เชื่อว่าชาวไทยพุทธเคยได้ยินได้ฟังมาว่านครปฐมเป็นจุดเริ่มต้นของพุทธศาสนาในบ้านเรา แต่หากศึกษาลงลึกเข้าไปจริงๆ แล้วจะพบว่า มีอีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีต่างหากคือจุดเริ่มต้น
นักวิชาการส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า เมืองอู่ทองมีความเก่าแก่ยิ่งกว่าเมืองโบราณสมัยทวารดีเมืองอื่นๆ เช่น เมืองนครปฐม และเมืองคูบัว ในอดีตเมืองอู่ทองเคยเป็นเมืองท่า ศูนย์การค้าของอาณาจักรทวารดีและยังเป็นจุดเริ่มแรกที่พุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานยังเมืองไทย Secret จะพาคุณไปท่องแดนธรรม ตามรอยพุทธศาสนาพร้อมๆ กัน
สมัยหัวเลี้ยวประวัติศาสตร์ พบหลักฐานว่าชุมชนโบราณในเมืองอู่ทองติดต่อค้าขายกับอินเดียสมัยอินโด-โรมัน (ราวพุทธศตวรรษที่ 6-9) ดังนั้นจึงพบสินค้าอินเดีย สินค้าโรมันและสินค้าอินโด-โรมัน (เลียนแบบสินค้าโรมัน) ในบริเวณเมืองอู่ทองและบริเวณใกล้เคียง เช่น พงตึก จ.กาญจนบุรี ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญชิ้นหนึ่งก็คือลูกปัดชนิดต่างๆ มีทั้งที่ทำด้วยหิน แก้วและทอง
ใครอยากชมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ทั้งลูกปัดและประติมากรรมต่างๆ เช่น พระพุทธรูปทองคำ จี้ธรรมจักรทองคำ พระพุทธรูปสำริดปางประทานธรรม รูปพระเจ้าสุทโธทนะโบราณหนึ่งเดียว เหรียญโรมันพระเจ้าวิคโตรินุส หนึ่งเดียวในเอเชียอาคเนย์ พร้อมกับเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองอู่ทอง แนะนำให้ไปเริ่มต้นกันที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” เป็นแห่งแรก เพื่อทำความรู้จักเมืองโบราณแห่งนี้อย่างสนิทแนบแน่นเสียก่อน
เมื่อได้ความรู้เต็มอิ่มแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปยังวัดเขาพระศรีสรรเพชญาราม หรือวัดเขาพระ ที่นี่เป็นวัดเก่าแก่สมัยทราวดี เป็นที่เคารพนับถือของชาวอู่ทอง มีลักษณะเป็นภูเขาขนาดย่อม
ด้านบนวัดมีจุดชมวิวทิวทัศน์มุมสูงของเมืองโบราณอู่ทอง เมื่อสูดอากาศเต็มปอดแล้วก็ลงไปนมัสการพระนอน มุดถ้ำลงไปชมพระวิษณุแปลงเป็นเจ้าพ่อจักรนารายณ์คู่กับเจ้าพ่อพระยาจักรที่กลางตลาด
สาเหตุที่ต้องมาที่วัดเขาพระเพราะที่นี่เต็มไปด้วยโบราณวัตถุสมัยทวารวดีหลายชิ้น เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปางต่างๆ พระเครื่อง พระพิรอด พระถ้ำเสือ รูปฤาษีเป็นแบบพิมพ์สมัยทวารวดี
ไม่เพียงเท่านั้นด้านบนยังพบซากเจดีย์ก่ออิฐสอปูนหนึ่งองค์ มีการก่อสร้างและบูรณะมาแล้วอย่างน้อย 2 สมัย สมัยแรกเป็นเจดีย์สมัยทวารวดีที่คงเหลือเฉพาะส่วนฐานราก และต่อมาในสมัยอยุธยา ได้สร้างเจดีย์ทรงกลมทับบนฐานเดิมเอาไว้ สำหรับเจดีย์สมัยอยุธยา เป็นเจดีย์ที่มีฐานล่างเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและมีการก่อซุ้มเล็กยื่นเป็นห้องออกมาทางทิศตะวันออก ส่วนองค์ระฆังและยอดด้านบนพังทลายหมดแล้ว
หลังจากแกะรอยธรรมที่วัดเขาพระกันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็มุ่งหน้าต่อไปยังพื้นที่แกะสลักพระใหญ่ “บุษยคีรี” พระพุทธรูปแกะสลักภูผาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ในวัดเขาทำเทียม วัดเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ
กล่าวกันว่า หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี พระโมคคัลลีบุรติสสะเถระได้สังคายนาพุทธศาสนา (ครั้งที่ 3) มีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภ์ ครั้งนั้นมีการส่งสมณฑูตพระอรหันต์ปัญจวัคคีย์เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ และที่วัดนี้เองมีการค้นพบร่องรอยการใช้เพิงผาถ้ำบนยอดเขาเป็นที่พำนัก และค้นพบโบราณวัตถุเป็นก้อนหินสลักคำจารึกว่า “ปุษยคีรี” ที่หมายถึงภูเขาดอกไม้ เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงาม จึงสันนิษฐานว่าวัดเขาทำเทียมแห่งนี้คือวัดแห่งแรกในประเทศไทย
เดินทางต่อไปอีกนิด ก็ถึงสถานที่พบธรรมจักรโบราณที่สมบูรณ์ที่สุด สวยงามที่สุดในเมืองไทย ขุดค้นพบในปี พ.ศ.2519 โดยอธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันธรรมจักรโบราณถูกย้ายไปเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อู่ทอง
จากนั้นเดินทางต่อขึ้นไปชมด้านบนของวัดเขาทำเทียม บางคนเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดเขาธรรมเธียร” บ้างก็เรียก “วัดเขาถ้ำเทียมสวรรค์” แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ชื่อเขาธรรมเธียร แปลว่า ที่อยู่ของนักปราชญ์ผู้ฉลาดในธรรม เขาถ้ำเทียมสวรรค์ หมายถึง เพิงผาหน้าถ้ำของวัดอยู่บนที่สูง ส่วนวัดเขาทำเทียม หมายถึง วัดที่สร้างขึ้นคู่กับวัดเขาพระ จึงมักมีคนพูดกันว่า สองวัดนี้เป็นวัดเมียหลวง เมียน้อย
จากนั้นเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาท (จำลอง) ที่ประดิษฐานในมณฑปด้านบนวัดเขาดีสลัก ชมความแปลกตาของรอยพระพุทธบาทจำลองสร้างด้วยหินทรายแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบตามที่อื่นๆ คือ เป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ นักโบราณคดีบางท่านกล่าวว่า เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 บางท่านว่า แม้รูปแบบลวดลายจะคล้ายกับศิลปะสมัยทวาราวดี แต่ก็มีรูปแบบอื่นเข้ามาปะปน ซึ่งอาจเป็นผลงานที่สร้างในสมัยอยุธยาราวพุทธศวรรษที่ 19-23
และปิดท้ายทริปท่องแดนธรรมด้วยการชมภาพพุทธประวัติหินสลักสุดงดงามด้านล่าง
เมื่อจบทริปนี้แล้ว Secret สัมผัสได้ว่าสิ่งที่ดียิ่งกว่าการทัวร์ไหว้พระเพื่อขอพรหรือเสริมความเป็นสิริมงคล ก็คือการได้เรียนรู้ความเป็นมาเป็นไปของพุทธศาสนาและกลับมานั่งคิดทบทวนว่าเราจะส่งต่อศาสนาให้ถึงมือคนรุ่นหลังได้อย่างไร…เชื่อว่าหากคุณได้ลองมาสักครั้ง คุณก็จะเช่นเดียวกับเรา
คลิกที่นี่! เพื่อดูเส้นทางการท่องแดนธรรมและรายละเอียดเพิ่มเติม
ขอขอบคุณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์ กรุงเทพฯ ) และสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7)
เรื่อง รำไพพรรณ บุญพงษ์ ภาพ รำไพพรรณ บุญพงษ์, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ