เดิน ออกกำลังกาย

10 เคล็ด(ไม่)ลับ ” เดิน ” ให้ข้อ เข่า กระดูกสันหลังแข็งแรง

เราต้อง ” เดิน ” ทุกวัน ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน และวันหนึ่ง ๆ เราต้องเดินลงน้ำหนักบนขาทั้ง 2 ข้างของเราหลายชั่วโมง

ข้อมูลจาก American Podiatric Medical Association รายงานว่า โดยเฉลี่ยมนุษย์ เดิน วันละ 8,000 – 10,000 ก้าว ซึ่งเท่ากับว่า ตลอดชีวิตเราจะต้องเดินประมาณ 207,000 กิโลเมตร หรือเป็นระยะทางเท่ากับเส้นรอบวงของโลกถึง 4 รอบ

การเดิน ของมนุษย์มีกลไกที่ซับซ้อนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การก้าวเท้าไปข้างหน้า แต่ต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อหลายมัด ศีรษะ ข้อกระดูกสันหลัง ข้อไหล่ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า เพื่อให้ร่างกายทรงตัวอยู่ได้

ยิ่ง เดิน มาก ยิ่งทำให้ข้อเสื่อม จริงหรือ

ใครว่ายิ่งเดินมาก ยิ่งทำให้ข้อเสื่อม ต้องบอกเลยว่า ความเชื่อนี้เชยไปแล้วค่ะ จากงานวิจัยทางการแพทย์สมัยใหม่พบว่า การเดินหรือวิ่งอย่างถูกต้องและต่อเนื่องจะช่วยป้องกันข้อเสื่อม ส่วนการไม่เดิน ไม่วิ่ง หรือขาดการออกกำลังกายกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้อเสื่อม เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น

คำตอบคือ การเดินหรือวิ่ง ก่อให้เกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายฟองน้ำคอยรับแรงกระแทกในข้อ แรงกดและปล่อยอย่างเป็นจังหวะจากการเดินและวิ่งจะเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนของน้ำหล่อเลี้ยงภายในข้อ น้ำหล่อเลี้ยงภายในข้อมีความสำคัญ เพราะสารอาหารของเซลล์กระดูกอ่อนไม่มีเลือดมาเลี้ยง จึงได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากน้ำหล่อเลี้ยงข้อเท่านั้น การเคลื่อนไหวข้อที่ทำให้เกิดแรงกดที่กระดูกอ่อนอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จึงเป็นการให้สารอาหารแก่กระดูกอ่อน กระตุ้นการสร้างและซ่อมส่วนที่สึกหรอ ช่วยลดความเสี่ยงข้อเสื่อมได้

วันนี้ เรามีเคล็ด (ไม่) ลับของการเดิน ที่จะช่วยลดความเสื่อมและป้องกันการบาดเจ็บของข้อเข่าและกระดูกสันหลัง มาฝากค่ะ

  1. ปรับท่าเดินให้ถูกต้อง เพราะท่าเดินที่ถูกต้องจะช่วยให้บุคลิกดีขึ้นและดูสง่างาม โดย
    • ตามองตรง ไม่ก้มศีรษะ เพราะการก้มศีรษะจะไปเพิ่มการลงน้ำหนักที่กระดูกสันหลังบริเวณคอและหลัง ทำให้มีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ และหลังตามมาได้
    • ตั้งลำตัวตรง ไหล่สองข้างอยู่ในแนวขนาน เพื่อให้กระดูกสันหลังเกิดความสมดุล ไม่ลงน้ำหนักไปที่กระดูกสันหลังข้างใดข้างหนึ่ง แกว่งแขนซ้าย – ขวาสลับกัน โดยสลับหน้า – หลังด้วย เพื่อความสมดุลของร่างกาย
    • ไม่เกร็งระหว่างเดิน ผ่อนคลายตั้งแต่มือ ข้อนิ้วมือ อาจจะงอข้อศอกเล็กน้อย และก้าวเท้าให้เหมาะสมไม่ยาว ไม่สั้นจนเกินไป จะลดอาการปวดเกร็งของเข่าและกล้ามเนื้อต้นขาได้
    • ขณะที่เดินให้ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าก่อน ตามมาด้วยเหยียบเท้าให้เต็มฝ่าเท้า ส่วนเท้าอีกข้างให้ยกส้นเท้าขึ้นก่อนเช่นกัน จะเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อหน้าแข้ง
  2. เลือกรองเท้าให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องเดินไกล ๆ ควรเลือกรองเท้าหุ้มส้นที่สวมสบาย โดยควรลองสวมรองเท้าเดินก่อนที่จะเดินทางไกล
  3. หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าส้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมรองเท้าที่ส้นสูงเกิน 1 นิ้วครึ่ง เพราะเมื่อสวมส้นสูงจะทำให้หลังงอและมีการโน้มตัวไปด้านหน้า ร่างกายจึงพยายามรักษาสมดุลด้วยการต้านหรือเกร็งไม่ให้ลำตัวและแผ่นหลังเอนไปข้างหน้ามากเกินไป ส่งผลให้แนวกระดูกสันหลังช่วงล่างแอ่นมากกว่าปกติ ซึ่งจะนำมาสู่อาการปวดหลัง หากมีพฤติกรรมนี้เป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้กระดูกเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาทได้
  4. แขม่วพุงหรือแขม่วท้องเวลาเดิน เป็นการฝึกบริหารกล้ามเนื้อหลังมัดลึก ทำได้ดังนี้คือ

ขั้นที่ 1 หายใจเข้าและออกให้สุด จำความรู้สึกไว้ว่าการหายใจเข้าและออกแบบลึกสุด ๆ คิดเป็นการหายใจแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
ขั้นที่ 2 หายใจเข้าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แขม่วท้องค้างไว้นับ 1 – 10 แล้วหายใจออก คลายหน้าท้อง โดยขณะเกร็งหรือแขม่วให้ผ่อนคลาย ในระดับที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับผู้อื่นได้

การแขม่วพุงยังมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว ลดแรงกระทำ และช่วยกระจายแรงกระทำต่อกระดูกสันหลัง เพิ่มความมั่นคงให้กระดูกสันหลัง ป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณหลังส่วนล่าง ทำให้ประสิทธิภาพการหายใจดีขึ้น กระชับหน้าท้องทำให้หน้าท้องแบนราบ บุคลิกภาพดี

  1. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ คนที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 10 กิโลกรัม จะมีแรงกดต่อข้อเข่าเพิ่มขึ้น 40 กิโลกรัม หรือ 4 เท่าของน้ำหนักตัวทุก ๆ ย่างก้าวที่เดิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดอาการปวดจากโรคข้อเข่าเสื่อม โดยน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับชาวไทยคือ ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 19 – 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
  2. ไม่ควรหิ้วหรือถือของหนัก โดยเฉพาะของที่มีน้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม เพราะถึงแม้ว่าน้ำหนักตัวจะไม่มาก แต่ดันหิ้วของหนักมาก โดยเฉพาะกระเป๋าถือของผู้หญิง ก็จะเพิ่มแรงกดต่อกระดูกเช่นกัน
  3. หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ด้วยการเหยียดเข่าให้ตรงและเกร็งค้างไว้ครั้งละ 5 วินาที ประมาณวันละ 10 – 20 ครั้ง หรืออาจเข้ายิมเล่นเวต เพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและด้านหลัง สัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสะโพกกว้าง ซึ่งมีแนวโน้มเกิดปัญหาปวดเข่าได้ง่าย การออกกำลังกายด้วยวิธีดังกล่าวจะสร้างกล้ามเนื้อให้ช่วยรั้งกระดูกสะบ้าเข้าด้านในเพื่อลดปัญหาปวดเข่าในระยะยาว
  4. หลีกเลี่ยงการขึ้น – ลงบันไดบ่อยเกินไป เช่น เดินขึ้น – ลง บ้าน 3 ชั้น มากกว่าวันละ 5 ครั้ง ควรวางแผนการหยิบของใช้ให้ดี เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินขึ้น – ลง
  5. หลีกเลี่ยงการยืนพักขาลงน้ำหนักไปที่ขาข้างเดียว การยืนที่ถูกต้องควรลงน้ำหนักที่ขาทั้ง 2 ข้างเท่า ๆ กัน โดยยืนแยกขาให้กว้างเท่าช่วงสะโพก จึงจะเกิดความสมดุลของโครงสร้างร่างกาย
  6. เป็นคนช่างสังเกต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการเจ็บปวดหลังการเดิน ควรสังเกตว่าเรามีอาการเจ็บตรงไหน เพื่อตรวจสอบว่าตรงไหนที่เราอาจจะมีปัญหาจะได้แก้ไข ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนแก้ไขไม่ได้

การเดินคือการออกกำลังกายที่ง่าย ทำได้ทุกเวลา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำให้เดินอย่างน้อยวันละ 10,000 ก้าว หรือเดินอย่างน้อยวันละ 30 นาที สะสมให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาที

เรื่อง พันเอกหญิง รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงสุมาภา ชัยอำนวย เรียบเรียง ศิริกร โพธิจักร ภาพ iStock

ชีวจิต 478 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 1 กันยายน 2561

บทความน่าสนใจอื่นๆ

ผลสำรวจพบ คนไทยนิยม ” เดินเร็ว ” ช่วงโควิด

ประโยชน์ของการเดิน ยืดอายุ ห่างไกลโรค

เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง

แรงกระแทก ดีต่อกระดูกอย่างไร หมอมีคำตอบ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.