ลดความอ้วน จากประสบการณ์ตรง
ลดความอ้วน ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่ใครหลายคนคิด ลองมาทำความเข้าใจพร้อมดูวิธีลดน้ำหนักจากเจ้าของประสบการณ์ตรงกันดีกว่า เรื่องราวต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ตรงของคุณ “ส้มเช้ง” ตัวแทนคนอ้วนซึ่งเผชิญปัญหาชีวิตตั้งแต่เด็กๆ เรามาดูกันเลยดีกว่าว่าภาวะอ้วนก่อให้เกิดปัญหาอะไรในชีวิตของเธอบ้าง
เด็กอ้วนเสี่ยงสมองช้า
ส้มเช้งเป็นเด็กผู้หญิง เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวย พ่อแม่ทำงานหนักจึงไม่มีเวลาใส่ใจดูแลโภชนาการอาหารสำหรับลูก ส้มเช้งจึงไม่เคยได้ดื่มนมแม่ และต้องเผชิญโรคอ้วนตั้งแต่เริ่มหัดเดิน ทุกวันส้มเช้งจะไม่กินอาหารเช้าและผักผลไม้ไม่เคยออกกำลังกาย ส่งผลให้ตัวอ้วนกลม จ้ำม่ำ แม้น่ารักน่ากอด แต่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ร้อยละ 19 ของเด็กไทย อายุ 1 เดือนถึง 12 ปีมีน้ำหนักเกิน ซึ่งภาวะอ้วนในเด็กอันตรายมาก เพราะเด็กอ้วนจะติดนิสัยกินเก่ง กินไม่หยุด ยิ่งโตยิ่งแก้ยาก
“เวลาไม่ได้ขนมที่ต้องการ เด็กจะร้องไห้ซึมเศร้า ส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนการเรียนรู้ พัฒนาการจึงช้า ผนวกกับความอ้วนทำให้เด็กไม่ทำกิจกรรม เพราะเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ทำให้เข้าสังคมไม่เป็น ไม่มีเพื่อน และหนีโรงเรียน ก่อปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจในระยะยาว”
ผู้เป็นแม่ต้องป้องกันไม่ให้ลูกอ้วนตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยประเมินจากน้ำหนักตัวของแม่ดังนี้
- แม่น้ำหนักปกติ เพิ่มน้ำหนักในเกณฑ์ 12 – 16 กิโลกรัม ดูแลอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
- แม่น้ำหนักเกิน เพิ่มน้ำหนักในเกณฑ์ 5 – 9 กิโลกรัม เพื่อป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษและโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงการตกเลือดขณะคลอด
Tips to fix
- ทารกต้องดื่มนมแม่เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันและดูแลหลักโภชนาการที่ถูกต้องแก่เด็ก
- หลีกเลี่ยงขนมหวานจัด น้ำอัดลม และงดอาหารหลัง 18.00 น. โดยอธิบายให้เด็กเห็นถึงอันตรายจากโรคอ้วน และชวนออกกำลังกายเริ่มจากท่ากายบริหารง่าย ๆ
- ฝึกเด็กให้รู้จักโทษของโรคอ้วนและเห็นอกเห็นใจ ไม่ล้อเลียน เยาะเย้ย หรือสร้างความอับอายให้คนอ้วน
- ไม่ปล่อยปละละเลยเด็ก ให้ความรัก ความอบอุ่น และกำลังใจ จะช่วยให้เด็กเข้มแข็งและไม่ซึมเศร้า