14 วิธีง่ายๆ ในการ ดูแลอารมณ์ ของตัวเองให้คงที่ และมีสุขภาพใจที่ดี
รู้มั้ยว่าสุขภาพทางอารมณ์ของเราที่เป็นอยู่นี้ เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัวและเฉพาะเจาะจงสำหรับคนแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เราสามารถ ดูแลอารมณ์ และทำความเข้าใจสุขภาพทางอารมณ์ของตัวเองได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม แล้วเราจะควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้ดีที่สุดได้ยังไง หากประสิทธิภาพในการควบคุมอารมณ์ตัวเองลดลง บทความนี้มีคำตอบมาฝาก
จากข้อมูลของ Dan Eisenberg นักจิตวิทยาการกีฬาของ OffshoreSportsbooks.com พบว่าเกือบ 18% ของประชากรสหรัฐฯ ประสบปัญหาด้านสุขภาพทางอารมณ์ ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในรูปแบบของความตึงเครียดกล้ามเนื้อ ความเหนื่อยล้า และความไม่สบายตัว เมื่อเราเผชิญกับความเครียด ความเศร้า หรือความโกรธ โดยธรรมชาติของมนุษย์มักจะสอนให้เรารู้วิธีรับมือกับอารมณ์ และความคิดที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลอย่างมากในการช่วยรักษาความสุข ไปจนถึงการมีสุขภาพที่ดี
1.ระบายออกมา
วิธีที่เร็วที่สุดวิธีหนึ่ง ในการปลดปล่อยอารมณ์ที่ถูกเก็บงำไว้ คือการพูดคุยกับเพื่อนสมาชิกในครอบครัว หรือคนที่เป็นกลาง เช่น นักบำบัดหรือที่ปรึกษา และแทนที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาตลอดบทสนทนา เราอาจแค่ระบายหรือปลดปล่อยคำพูดออกไป ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ดีมากแล้ว
2.เขียนใส่กระดาษ
หากการพูดหรือเล่าให้ใครฟัง ทำให้คุณไม่สบายใจ การเขียนความคิดและอารมณ์ของคุณใส่ลงบนกระดาษ ก็เป็นนิสัยที่ดีต่อสุขภาพอีกอย่างหนึ่ง ที่ช่วยสร้างความปลอดภัยและเป็นส่วนตัว นอกจากนี้มันยังดีต่อสุขภาพ มากกว่าการเก็บความรู้สึกเอาไว้ในใจเสียอีก
3.นั่งสมาธิ
การทำสมาธิได้รับการพิสูจน์มานานแล้วว่า ช่วยลดความเครียดได้ เพราะฉะนั้น การนั่งสมาธิจึงมีส่วนช่วยให้คุณสังเกตความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้นของตัวเอง รวมถึงสอนให้คุณรู้จักวิธีก้าวออกจากความสับสนวุ่นวายทางอารมณ์ ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับมันอยู่
4.ขยับร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็นการฝึกโยคะหรือการออกกำลังกายในฟิตเนส การเคลื่อนไหวร่างกายมีความสัมพันธ์ต่อการตอบสนองทางอารมณ์ รวมไปถึงด้านสุขภาพ นอกจากนี้การเคลื่อนไหวอย่างมีสติ ยังสามารถช่วยดึงคุณให้ออกจากวงจรความคิดนั้นๆ และกลับเข้าสู่การจดจ่อกับสิ่งที่ร่างกายกำลังทำ
5.ออกไปข้างนอก
ธรรมชาติมีผลอย่างมากต่อร่างกายและจิตใจ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะออกไปเดินเล่นข้างนอกในช่วงพักกลางวัน หรือเพียงแค่ก้าวออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์สักสองสามนาทีบนม้านั่งในสวนสาธารณะใกล้ๆ เพียงเท่านี้ก็สามารถรีเฟรชและรีเซ็ตสุขภาพทางอารมณ์ของคุณให้ดีขึ้นได้แล้ว
6.บันทึกสิ่งที่อยากขอบคุณ
ก่อนเข้านอนตอนกลางคืนให้ลองจดลิสต์สิ่งของและบุคคลที่คุณรู้สึกอยากขอบคุณ เพื่อที่จะได้เข้าใจและตระหนักว่า วันนี้คุณลงมือทำอะไร และมีอะไรบ้างที่คุณทำมันจนสำเร็จ
7.ใช้เวลาอย่างสนุกสนานไปกับคนรอบๆ ตัวคุณ
อย่าลืมใช้เวลาสนุกไปกับเพื่อนๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความสนุกในชีวิตก็ยังคงถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้ในวัยที่เราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่
8.ฝึกการให้อภัยตนเอง
เรามักจะทำงานหนักเกินไปกับตัวเอง ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการมากมาย จนนำไปสู่ความคาดหวัง ความล้มเหลว ความผิดหวัง และความทุกข์โดยไม่รู้ตัว การฝึกให้อภัยตนเอง จึงจะช่วยปลดปล่อยความเจ็บปวดที่แสดงออกมาทางอารมณ์นี้ได้
9.จัดลำดับความสำคัญในแต่ละวัน
การลำดับความสำคัญในแต่ละวัน ว่าควรทำอะไรก่อนและหลัง ถือเป็นคีย์หลักของชีวิต เพราะมันจะช่วยกระตุ้นให้คุณทำอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จากงานที่ใหญ่ที่สุดก่อน แล้วไล่ระดับลงจนเสร็จสิ้น แต่อย่าลืมผ่อนคลายตัวเองบ้าง อาทิ เล่นเพลงที่คุณชื่นชอบ และหยุดพักสัก 5 นาที ก่อนเริ่มทำงานชิ้นต่อไป
10.ดูแลรักษาตัวเอง
การดูแลรักษาตัวเอง อาจเป็นแค่การพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เข้าสปา อาบอุ่นอยู่ที่บ้าน หรืออยู่กับความเงียบสงบ ซึ่งรางวัลเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือซับซ้อน เพียงแต่ให้ความสำคัญกับมันเป็นอันดับต้นๆ ก็พอ เพราะมันจะนำคุณไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ และแรงจูงใจในการรักษาสุขภาพของตัวเอง
11.เปิดโลกด้วยการท่องเที่ยว
การเดินทางอาจเป็นอะไรก็ได้ที่พาคุณออกจากกิจวัตรประจำวันเดิมๆ อาจเป็นการใช้เส้นทางใหม่ไปทำงาน หรือเที่ยวชมสวนสาธารณะในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อดูและสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ ซึ่งบ่อยครั้งประสบการณ์จะช่วยเปลี่ยนมุมมองของเรา และทำให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองและโลกภายนอก
12.เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
สุขภาพทางอารมณ์เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงกิจวัตรที่เราเคยชิน สัมพันธ์กับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของคนเรา จิตใจของมนุษย์จะดีที่สุดเมื่อได้รับการกระตุ้น และก็คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลองนึกถึงคลาสเรียนที่คุณสนใจมาตลอด หรือทักษะที่คุณอยากพัฒนา หาโอกาสเรียนหรือเวิร์คช็อป เมื่อเราเรียนรู้ในหัวข้อใหม่เราจะสร้างเส้นประสาทใหม่ในสมอง ช่วยให้เราตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายในชีวิตได้ดีขึ้น
13.นอนหลับให้เพียงพอ
การนอนหลับอย่างเต็มที่ 7-8 ชั่วโมงในตอนกลางคืนมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย อารมณ์และจิตใจของคุณ เพื่อให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีพลังในการใช้ชีวิตได้ทั้งวัน และอย่าลืมเก็บโทรศัพท์และแท็บเล็ตก่อนนอนด้วยเพื่อให้ร่างกายมี “เวลาพักผ่อน” จริงๆ
14.ยืดหยุ่นกับความเปลี่ยนแปลง
ในฐานะมนุษย์เรามักจะยึดติดกับสิ่งที่เรามีมาตลอด แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิดเกิดขึ้น ช่วงเวลาที่ยากลำบากในการต่อสู้กับความเป็นจริง ก็ย่อมเกิดขึ้นตามด้วย
ซึ่งในพระพุทธศาสนา ศีลข้อหนึ่งสอนให้เรามุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลง เพราะนั่นคือความไม่เที่ยง ฉะนั้น เรามีชีวิตอยู่ก็เพื่อเพลิดเพลินไปกับมัน และใช้ชีวิตให้ดีต่อไป การยอมรับข้อเท็จจริงตรงนี้ จึงกลายเป็นความยืดหยุ่นของเรา และทำให้เราสามารถต่อสู้กับทุกสิ่งได้แม้ว่ามันจะยากแค่ไหนก็ตาม
Cr. Lifehack
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- 9 วิธีรักตัวเองให้เป็น และมีความสุขกับการใช้ชีวิตทุกๆ วัน
- 6 สิ่งที่ควรทำก่อนสิ้นปี เดือนสุดท้ายก็ยังไม่สาย
- 4 วิธี คลายเครียดจากการทำงาน สำหรับมนุษย์ออฟฟิศ
- ดูแลตัวเองอย่างไร ถ้าจำเป็นต้อง นอนดึก
- 7 วิธี เลิกเป็นคนขี้กังวล กับสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปล่อยวางซะเถอะ!