ทำไมจึงต้องจัดระเบียบ ทำไมจึงต้องมีวินัย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ถ้าชีวิตวุ่นวายการเป็นอยู่ของมนุษย์สับสนหาระเบียบไม่ได้ โอกาสในการดำเนินชีวิตก็จะหายไป เช่นในที่ประชุมนี้ ถ้าเราไม่มีระเบียบเลย โต๊ะเก้าอี้ก็วางเกะกะทั่วไป คนก็เดินกันไปเดินกันมา อาตมภาพพูดนี่ ก็ฟังกันไม่รู้เรื่อง สับสน แม้แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา ถ้าสิ่งของตั้งวางไม่เป็นระเบียบกระจัดกระจายอยู่ตรงโน้นตรงนี้แม้แต่จะเดินก็ยาก เดินไปก็เตะโน่น ชนนี่ กว่าจะถึงประตูก็เสียเวลาตั้งหลายนาที แต่พอเราจัดของให้เป็นระเบียบ ตกลงกันว่าตรงนี้เป็นทางเดินก็เว้นไว้เป็นช่องว่าง เราเดินพรวดเดียวก็ถึงประตู ทำให้สะดวกรวดเร็ว
กิจการต่าง ๆ ต้องมีระเบียบหรือต้องอาศัยวินัยมาจัดสรรโอกาส ทั้งนั้น ที่เห็นได้ง่าย ๆ เช่น เมื่อแพทย์จะผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องการวินัยมาก จะต้องจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้ตามลำดับการทำงานอย่างเคร่งครัดทีเดียว ต้องตกลงกันไว้ก่อนว่าขั้นตอนใดจะใช้เครื่องมือไหน และส่งเครื่องมือให้ถูกต้อง คนนี้ยืนตรงนี้ จังหวะนี้ถึงเวลาไหนส่งเครื่องมืออันไหน เพราะอยู่ในช่วงของความเป็นความตาย พยาบาลที่จัดเตรียมเครื่องมือต้องพร้อมและต้องจัดให้ถูกต้องทุกอย่าง ผิดนิดไม่ได้ เพราะงานนั้นต้องเป็นไปตามเวลาที่จำกัด ฉะนั้นในกิจการที่ยิ่งมีความสำคัญ มีความซับซ้อน มีความเป็นความตายเข้ามาเกี่ยวข้อง วินัยจะยิ่งต้องมีความเคร่งครัดแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ในสังคมวงกว้างออกไป ถ้าชีวิตคนไม่ปลอดภัย สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ มีโจร มีขโมย มีการทำร้ายกัน เราจะไปไหนเวลาไหน ก็ไม่สะดวก เพราะกลัวว่าถ้าไปเวลานี้ หรือผ่านสถานที่จุดนั้นแล้ว อาจจะถูกทำร้ายได้ เมื่อคนไม่กล้าเดินทางมีความหวาดระแวง กิจการงานของสังคมและการดำเนินชีวิตของบุคคล ก็หมดความคล่องตัว ทำให้ขัดข้องไปหมด
โดยนัยนี้ วินัยจึงช่วยจัดทำให้เกิดระบบระเบียบในชีวิตและสังคมขึ้น ทำให้เกิดความคล่องตัว จะทำอะไรต่ออะไรก็ได้ผล ฉะนั้นการจัดวางวินัยจะต้องคำนึงถึงความมุ่งหมายนี้อยู่เสมอ เช่นต้องตรวจสอบว่า การจัดวางวินัยของเรามีความมุ่งหมายชัดเจนหรือไม่ที่จะช่วยให้ชีวิตและกิจการงานเป็นไปได้ด้วยดี เกิดมีโอกาส และทำให้มั่นใจว่า เมื่อเราจัดระบบระเบียบเรียบร้อยดีแล้ว โอกาสในการพัฒนาชีวิตจะเกิดขึ้น ความเป็นอยู่และกิจการต่าง ๆ จะเป็นไปด้วยความคล่องตัว นำไปสู่จุดหมายดีงามที่ต้องการ
ในการพัฒนามนุษย์ระยะยาว ถ้าไม่มีวินัยเป็นฐานก็จะทำให้เกิดความขัดข้องวุ่นวายสับสน ฉะนั้นเราจึงจัดวางวินัยเพื่อความมุ่งหมายระยะยาวในการพัฒนามนุษย์ด้วย และด้วยเหตุนี้วินัยจึงเป็นเรื่องสำคัญในสังคมประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องการโอกาสเหล่านี้ ในการที่จะให้มนุษย์มาสื่อมาแสดงออก เพื่อนำเอาศักยภาพของตัวเองออกมาร่วมในการสร้างสรรค์สังคมอย่างได้ผล
สรุปว่า วินัยมีความหมายเชิงบวก คือ เป็นการจัดสรรโอกาสให้ชีวิตและสังคมดำเนินไปโดยสะดวก คล่องตัว ได้ผล มีประสิทธิภาพ และเป็นโอกาสแก่การพัฒนามนุษย์ด้วย
ความสำคัญของวินัย อยู่ที่การฝึกคนให้มีศีล ศีลนั้นมีความสำคัญมาก เมื่อคนตั้งอยู่ในวินัยอย่างที่เรียกกันว่าเป็นคนมีวินัยแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่าแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม ซึ่งมี 7 ประการด้วยกัน ความมีวินัยหรือศีลนี้เป็นรุ่งอรุณของการศึกษา หรือแสงเงินแสงทองนั้นอย่างหนึ่ง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อพระอาทิตย์จะอุทัย ย่อมมีแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อน ฉันใด ชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น โดยมีความถึงพร้อมด้วยศีลหรือความมีวินัยนี้เป็นสิ่งบ่งบอกเบื้องแรกด้วย ฉันนั้นถ้าคนตั้งอยู่ในวินัยมีศีลแล้ว ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตที่ดีงามจะเกิดขึ้น เท่ากับว่าพระพุทธเจ้าตรัสให้คำรับรองไว้ว่าศีลหรือความมีวินัยเป็นรุ่งอรุณของการศึกษา เป็นสัญญาณว่ามนุษย์จะมีการพัฒนาและมีชีวิตที่ดีงามต่อไป
ที่มา : วินัย : เรื่องใหญ่กว่าที่คิด โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ภาพ : www.pexels.com
บทความน่าสนใจ
วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องต่อความตาย โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ไขข้อข้องใจเรื่อง “กรรมเก่า” ธรรมะโดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
อิทธิบาท 4 : ทางแห่งความสำเร็จในการทำงานอย่างเป็นสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
สามลัทธิที่ขัดต่อหลักกรรมในพระพุทธศาสนา โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
ความสุขที่สมบูรณ์ดูอย่างไร โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)