อุ๋ย บุดด้าเบลส กับชีวิต ‘ก่อน’ และ ‘กว่า’ จะเข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้ง
“อย่าตัดสินใครจากภายนอก หากเรายังไม่รู้จักเขาดีพอ” แขกรับเชิญของเราในวันนี้ก็เช่นกัน อุ๋ย - บุดด้าเบลส (Buddha Bless) หรือ นที เอกวิจิตร คือผู้ชายที่ใครๆมักจะตัดสินเขาจากภาพลักษณ์ภายนอกที่เห็นว่า “แบดบอย เกเร ไม่มีสาระ” ทว่าตัวตนที่แท้จริงของผู้ชายคนนี้เป็นอย่างไร Secret จะพาคุณไปรู้จักเขาแบบโคลสอัพ
ความสุขของผมทุกวันนี้คือครอบครัวครับ ความผูกพันของผมกับครอบครัวมากจนถึงขั้น “กลัว” และเรียกได้ว่าความผูกพันนี้ถือเป็นบ่วงเลยแหละ ที่บอกว่ากลัว เพราะว่าวันหนึ่งเราก็ต้องจากกัน ผมจึงกลัวที่จะสูญเสีย แต่กว่าจะให้ความสำคัญกับครอบครัวได้อย่างนี้…ผมก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้โลกมาประมาณหนึ่งเลย
สมัยเด็ก ๆ ผมดื้อมาก ซนมาก เถียงพ่อเถียงแม่ประจำ ยิ่งถ้ามั่นใจว่าตัวเองไม่ผิดแล้วละก็ คนอย่างผมไม่มีทางยอมเลย ทำอะไรก็เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ค่อยนึกถึงใจพ่อแม่ จนวันหนึ่งที่ครอบครัวเริ่มมีปัญหาการเงิน วันนั้นเองที่ทำให้ผมเริ่มคิดถึงใจพ่อแม่สงสารท่าน และเริ่มคิดอยากช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัว
จากที่เคยใช้ชีวิตสบาย ๆ มาตลอด ผมตัดสินใจหางานพิเศษทำ แม้จะเป็นงาน“เบ๊” ก็ยอม เท่านั้นไม่พอ ผมยังต้องประหยัดให้ได้มากที่สุดด้วย เพราะผมตั้งใจจะใช้เงินก้อนนี้ดูแลตัวเองและเจียดให้พ่อแม่ด้วย
เงินเดือนเดือนแรกในชีวิต แม้จะน้อยกว่าแต๊ะเอียที่เคยได้ แต่เงินจำนวนนี้ก็ทำให้ผมภูมิใจที่สุด เพราะมันแลกมาด้วยความโคตรทรมาน โคตรไม่มีความสุขโคตรลำบาก และไร้ศักดิ์ศรีที่สุด
ผมอดทนใช้ชีวิตอย่างนี้อยู่ราวหนึ่งปีจนเรียนจบจึงเริ่มหางานทำอย่างจริงจัง เชื่อไหมว่า บทพิสูจน์ชีวิตช่วงนี้เองที่ทำให้ผมรู้ว่า ถ้าจะทำดี ผมต้องเริ่มจากคนใกล้ตัวที่สุดอย่างพ่อแม่ก่อน เพราะถ้ามัวแต่ทำดีกับคนอื่น แต่ลืมพ่อแม่ตัวเอง มันก็จะทำให้เรารู้สึกละอายใจ เรื่องนี้ถึงใครจะไม่รู้ แต่ตัวเราเองนี่แหละที่รู้อยู่แก่ใจ
ทุกวันนี้ความสุขของผมคือ แบ่งเงินให้พ่อแม่ได้ใช้บ้าง หรือถ้าพ่อแม่ป่วยขึ้นมาผมก็สามารถดูแลท่านได้ พ่อแม่อยากกินอะไร อยากไปเที่ยวไหน ผมก็พาไปได้
ส่วนเรื่องคนรอบ ๆ ตัว ถ้าผมสามารถทำอะไรที่ถนัดหรืองานที่เกี่ยวกับอาชีพ เช่น ร้องเพลงให้การกุศล ผมก็พร้อมจะทำ หรือแม้แต่การแชร์ประสบการณ์ปฏิบัติธรรมตามที่ต่าง ๆ ผมก็รับอยู่เป็นประจำ
เรื่องธรรมะนั้น แม่ผมปลูกฝังเรื่องการทำบุญใส่บาตร ไหว้พระมาตั้งแต่เด็ก ๆสมัยผมเรียนชั้นประถม โรงเรียนก็เคยให้เดินจงกรม นั่งสมาธิ ช่วงนั้นผมรู้สึกว่า “โห โคตรช้าเลย แก่ แล้วก็ไร้สาระ” แต่ก็ทนทำพอให้ผ่าน ๆ ไป
มาวันหนึ่งเรื่องร้ายที่สุดก็เกิดกับครอบครัวผม เพราะ “บ้านไฟไหม้” พ่อแม่ คนในครอบครัวต่างก็เป็นทุกข์ ผมอยากทำให้ทุกคนสบายใจขึ้นบ้าง ประกอบกับเคยได้ยินมาว่า “การปฏิบัติธรรมได้บุญมากกว่าสร้างวัดทั้งหลังอีก” คิดไปคิดมาลองไปทรมานตัวเอง ทำอะไรที่ขัดอกขัดใจดูบ้างก็น่าจะดี
ไม่นานผมก็ได้ลองปฏิบัติธรรมครั้งแรกในชีวิต ครั้งนี้ผมตั้งใจมากเป็นพิเศษเพราะอยากแบ่งบุญให้พ่อกับแม่ เพราะถ้าทำเพื่อตัวเอง ผมจะคิดว่า “กูไม่เชื่อว่ามาปฏิบัติธรรมแค่ 8 วัน แล้วชีวิตจะดีขึ้นได้อย่างไร”
ด้วยความตั้งใจ ในที่สุดธรรมะก็ทำให้ผมเปลี่ยนชีวิตได้จริง ๆ จนเป็นที่มาของการไปปฏิบัติธรรมครั้งต่อ ๆ มา จนถึงขั้นไปบวชศึกษาพระธรรมอย่างจริง ๆ จัง ๆ อีกหนึ่งพรรษา พุทธศาสนาทำให้ผมเข้าใจชีวิตมากขึ้น…มากขึ้น และผมก็หันมาใช้ศีลห้าในการดำเนินชีวิตตั้งแต่นั้นมา โดยไม่แตะต้องของมึนเมาอีกเลย
เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้รู้ว่า “โชคดีที่มีเรื่องแย่ ๆ ไม่อย่างนั้นชีวิตผมคงจะเละเทะมากกว่านี้”
คลิกเลข 2 ด้านล่าง เพื่ออ่านหน้าถัดไป
ครั้งล่าสุดผมไปปฏิบัติธรรมที่บ้านพุฒมณฑา มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติ “การแยกความเจ็บปวด” ออกจากใจ ผมฝึกอยู่หลายครั้งจนเข้าใจว่า หัวใจของการแยกความเจ็บปวดก็คือ อย่าผลักความเจ็บปวดไป อย่าหนีความเจ็บปวด แต่ให้ทำเหมือนเราเป็นเพื่อนกัน และเมื่อเราอยู่กับความเจ็บปวดได้ เราก็จะไม่ทุกข์ ยิ่งถ้าสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย การฝึกแบบนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก
หลังจากนั้นไม่นาน ผมมีโอกาสไปเยี่ยมพ่อบุญธรรมซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย ลูก ๆ ของท่านพากันบอกว่า พออาการปวดกำเริบหนัก ๆ ท่านก็จะหงุดหงิดจนนอนไม่ได้ คนรอบตัวพากันเครียดไปหมด ผมจึงตัดสินใจเล่าเรื่องการแยกความเจ็บปวดที่ผมไปฝึกปฏิบัติมาให้ท่านฟัง ต้องบอกว่าพ่อบุญธรรมของผมเป็นคนเข้าวัดเข้าวาตลอด มีศีลห้า นั่งสมาธิแต่ไม่เคยฝึกปฏิบัติในเรื่องนี้มาก่อนเลย ผมพยายามค่อย ๆ อธิบายให้ท่านฟังจนจบ เชื่อไหมว่าท่านร้องไห้ออกมาแล้วกอดผมพูดขอบคุณไม่ขาดปากว่า
“ถ้าคิดว่าปาป๊ามีบุญคุณกับอุ๋ย นี่คือการตอบแทนที่ดีที่สุดมากกว่าอะไรทั้งนั้น”
ผมขอร้องให้พ่อบุญธรรมฝึกแยกความเจ็บปวดตั้งแต่วันนี้และฝึกต่อไปทุก ๆ วันเพราะอย่างน้อยการฝึกปฏิบัติครั้งนี้ก็เหมือนการทำข้อสอบ ถ้าสอบผ่านก็คือตายแบบไปสู่สุคติ ไม่เจ็บปวด ไม่ทรมาน แต่ถ้าสอบตกก็คือตายด้วยความทรมาน หลังจากคืนนั้นผ่านไป ลูก ๆ ของท่านบอกว่าท่านหงุดหงิดน้อยลงมาก นั่นหมายความว่า สิ่งที่ผมสอนช่วยได้มากจริง ๆ หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์พ่อบุญธรรมก็เสีย แต่ถึงอย่างไรผมก็เชื่อว่าจิตสุดท้ายของท่านน่าจะไปสู่สุคติภูมิ
เรื่องของพ่อบุญธรรมนี้ทำให้ผมประทับใจมาถึงทุกวันนี้ เพราะผมได้นำความรู้จากการปฏิบัติธรรมไปเผยแพร่ต่อและสามารถช่วยคนให้พ้นทุกข์ในวาระสุดท้ายของชีวิตได้จริง ๆ
ผมคิดว่า การทำความดีต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน เราต้องไม่เบียดเบียนใคร ทำแล้วสบายใจ และอย่ามองข้ามคนใกล้ตัวต้องดูแลเขาให้ดี ก่อนจะแผ่ขยายความดีออกไปรอบ ๆ ตัวเรา
ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ ไม่นานสังคมก็จะเต็มไปด้วยคนดีครับ
เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ ภาพ สรยุทธ พุ่มภักดี
บทความที่น่าสนใจ
ทำความดีต้อง “ใช้ใจนำ”และ “ใช้ใจทำ” ของ อเล็กซ์ เรนเดลล์
เบื้องหลังการทำความดี ของชายขับแท็กซี่เจ้าของฉายา “แท็กซี่อุ้มบุญ”
จุ๋ย วรัทยา นิลคูหา ความดีไม่มีคำว่า “รอ”
เกรท วรินทร อะไรที่ทำด้วยใจไม่ว่า “เล็ก“ หรือ “ใหญ่“ เป็นเรื่องดีทั้งนั้น