“ผู้ใหญ่เหลิม” ชายผู้ประกาศสงครามกับ ยาเสพติด
“รายชื่อผู้ติด ยาเสพติด ในหมู่บ้านคือ…”
“รายชื่อผู้ค้ายาในหมู่บ้านคือ…”
ป้ายสีแดงขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางหมู่บ้านเก้ากอ จังหวัดนครศรีธรรมราช
หลายปีก่อนมหันตภัยร้ายที่มีชื่อว่า “ยาเสพติด” คืบคลานเข้ามาคุกคามผู้คนในหมู่บ้านอย่างช้า ๆ เด็ก ๆ ทั้งชายหญิงถูกกระชากออกจากอ้อมอกพ่อแม่ และหลงมัวเมาตกเป็นทาสของมันโดยไม่รู้ตัว
“ใครไม่มีลูกติดยาไม่มีวันรู้หรอกว่า มันเจ็บปวดขนาดไหน…” เสียงทุ้มสำเนียงใต้เอ่ยขึ้น ในใจนึกย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
เป็นเวลาเกือบ 30 ปีที่ผู้ชายท่าทางขึงขังอย่าง เฉลิม กาญจนพิทักษ์ หรือ “ผู้ใหญ่เหลิม” แห่งบ้านเก้ากอ สวมเสื้อกันกระสุนพร้อมถือปืนกล ทำหน้าที่คอยพิทักษ์และปกป้องชุมชนไม่ให้ยาเสพติดเข้ามากล้ำกราย
“คนกว่า 500 คนในตำบลทอนหงส์ติดยา และใช้เงินซื้อยาบ้ากับยาไอซ์วันละ 300 บาทต่อคนต่อวัน พ่อค้ายาได้เงินวันละแสนห้า แล้วตอบแทนสังคมด้วยการทำให้คนเป็นบ้าไป 16 คน”
นี่เป็นตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในปี 2553 หลังจากผู้ใหญ่บ้าน 9 หมู่บ้านทำการสำรวจ ตรวจปัสสาวะของลูกบ้านทุกคน
สมัยก่อนหมู่บ้านแห่งนี้เคยมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะมีคนลักลอบตัดไม้กระทั่งปี 2531 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ชาวบ้านจึงตื่นตัวช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้อย่างจริงจังเริ่มตั้งกฎกติกาห้ามล่าสัตว์ ห้ามรุกล้ำพื้นที่ป่า รวมทั้งตั้งชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านวังมุง ให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเอื้ออาทร หมู่บ้านเก้ากอกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้จนได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวถึง 2 ปีซ้อน
เมื่อชุมชนเข้มแข็งขึ้น ชาวบ้านจึงจัดตั้งศาลชุมชนเพื่อพิพากษาคดีมโนสาเร่ (คดีชาวบ้าน) เมื่อสังคมปกครองตนเองได้เช่นนี้ก็แทบไม่มีการทำผิดเกิดขึ้นในหมู่บ้านเลย
กระทั่งวันหนึ่ง ความเข้มแข็งที่ว่าก็เริ่มสั่นคลอน
“ปี 2540 ยาเสพติดแทรกซึมเข้ามาในทุกหมู่บ้าน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบกว้างใหญ่ไพศาล แต่เราต่อสู้อยู่หมู่บ้านเดียวโดยมีกติกาเด็ดขาดว่าจะไม่ประนีประนอมกับผู้ขาย เพราะผู้ขายคือผู้ทำลายเยาวชนทำลายลูกหลาน เราจึงมีนโยบาย มึงขายกูทำป้ายให้!”
เริ่มแรกผู้ใหญ่เหลิมจัดการทำป้ายขนาดใหญ่สีแดงปักไว้กลางหมู่บ้าน ป้ายนั้นประกาศรายชื่อทั้งผู้ขายและผู้เสพยาเสพติดหากคนทำผิดยังไม่ละอาย ข้อความบนป้ายจะเริ่มแข็งกร้าวขึ้น เช่น “อีก 1 กิโลเมตรถึงบ้านผู้ค้ายา” “อีก 500 เมตรถึงบ้านผู้ค้ายา” มาตรการป้ายถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง แสดงถึงความเอาจริงของผู้ใหญ่บ้านคนนี้
“ชาวบ้านบางคน สมัยก่อนเขากรีดยางตอนฟ้าสาง แต่เดี๋ยวนี้ต้องตื่นมากรีดยางตั้งแต่ตีสาม เพื่อหาเงินมาให้ลูกซื้อยาเสพติด”
ภาพพ่อเอามีดจ่อคอลูกตัวเอง เรื่องราวของแม่วัยรุ่นที่เสพยาขณะท้องจนลูกเกิดมาพิการ สร้างความสลดใจให้ผู้ใหญ่เหลิมเป็นอย่างมาก เขาจึงเริ่มขยับขยายพื้นที่ป้องกันภัยยาเสพติด จากหมู่บ้านเก้ากอสู่หมู่บ้านอื่น ๆ ขยายไปยังระดับตำบล อำเภอ ทว่า…
ปัง!
เสียงปืนสะท้านก้อง เป็นอีกครั้งที่ผู้ใหญ่เหลิมถูกปองร้าย ครั้งนี้เขายิงตอบโต้กลับอย่างรวดเร็ว แม้ใจจะหวาดกลัวเพียงใดก็ตาม
“ท้อไปหลายรอบ เพราะเราสู้มือเปล่าไม่มีเสบียง ไม่มีปืนใหญ่จากเมืองหลวงเราต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องตัวเราเอง เราต้องจัดการกับปัญหาด้วยพลังของชุมชนแต่เราตัวเล็กเกินไปในโลกอันกว้างใหญ่นี้”
ผู้ใหญ่เหลิมถูกหมายหัวและต้องเผชิญหน้ากับมือปืนรับจ้างมาแล้วหลายครั้ง… ผู้ใหญ่บ้านผู้ประกาศสงครามกับยาเสพติด คนนี้ไม่มีทางรู้เลยว่า สิ่งที่เขาทำจะเร่งให้จุดจบของชีวิตมาถึงเร็วขึ้นหรือไม่ ความตายอาจมาถึงเขาในเดือนหน้า สัปดาห์หน้า หรืออาจจะเป็นวินาทีนี้…
“จริง ๆ ผมเองก็กลัวตาย เคยไม่กล้าออกไปไหนเป็นเดือน นอนกอดปืนอยู่แต่ในบ้าน เพราะเคยมีคนบุกเข้ามายิง 2 - 3
ครั้ง ครั้งหลังสุดเหมือนสวรรค์มีตา คนที่จะมายิงบอกว่า ‘เห็นผู้ใหญ่เป็นคนดี ครั้งนี้เลยแค่มาส่งข่าวให้ระวังตัวไว้’ ก็เลยรอดมาได้
“ผมเคยนำเรื่องยาเสพติดไปปรึกษาผู้ใหญ่ในจังหวัด แต่เขาตอกหน้าผมกลับมาว่าเรื่องดี ๆ ทำไมไม่เอามาพูด เอาเรื่องยาเสพติดมาพูดทำไม”
ด้วยความน้อยใจกึ่งประชดประชันบวกกับการที่ต้องพบกับสถานการณ์เสี่ยงตายครั้งแล้วครั้งเล่า ผู้ใหญ่เหลิมจึงตัดสินใจเชิญสื่อมวลชนมาที่หมู่บ้าน ก่อนเผาป้ายแดงแสดงถึงการยอมแพ้และส่งมอบพื้นที่คืนให้ผู้ค้ายา ทว่า…
“…ลูกผม…ติดยา” เสียงให้สัมภาษณ์ขาดช่วงไปพร้อมกับเสียงทอดถอนใจ ก่อนที่ผู้ใหญ่เหลิมจะเล่าต่อว่า “เขาติดในช่วงที่ผมประกาศยอมแพ้นั่นแหละ พอเพื่อนชวนลอง เขากลัวเข้าสังคมเพื่อนไม่ได้ ก็ต้องลอง…” ไม่มีวันไหนที่ผู้ใหญ่เหลิมนึกถึงเหตุการณ์นั้นแล้วจะไม่เจ็บปวด
สุดท้ายความคับแค้นใจก็แปรเปลี่ยนเป็นพลังอีกครั้ง ผู้ใหญ่เหลิมทุ่มทั้งกายถวายทั้งจิตวิญญาณเพื่อทำสงครามต่อสู้กับยาเสพติดต่อไป
“ขนาดเรายอมแพ้แค่ไม่กี่วันมันยังบุกมาถึงบ้านเรา ทั้งที่สังคมละแวกนี้เป็นสังคมที่สงบสุข 18 ปีที่ผ่านมา เราไม่มีคดีฆ่ากันในหมู่บ้าน ไม่มีเรื่องขัดแย้งอะไรกันเลยถ้าไม่มียาเสพติด ป่านนี้เราเป็นชุมชนที่มีความเป็นอยู่สุขสบายไปแล้ว”
ผู้ใหญ่เหลิมจัดการเขียนชื่อลูกลงบนป้ายสีแดง ประกาศชัดว่าเขาเป็นผู้เสพยาและก่อตั้งชมรมต่อต้านยาเสพติดขึ้นในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังออกมาระดมพลทุกภาคส่วนทุกสาขาอาชีพ ให้หันมาปกป้องชุมชนของตัวเอง โดยที่ไม่มีงบประมาณสนับสนุนเลยสักบาทเดียว
“เราใช้ทุนตัวเองทั้งหมด แต่ละวันผมจะขับรถไปจอดตามหมู่บ้านต่าง ๆ ปลุกระดมว่าทำไมเราไม่ลุกขึ้นมาปกป้องลูกหลานเรา กี่คนแล้วที่ล้มไปกับยาเสพติด ปลุกให้เขาลุกขึ้นมาเป็นตำบลต่อสู้ยาเสพติด ถึงแม้ยาจะยังไม่หมดไป แต่เราป้องกันลูกหลานของเราได้ อย่างน้อยเราต้องเริ่มคิดที่จะสู้ก่อน”
“สู้ไปทำไม…” หลายคนตั้งคำถามกับผู้ใหญ่เหลิมเช่นนี้ เขานิ่งคิด ก่อนตอบว่า “ไม่สู้ก็ไม่ได้ เพราะมันกำลังจะกินบ้านกินเมืองกำลังจะกินลูกกินหลาน อีกไม่นานจะถึงวันสิ้นลูก ถ้าเราไม่สู้ แล้วใครจะสู้ให้เรา…”
ถึงแม้จะยังไม่เห็นทางชนะ แต่การเดินบ้างคลานบ้างตามไล่หลังขัดขวางผู้ค้ายาก็ยังดีกว่าการปล่อยให้ยาเสพติดวิ่งนำหน้ามาครอบครองพื้นที่ที่เขาอยู่มาทั้งชีวิต
“จริง ๆ ผมก็พอรู้ชะตากรรมตัวเองว่าจะต้องโดนลอบฆ่าแน่ ๆ เพราะเราไปขวางทางเงินเขา แต่อย่างน้อยผมก็ภูมิใจที่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้นตามแรงที่เรามี ตามฐานะหน้าที่ที่เราเป็น…ได้สนองคุณแผ่นดินที่เราเกิดมาได้ช่วยให้แผ่นดินสูงขึ้น ช่วยให้ลูกหลานออกมาจากวงจรยาเสพติด”
แม้รู้ว่าสิ่งที่กำลังต่อสู้นั้นเป็นสงครามที่ไม่มีวันชนะ แต่หัวใจที่ยึดมั่นในความถูกต้องของผู้ใหญ่เหลิมยังคงเต้น หัวใจดวงนั้นตะโกนบอกเขาว่า “อย่ายอมแพ้…อย่ายอมแพ้” ไม่เช่นนั้น…ย่อมถึงวันสิ้นลูกสิ้นหลานเป็นแน่!
เรื่อง ณัฐนภ ตระกลธนภาส
ภาพ วรวุฒิ วิชาธร