแห่งนี้ไปพร้อมกับพระภิกษุทั้งหลาย พญาช้างได้เข้ามาขวางทาง ทำให้บรรดาพระภิกษุตื่นตกใจ พระพุทธองค์ทรงสามารถทราบวาระจิต อ่านใจสรรพสัตว์ได้จึงตรัสว่า “พญาช้างแค่ต้องการใส่บาตรพวกเราเท่านั้น” พญาช้างได้นำผลไม้มาถวายพระพุทธองค์และพระภิกษุมากมาย จากนั้นคณะของพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุได้เคลื่อนออกไปจากป่ารักขิตวัน
พญาช้างยังคงเดินตามอยู่ข้างหลังคณะของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความอาลัยอาวรณ์ในพระผู้มีพระภาคเจ้าจนออกมาพ้นป่า พระพุทธองค์ตรัสห้ามและกล่าวว่า “ที่แห่งนี้ไม่ใช่บ้านของเธอ ขอให้เธอกลับไปอยู่ป่าของเธอเถิด” พญาช้างเสียใจมากและสิ้นลมลงในที่สุด ด้วยอานิสงส์ที่คอยดูแลพระบรมศาสดาส่งผลให้เกิดเป็นเทพบุตรมีชื่อว่า “ปาลิเลยกเทพบุตร”
ที่มา :
อรรถกถา คาถาธรรมบท เรื่องภิกษุชาวโกสัมพี
ภาพ :
บทความน่าสนใจ
เมื่อ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้พบพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก
นางมาคันทิยา สตรีผู้ตามจองล้างจองผลาญ พระพุทธเจ้า
แม้ข้าวเพียงทัพพีเดียวก็เป็นบุญ พระพุทธเจ้าสอน ญาติพระสารีบุตร เรื่องการทำบุญ
อนัตตา สภาวธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า เราทั้งหลายไม่ควรยึดติด
เจ้าหญิงกิสาโคตมี อีกหนึ่งสตรีผู้อยู่เบื้องหลังการ ตรัสรู้ ของพระพุทธเจ้า
ฤาจะถึงกาล? 5 อนาคตภัยของ ศาสนาพุทธ ที่พระพุทธเจ้าทรงเตือนเอาไว้
ไม่ทำบุญก็เป็นเทวดาได้ ด้วยอานิสงส์แห่งการเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
สุนทรีนันทา พระขนิษฐาแห่งพระพุทธเจ้า ผู้หลงใหลในความงามว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อมาร รบกวนเวลา บรรทมของพระพุทธเจ้า และเทวดาเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการ
ถือศีลแล้วรวยจริงหรือ ? คำสอนเรื่องศีลของพระพุทธเจ้าที่ไม่ควรมองข้าม