คุณกาละแมร์ แบรนด์แอมบาสเดอร์คนเก่งของเรา นอกจากจะเป็นสาวที่รักสุขภาพอย่างที่สุดแล้ว เธอยังเป็นนักเดินทาง (แบบฉายเดี่ยว) ผู้มากประสบการณ์ และมีมุมมองที่น่าสนใจเก็บมาฝากกันเสมอ เช่นเดียวกับรอบนี้เธอเดินทางไป “อินเดีย” ค่ะ
อินเดียให้อะไรกับเธอ และเธอนำอะไรจากอินเดียมาฝากเราบ้าง ไปตามติดพร้อมกันๆ เลย
…
เคยเล่าไว้ว่าโดยส่วนตัวเป็นคนชอบเดินทาง การเดินทางทำให้ได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้กระทั่งกระทบใจให้ได้คิดอะไรบางอย่าง ฉบับนี้ยังคงเป็นประสบการณ์การท่องเที่ยว เพียงแต่ประเทศที่เพิ่งไปเยือนมานี้มีความแตกต่าง และสามารถเปลี่ยนทัศนคติของใครสักคนได้เลย ประเทศอินเดียนั่นเองค่ะ
การเดินทางสำหรับแมร์นั้น คือการออกไปเห็นสรรพสิ่งเพื่อลดอัตตาของตัวเอง เพราะเมื่อได้เจอกับความกว้างใหญ่ของโลก ความหลากหลายของวัฒนธรรมและความแตกต่างของผู้คน มันเตือนสติให้รู้ว่าเราเป็นแค่สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมาย
เมื่อต้องไปเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ มันช่วยให้เราลดความคาดหวังจากผู้อื่นและทุกสิ่งอย่างลง โดยเฉพาะที่อินเดีย ที่ซึ่งทำให้ต้องเผชิญกับบทพิสูจน์ทางจิตใจมากมาย ทั้งการจราจรที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้ สับสนอลหม่าน ทั้งคน รถ มอเตอร์ไซด์ ไหนจะสรรพสัตว์ทั้งวัว แพะ สุนัข ที่เดินข้ามถนนกันให้วุ่นจนจับต้นชนปลายไม่ได้ว่าเลนไหนเป็นเลนไหน และต้องแล่นรถไปในทิศทางใด
แรกๆ ยอมรับว่าไม่ชินสุดๆ เสียงแตรดังตลอดเวลาไม่หยุดหย่อน จนรู้สึกว่าถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างคงหงุดหงิดแบบนี้ไปตลอดทริปแน่ๆ จึงเริ่มเปลี่ยนมุมมอง พยายามไม่ตั้งคำถามเชิงลบว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมถึงไม่เป็นแบบนั้น แต่คิดง่ายๆ เข้าไว้ว่า เออ มันก็มีแบบนี้ด้วยเนอะ ดูแพะนั่นสิ มันจะข้ามถนนได้ไหมน่ะ จนบางทีก็ยืนลุ้นไปกับมันด้วยเลยนะ พอคิดได้แบบนี้ ความขุ่นเคืองมันลดลง มองเป็นของแปลกใหม่ เมื่อไม่คาดหวังว่าเราจะต้องมาเห็นอะไรสวยๆ งามๆ ก็คิดเสียว่ามาเติมประสบการณ์ ดีเสียอีก ได้เห็น ชีวิต ในแบบที่แตกต่างออกไป
เอาง่ายๆ คือฝึกหาข้อดีของสิ่งที่เกิดขึ้นนั่นล่ะ แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า การมองโลกในแง่ดีไม่เหมือนกับการหลอกตัวเองนะคะ ไม่ใช่ว่าเราแอ๊บโลกสวยแต่อย่างใด แต่เป็นการอยู่กับความจริง และยอมรับมันให้ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ที่ช่วยให้จิตใจไม่ว้าวุ่น ไม่หงุดหงิด นั่นล่ะ คือการใช้ประโยชน์จากการมองโลกในแง่ดีในสไตล์ของแมร์
เข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
เคยสงสัยนะ ว่าทำไมคนอินเดียต้องกินทุกอย่างด้วยมือ ขนาดแกงเปียกๆ ก็ใช้มือนั่นล่ะ ขยุ้มขึ้นมากิน แรกๆ ก็ข้องใจสิ ไม่สกปรกเหรอใช้มือกินเนี่ย แต่พอได้ฟังเหตุผลจากคนที่นั่นเข้า ถึงกับเถียงไม่ออกเลยทีเดียว
ถ้าสังเกตดีๆ ห้องน้ำในร้านอาหาร หรือห้องน้ำตามสถานที่ต่างๆ มักมีสบู่ล้างมือให้บริการ และคนที่นั่นก็ล้างมือกันบ่อย ล้างกันจริงจังมาก คือตั้งใจล้าง ไม่ใช่แค่เอามือผ่านน้ำ แล้วมันเลยสอดคล้องกับคำอธิบายของคนอินเดียเรื่องการกินด้วยมือว่า
“ทำไมเราถึงต้องไปไว้ใจในช้อนส้อมที่คนอื่นล้างมากกว่ามือของเราที่เราล้างเองอย่างดีด้วยล่ะ”
สตั๊นค่ะ เออมันก็จริงนะ เพราะเราก็ได้เห็นกับตาว่าคนที่นี่เขาก็ล้างมือกันจริงจัง สะอาดกว่าคนไทยล้างอีก ถึงกับต้องมาย้อนคิดเลย ว่าเฮ้ย ทุกวันนี้เรามั่นใจในภาชนะที่คนอื่นล้างให้เรามาตลอดเลยนี่
อีกเรื่องหนึ่งที่ได้กลับมาคือการไม่ตัดสินคน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะหน้าที่อะไรก็ตาม เพราะพูดถึงอินเดีย คำเตือนสารพัดที่หลั่งไหลมาจากคนรู้จักคือระวังขอทาน ซึ่งที่ไปเจอมาจริงๆ ก็ไม่ถึงกับมายื้อยุดฉุดกระชากแบบฮาร์ดคอร์อะไรหรอก ส่วนหนึ่งคงเพราะไม่ได้ไปเมืองที่ขึ้นชื่อ แต่ที่เราเจอแล้วรู้สึกสะกิดใจมาจนถึงทุกวันนี้คือเด็กชายคนหนึ่งที่เดินเข้ามาหา
เขาไม่ได้มาแล้วแบมือขอเงินนะ แต่กลับขอเวลาจากเรา ซึ่งแปลกมาก เขาขอเล่นมายากลให้ดู แล้วแมร์เองก็รู้สึกว่า ในเมื่อเขาไม่ได้มาขอเฉยๆ แต่เอาทักษะมาแลก จึงให้โอกาสแล้วยืนดูเจ้าหนุ่มเล่นกลนู่นนี่นั่นจนจบ ปรากฏว่าอึ้งค่ะ เพราะเขามีพรสวรรค์ คือเล่นสนุกมาก จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน จัดว่าเก่งทีเดียว จึงให้เงินกินขนมไปแล้วมานั่งคิด คนเราถ้าไม่จำนนต่อโชคชะตา รู้จักขวนขวาย ยังไงมันก็อยู่ได้
นี่ล่ะ ชีวิต คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ แม้จะเกิดมาไม่มี แต่เขายังเลือกที่จะหาเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีสุจริต ไม่ต้องมียศถา มีฐานะร่ำรวย แต่สามารถเป็นบุคคลที่น่ายกย่องและน่าชื่นชมได้ แมร์เชื่ออย่างนั้นค่ะ
ข้อมลเรื่อง ““อินเดีย” เดินสู่สติสไตล์กาละแมร์” ตีพิมพ์ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 420