ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งแดนใต้ “พญ.นันทกา เทพาอมรเดช”
เมื่อไม่นานมานี้ในงานประกาศผลและมอบรางวัล “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562 ผลปรากฏว่า บุคคลที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ได้แก่ แพทย์หญิงนันทกา เทพาอมรเดช ศัลยแพทย์ผู้เสียสละแห่งแดนใต้ เรามาทำความรู้จักคุณหมอกันดีกว่าค่ะ จากบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึกงานประกาศรางวัล”ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ครั้งที่ 16 ประจำปี 2562
ทำไมถึงเลือกเป็นหมอศัลยกรรมประสาท
ตอนที่เลือกเรียนศัลยกรรมเพราะอยากเรียน เมื่อก่อนหมอก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นหมอผ่าตัด ตั้งใจว่าจะเรียนหมออายุรกรรม เพราะตัวเองเป็นคนตัวเล็ก แต่หมอศัลยกรรมจะเป็นคนตัวใหญ่ ๆ พอเราเป็นนักศึกษาแพทย์ต้องเข้าช่วยผ่าตัดศัลยกรรม ตัวเราก็เล็ก ต้องเข้าไปยืน เข้าไปดึง เครื่องมือก็ดึงไม่ไหว อาจารย์เลยบอกว่า เอ้า ไป ๆ ๆ ออกไป คือหมอคงรำคาญที่ตัวเล็ก ไม่ได้ช่วยผ่าตัดในเคสนั้น เลยรู้สึกว่าเราไม่เหมาะกับหมอศัลยกรรมผ่าตัด
พอรู้ตัวเองไม่เหมาะกับหมอศัลยกรรม ก็เลยอยากทำอายุรกรรมรักษาคนไข้ด้วยการใช้ยาดู แต่ยัง ชอบระบบประสาทตรงที่หมอรู้สึกว่ามันไม่ยาก หมายถึงเรารู้ว่ามีสมอง เส้นประสาท ไขสันหลัง แล้วโรคทางเดินระบบประสาทคือชา ก็แค่ดูว่าเป็นเส้นประสาท เป็นไขสันหลัง เป็นสมอง นี่คือการเรียนระบบเดียว คือง่ายสำหรับหมอ ก็เลยว่าจะไปเรียนเกี่ยวกับระบบประสาท
ในหกปีของการเรียนประสาทศัลยแพทย์ การผ่านวอร์ดคนไข้จะใช้เวลาแค่สองอาทิตย์ ถ้าเป็นนักศึกษาแพทย์อื่น ๆ ปีสี่ต้องผ่านครึ่งเดือน ปีห้าอีกหนึ่งเดือน ปีหกอีกสองเดือน พวกนี้จะต้องผ่านเยอะ ศัลยกรรมทั่วไปผ่านเดือนหนึ่ง ปีสี่ปีห้าผ่านเดือนหนึ่ง ปีหกสองเดือน แต่ว่าประสาทศัลยแพทย์ผ่านแค่สองอาทิตย์ในหกปี แล้วก็ไม่ได้เข้าไปยืนดูผ่าตัดใกล้ ๆ ไม่ได้เข้าไปช่วยด้วย ที่รามา ฯ มองผ่านห้องกระจกเพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องเฉพาะทาง นักศึกษาแพทย์ไม่จำเป็นต้องดู ไม่จำเป็นต้องฝึก ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรที่จะต้องทำเป็น ถ้าจะเรียนต้องมาเรียนเฉาพะทางอีกทีตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นอารมณ์ที่เราไม่น่าจะเอื้อมถึง เพราะมันไกลมาก สูงมาก
พอมาอยู่ที่ยะลา ได้มาเจอหมอประชา ชยาภัม ท่านอยู่ที่นี่มาก่อนเลยถามหมอว่า ชอบระบบประสาทหรอ หมอก็เลยตอบว่า ใช่ หมอประชาเลยถามว่า ลองผ่าตัดดูไหม ตอนนั้นหมอไม่แน่ใจ เพราะว่าตัวเล็ก และ ไม่เคยผ่าศัลยกรรมแบบจริงจัง เคยอยู่ผ่าแค่แป๊บเดียว เพราะให้โดนออกไปข้างนอกตลอด หมอประชาเลยบอกว่า เออ ๆ งั้นก็มาลองช่วยดู
พอไปช่วยผ่า หมอประชาเลยบอกว่า อ้าว ฝีมือดีนี่ น่าจะผ่าตัดได้ ท่านเลยให้หมอเข้ามาช่วยผาตัดตั้งแต่ตอนยังเป็นแพทย์ใช้ทุน ซึ่งปกติแพทย์ใช้ทุนไม่ต้องผ่าเกี่ยวกับระบบประสาท แต่หมอประชาก็ให้มาช่วยผ่าพอผ่าไปเรื่อย ๆ ท่านก็บอกว่าเรียนด้านนี้เพิ่มดีกว่า ท่าทางจะไปได้ และตอนนั้นหมอด้านนี้ขาดแคลนด้วย เพราะว่าสมัยก่อนมันต้องใช้มือที่ใหญ่และหนักเพื่อเจาะ ต้องใช้แรงมือเพื่อตัด แต่ปัจจุบันใช้ไฟฟ้า
หลักจากนั้นไปสมัครอยู่สองที่ก็ไม่รับ บอกว่าเป็นหญิง เขาไม่เคยรับผู้หญิง ก็เลยกลับไปสมัครที่รามา ฯ อาจารย์ที่รามา ฯ บอกว่าจะลองรับดูนะเพราะเห็นว่าเราคะแนนดี ได้เกียรตินิยม แต่หมอไม่ได้เกียรตินิยมจากศัลยกรรมนะ คะแนนดีด้วยอายุรกรรมกับเด็ก ก็เลยลองรับดูก่อนว่าเรียนได้ไหม ถ้าเรียนไม่ได้ให้เป็นสัญญา แต่ไม่ได้ให้ทำสัญญากระดาษนะ เป็นสัญญาด้วยปากเปล่าว่าจะยอมลาออก แล้วเสียเวลาไปปีหนึ่งหรือสองปีเพื่อไปเรียนอย่างอื่น เราก็เลยโอเค ไม่เป็นไร ก็ลองเรียนดู อาจารย์จะบอกว่า ถ้าเรียนไม่ไหวก็ออกนะ เพราะว่าที่รามา ฯ เคยมีเรียนแล้วคนหนึ่งสุดท้ายก็ไม่จบ แต่หมอเรียนจบ
พอเรียนจบอาจารย์ก็ชวนให้กลับมาอยู่ที่นี่ก่อน เพราะว่าเกรงใจคุณหมอประชา เพราะท่านเป็นคนเปลี่ยนให้หมอเรียนเลย ซึ่งเราชอบระบบประสาทอยู่แล้ว รู้สึกว่าพอมาเรียนจริง ๆ ก็ได้นี่นา ก็เหมือนเข้าทาง ที่เราชิน ได้ทำอะไรที่เราถนัด เลยขอให้เราช่วยที่นี่ก่อนสามปี แล้วเราค่อยกลับไป
จริง ๆ แล้วหมอเป็นคนชอบออก OPD นะ มันเหมือนเป็นความสุขแต่ผ่าตัดก็ชอบ หมอชอบตรวจคนที่เราผ่าไปแล้ว เวลาคนไข้มาหา เราก็ยังจะวินิฉัยไว้ก่อนเลยว่าคนนี้ถ้าผ่าแล้วหายแน่นอน เหมือนนักฟุตบอลที่เลี้ยงบอลอยู่ และเตะลูกออกไปต้องเข้าประตูแน่ ๆ เพราะเรายังไม่อยากรับประกัน แต่ในใจเราก็คิดตลอดว่าคนนี้ผ่าเสร็จ แผลหาย เดินได้แน่ ๆ เสร็จเราละแล้วพอเราผ่าเสร็จ เราก็ออกตรวจคนไข้ อย่างตอนแรกเขายังเดินไม่ได้พอผ่านไปสองถึงสามเดือนแล้วเขาเดินได้ เราก็ดีใจ
สรีระของคุณหมอกับการทำงานศัลยกรรมประสาทเป็นอุปสรรคมากไหม
อย่างตอนผ่าหลัง จริง ๆ ต้องเป็นหมอตัวใหญ่ ๆ เลยนะ แต่ตอนนี้หมอทำจนชินแล้ว แต่ถ้าเป็นผ่าสมองยังมีเคสที่เรานั่งผ่า ก็นั่งทำไปเรื่อย ส่องกล้องช่วยแล้วก็นั่งทำ พอมาที่รามา ฯ อาจารย์ยืนฝั่งหนึ่ง ผู้ช่วยยืนฝั่งหนึ่ง แล้วเราเป็นคนตัวเล็ก พอเวลาผ่าตัด อีกฝั่งหนึ่งอาจารย์เขาจะมายืน พอช่วยไปสักพัก อาจารย์เขาก็จะรำคาญแล้วพูดว่า “ แป๋วเมื่อไหร่จะไปเกิดไหม่ ” ( หัวเราะ ) คือพอเราย้ายที่ยืนไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง หมอก็ต้องย้ายม้ายืน พยาบาลทุกคนก็ช่วยกันย้าย อาจารย์แกตัวสูงแกก็เลยไม่ต้องใช้ม้า แต่เราตัวเล็ก เราต้องใช้ นอกจากม้ายืนแล้ว ยังมีเครื่องเหยียบห้ามเลื่อน เครื่องกรอทุกอย่าง จนอาจารย์แกบอกว่า“ ไม่ช่วยละ ทำไปเลยคนเดียว ” ( หัวเราะ ) ก็เลยเป็นเหตุผลว่าตอนเรียนเราได้ทำเยอะมาก แล้วเครื่องมือในห้องผ่าตัดส่วนใหญ่จะเป็นไซส์ฝรั่งทำให้เราต้องยืนบนม้ายืน