หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เพราะใช้ชีวิตผิดท่าของคนทำงาน

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดขึ้นได้ แค่ใช้ชีวิตผิดท่า

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ดูเหมือนเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้นในยุคปัจจุบัน เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลุก เดิน นั่ง ที่ผิดท่า การแบกของหนักๆ ล้วนทำให้เกิดโรคได้ทั้งสิ้น วันนี้เรามาดูกันหน่อยดีกว่าค่ะว่า เรามีอาการของโรคนี้แล้วหรือยัง

ทำความรู้จัก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 

เป็นอาการที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ทรุดตัวจนไปกดทับเส้นประสาท จนเกิดการอักเสบ อาการนี้มักเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเกิดความเสื่อมขึ้นในจุดต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งยังเป็นโรคที่เกี่ยวพันกับอาการออฟฟิศซินโดรมอีกด้วย

และในกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมโลดโผน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นได้ ก็มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้ก่อนวัย 40 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการหมอนรองกระดูกเสื่อม ก็เป็นอาการที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน เพียงแต่จะเกิดช้าหรือเร็ว และมากน้อยต่างกันไป

แต่ในยุคปัจจุบันที่ไลฟสไตล์คนทำงาน คนเมือง ที่มีชีวิตอยู่กับหน้าจอต้องนั่งทำงานนาน ๆ หรือทำอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่งซ้ำ ๆ ไม่นับการไอจาม หรือยกของหนักผิดท่าผิดทาง ต่างก็เร่งเร้าให้เกิดภาวะนี้ได้เร็วมากขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า อายุ 30-40 ปี ต่างก็มีภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทกันมากขึ้น

หมอนรองกระดูก (Intervertebral disc) มีลักษณะรูปร่างเป็นวงกลม มีขอบเป็นพังผืดเหนียว ภายในมีของเหลวคล้ายเจลบรรจุอยู่ หมอนรองกระดูกนี้คั่นกลางอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทก เปรียบได้กับเป็น ‘โช้คอัพ’ ให้กระดูกสันหลังของเรา

เมื่อหมอนรองกระดูกได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ของเหลวในหมอนรองกระดูกจะมีโอกาสทะลักออกมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ในลักษณะนี้มักเกิดจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ต้องใช้หลังผิดท่าทาง เช่น การยกของหนัก การนั่งนาน ๆ การไอหรือจามแรงๆ  การออกกำลังกาย หรือเล่นกีฬาที่ต้องออกแรงผ่านหลังมากๆ  เช่น การตีกอล์ฟ  เป็นต้น

เมื่อเส้นประสาทถูกกดทับ เส้นประสาทจะเกิดการอักเสบ ซึ่งจะแสดงออกผ่านอาการต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับเส้นประสาทที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น หากเส้นประสาทที่ถูกกดทับเป็นเส้นที่เชื่อมโยงกับขา จะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวบริเวณขา ซึ่งเป็นอาการเด่นของโรคในบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบั้นเอว บางรายมีอาการชาตั้งแต่เอวร้าวลงขาหรือหลังเท้า ตามมาด้วยกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง และที่สุดอาจถึงกับสูญเสียการควบคุมระบบขับถ่าย

เช็กหน่อย เป็นหรือยัง 

  • ปวดสะโพกร้าวลงขา หากปวดสะโพก หรือเอว แล้วมีอาการร้าวลงขา ส่วนมากแล้วจะเป็นข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในบางรายอาจร้าวได้ทั้ง 2 ข้าง หรืออาจมีอาการชาร่วมด้วย
  • ่ขาอ่อนแรง วิธีเช็กง่ายๆ คือให้มีคนจับข้อเท้า หรือนิ้วโป้งเท้าค้างไว้ แล้วออกผู้ทดสอบพยายามออกแรงต้านพยายามยก กระดกข้อเท้า หรือนิ้วโป้งขึ้น  ทดสอบทั้งสองข้าง หากไม่สามารถยกขึ้นได้ แปลว่าเริ่มมีอาการขาอ่อนแรง
  • นอนหงาย ยกขาขึ้น ขั้นตอนคือนอนหงาย แล้วให้อีกคนใช้ข้อมือรองที่ข้อเท้า และยกขึ้นจนเข่าเหยียดตรง โดยผู้ทดสอบห้ามเกร็งหรือออกแรงยกโดยเด็ดขาด หากมีอาการปวดสะโพก ก็แปลว่าน่าจะมีอาการแล้ว
  • ไอ จาม แล้วปวดสะโพกหากไอจามแล้วมีอาการปวดสะโพก ร้าวลงขา แปลว่าเริ่มมีอาการกระดูกสันหลังเคลื่อน หรือปลิ้นไปทับเส้นประสาทแล้ว ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการ
  • ชาที่ขา ทดสอบโดยใช้ไม้จิ้มฟัน จิ้มที่ขาดูว่ามีอาการชาหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามอาการชาที่ขาไม่ได้เกิดขึ้นตลอด แต่อาจจะมาจากบางกิจกรรม เช่นนั่ง หรือยืนนานๆ

มีอาการ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรทำอย่างไร

หากมีอาการสามารถไปตรวจพบแพทย์ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งรุกลาม บางคนที่แอดรู้จักไม่สามารถลุกขึ้นยืนเดินได้เลย นอกจากจะต้องผ่าตัด แต่หากรักษาแต่เนิ่น โอกาสที่อาการจะดีขึ้นก็มีมากนะคะ

อาการนี้ป้องกันได้ (ไหม)

แน่นอนว่าคนที่ยังไม่เป็น สามารถป้องกันได้ โดยแพทย์แนะนำให้ปรับท่า โดยเฉพาะท่านั่ง ขยับตัวให้บ่อยขึ้น ไม่อยู่ในท่าใด ท่าหนึ่งนาน ๆ หลีกเลี่ยงการยกของหนัก และควรหมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง ก็จะยืดอายุการใช้งานของหมอนรองกระดูกไม่ให้เสื่อม สภาพก่อนวัยอันควร

ท่าออกกำลังกาย ป้องกัน หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

การออกกําลังกายเพื่อป้องกันปัญหาหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาททําได้โดยการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางของร่างกาย (Core Muscle Exercise) โดยเฉพาะหลังส่วนล่าง เพื่อทําให้โครงสร้างรอบ ๆ กระดูกสันหลังมั่นคง โดยมีท่าบริหารมาแนะนําดังนี้

ท่าที่ 1 : ท่าสะพาน

ขั้นที่ 1 : นอนราบ งอเข่าตั้งขึ้น วางเท้าทั้งสองข้างไว้บนพื้น เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องและแก้มก้น

ขั้นที่ 2 : ยกหลังและก้นขึ้นจากพื้นช้าๆ และมั่นคง โดยใช้แรงผลักจากเท้าช่วย ค้างท่าไว้ นับ 1-10 กลับสู่ท่าเริ่มต้น

ท่าที่ 2 : ท่าแมวยกขา(Quadruped)

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ท่าออกกำลังกาย

1 : นั่งคุกเข่า ก้มตัวไปข้างหน้า วางมือลงบนพื้นตําแหน่งเดียวกับไหล่ เข่าทั้งสองข้างตรงกับสะโพก เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไว้

2 : ยกแขนขวาขึ้น ค้างไว้ 3 ลมหายใจ วางแขนขวาลง ยกแขนซ้ายขึ้น ค้างไว้ 3 ลมหายใจ แล้ววางแขนซ้ายลง ให้เกร็งหน้าท้องไว้ตลอดเวลาที่ยกแขน

3 : ยกขาข้างขวาขึ้น ค้างไว้ 3 ลมหายใจ วางขาขวาลง ยกขาซ้ายขึ้น ค้างไว้ 3 ลมหายใจ แล้ววางขาซ้ายลง ให้เกร็งหน้าท้องไว้ตลอดระยะเวลาที่ยกแขน ถ้าทําขั้นที่ 1-3 จนคล่องแล้ว ให้ยกแขนซ้ายและขาขวาขึ้นพร้อมกัน ค้างไว้ 3 ลมหายใจ แล้ววางลง สลับข้าง หรืออาจจะค้างไว้นานขึ้น เช่น เพิ่มเป็น 5 ลมหายใจ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ

ท่าที่ 3 : ท่าแพลงก์อย่างง่าย (Modified Plank)

หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, ท่าออกกำลังกาย

ขั้นที่ 1 นอนคว่ํา ยกตัวขึ้น โดยใช้ข้อศอกและหัวเข่าทั้งสองข้าง จัดร่างกายให้ศีรษะ คอ และหลังอยู่ในแนวเดียวกัน และให้ไหล่ ข้อศอก อยู่ในแนวเดียวกัน เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องไว้ หายใจเข้า-ออกลึกๆ อย่างน้อย 3 รอบ ปล่อยร่างกายลงอย่างช้าๆ แล้วเริ่มใหม่

ใช้ชีวิตลดความเสี่ยง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท

  1. กิจกรรมที่ต้อง ยก, ก้ม, เอี้ยว, หมุนเอวหรือหลัง ล้วนแต่ทำให้หมอนรองกระดูกต้องทำงานหนักทั้งนั้น หากหมอนรองรับน้ำหนักไม่ไหว ก็จะเคลื่อนหรือปลิ้นได้
  2. น้ำหนักตัวที่มาก เพิ่มโอกาสเกิดหมอนรองกระดูกหลังปลิ้น ตรงไปตรงมา
  3. อาชีพเสี่ยง ได้แก่ อาชีพต้องก้ม, ยก, แบก ดัน หรือบิดตัวล้วนทำให้เกิดแรงกระทำที่หมอนรองกระดูกหลังทั้งสิ้น
  4. บุหรี่ นั้นทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง ทำให้มันอ่อนแอลง
  5. กรรมพันธุ์ มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงด้วย ไม่มาก แต่ก็มีส่วน

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 เคล็ด(ไม่)ลับ ” เดิน ” ให้ข้อ เข่า กระดูกสันหลังแข็งแรง

ควินัว คือ อะไร ประโยชน์ยังไง ทำอย่างไรให้อร่อย

เพิ่มโกรทฮอร์โมน ฮอร์โมนชะลอวัย อยากแข็งแรง สดใส ต้องลอง!

ที่มาข้อมูล

  • โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  • โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล
  • นิตยสารชีวจิต

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.