นัท มีเรีย เบนเนเดตตี้ เชื่อมั่นในความดี ว่ามีอยู่จริง
ก่อนตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง แม้กระทั่งการทำความดี นัท มีเรีย เบนเนเดตตี้ จะมีหลักคิดว่า “ทำในสิ่งที่เชื่อและเชื่อในสิ่งที่ทำ” เพราะถ้าเชื่อและมีศรัทธาแล้ว เราจะทำสิ่งนั้นด้วยใจและด้วยศักยภาพทั้งหมดที่เรามี ดัง เชื่อมั่นในความดี ว่ามีอยู่จริง
แม้แต่เรื่องการทำความดี นัทก็จะเริ่มต้นจาก “ต้องเชื่อก่อนว่าความดีมีอยู่จริง ความชั่วก็มีอยู่จริง” ทำสิ่งไหนก็ย่อมได้รับสิ่งนั้นคืนกลับมา
คุณแม่ของนัทถือเป็นต้นแบบการทำความดีที่ใกล้ตัวที่สุด นอกจากคุณแม่จะชอบไปวัด ชอบทำบุญ ช่วยทำนุบำรุงศาสนาแล้ว คุณแม่ยังรักที่จะเป็น “ผู้ให้” ด้วยค่ะ เริ่มตั้งแต่ช่วยอุปการะส่งเสียหลาน ๆ แม้แต่คนทั่วไป ไม่ว่าใครเดือดร้อนมาคุณแม่ช่วยหมด รวมทั้ง “น้องหมา” ใกล้ ๆ บ้าน คุณแม่ก็จะเตรียมข้าวเป็นกะละมัง ๆ เอาใส่รถไปเลี้ยงทุกวัน จนน้องหมาทุกซอยกลายเป็นลูกสมุนคุณแม่กันหมด
คุณแม่ทำอย่างนี้มากว่า 20 ปีด้วยความสุขค่ะ ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยหรือเบื่อเลยสักครั้ง ท่านทำเพราะอยากทำ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำตามโอกาสหรือวาระสำคัญ…นั่นทำให้นัทอยากทำเหมือนคุณแม่บ้าง
ยิ่งโตขึ้น ความรู้สึกนี้ก็ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ว่า คนเราอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ ต้องเกื้อกูลกัน วันนี้เราอาจโชคดีที่มีมากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องแบ่งปันสิ่งเหล่านี้ให้เขาบ้าง นัทมีหลักว่า “จะช่วยเหลือใคร เราต้องมองลึกลงไปให้ถึงความรู้สึกของเขาก่อน เขาเดือดร้อนตรงไหนก็ช่วยตรงนั้นแล้วต้องช่วยอย่างมีสติ”
ถ้าบางเรื่องจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ใช้ เช่น ถ้าใครอยากบวชแต่ไม่มีสตางค์ นัทก็อาสาเป็นเจ้าภาพให้ ถ้าใครไม่มีเงินทำศพหรือเป็นศพไม่มีญาติ นัทก็จะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายให้ วิธีนี้ไม่ยุ่งยากเลยค่ะ ใครจะทำบ้างก็ได้ แค่ไปแจ้งความจำนงไว้กับมูลนิธิ เมื่อมีคนเดือดร้อนด้วยกรณีเหล่านี้เข้ามา เขาก็จะประสานงานมายังเรา เราก็สามารถส่งความช่วยเหลือไปได้ทันที แต่ถ้าไม่สะดวกเรื่องเงิน นัทก็ใช้แรงกายแรงใจของตัวเราเองแทน เช่น ไปพูดคุยให้กำลังใจ เพื่อให้เขารู้สึกว่า “ไม่ได้ถูกสังคมทอดทิ้งและตัวเขายังมีค่ากับโลกใบนี้” นัทว่า บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะสำคัญมากกว่าของเยี่ยมหรือเงินทองเสียอีก
นัทร่วมกับแฟนคลับนำเงินไปบริจาคที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ดอนเมือง
นัทบริจาคกระดูกและเนื้อเยื่อที่ศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพ กรุงเทพฯในพระอุปถัมภ์ฯมาค่ะ
ไปให้กำลังใจ แจกขนมคุณลุงคุณป้าผู้ป่วยโรคไตที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
เคยมีครั้งหนึ่ง น้องแฟนคลับโทรศัพท์มาเล่าว่า เขาเป็นคนที่ขาดความรักมาตลอด พ่อแม่แยกทางกัน มีความรักทีไรก็ผิดหวังจนเขารู้สึกว่า ตัวเองไม่มีค่าสำหรับใครหรืออะไรเลย ตอนแรกนัทก็อึ้งไปสักพัก ก่อนจะค่อย ๆ ทำความเข้าใจและคิดว่า ถ้านัทอยู่ในสถานการณ์แบบเขาบ้าง จะรู้สึกแย่แค่ไหนและควรทำอย่างไร แล้วนัทก็พูดคุยกับน้องคนนั้น โดยพยายามทำให้เขามี “สติ ความเข้มแข็ง และกำลังใจ” เพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้นไม่กี่วัน น้องแฟนคลับคนเดิมก็โทรศัพท์กลับมาเล่าให้นัทฟังว่า วันนั้นเขาเกือบจะคิดสั้นกินยาตายอยู่แล้วแต่พอได้คุยกับนัท เขาก็เลยเปลี่ยนใจ เพราะรู้สึกว่าเขายังมีค่าอยู่บ้าง…อย่างน้อยก็สำหรับนัท
พอได้รู้อย่างนั้น นัทดีใจนะคะ มันอธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก มันอิ่มใจที่เราได้ช่วยเหลือเขาโดยที่เราเองก็ไม่รู้ว่าเขากำลังจะคิดสั้น เรียกว่าเป็นจังหวะที่พอเหมาะพอดี ไม่ได้หมายความว่านัทเป็นที่ปรึกษาที่ดีหรือเก่งอะไร ใคร ๆ ก็ทำแบบนี้ได้ค่ะ เพียงแต่ต้องใส่ “ความจริงใจ” ลงไปด้วย ไม่ใช่แค่พูดหรือทำให้จบ ๆ หรือผ่าน ๆ ไป
คนเราจะอิ่มได้ ไม่ใช่แค่เพราะได้กินของอร่อย ๆ เท่านั้น“ทำความดีก็อิ่มได้เหมือนกัน” แถมยังอิ่มทนและอิ่มนานอีกด้วยค่ะ
เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความน่าสนใจ
งานอดิเรกของผมคือการสะสมความดี ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์
“อานุภาพแห่งความดี” นึกถึงเรื่องดีในยามใกล้ตาย บทความธรรมะ จาก พระไพศาล วิสาโล
พลังของการทำความดี… สุวรรณฉัตร พรหมชาติ เจ้าของฉายา แท็กซี่อุ้มบุญ
ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี ของ ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด (ตอนที่ 1)
ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี ของ ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด (ตอนที่ 2)
ตั๊ก ศิริพร อยู่ยอด กับ ชีวิตที่เชื่อมั่นในความดี (ตอนจบ)
บุ๋ม ปนัดดา ทำความดีด้วยหัวใจ กับ ความสุขในการเป็นจิตอาสา
ทำงาน เป็นหน้าที่ ส่วนความดีให้คนชม บทความให้ข้อคิดจากท่านปิยโสภณ