ท่าทีที่ถูกต้องต่อ กรรมเก่า
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเรื่อง “กรรมเก่า” ในการอบรมพระธรรมทูตที่วัดจักรวรรดิราชาวาส มีความตอนหนึ่งดังนี้
“มีปัญหาที่ท่านถามมาหลายข้อด้วยกัน ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องปุพเพกตวาท เป็นเรื่องที่ถามในหลักนี้ จึงน่าจะตอบ
ท่านถามว่า ทารกที่คลอดมาบางครั้งมีโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือถือกำเนิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน ถ้าไม่อธิบายในแนวปุพเพกตวาทแล้ว เราควรอธิบายอย่างไรให้เข้าใจง่าย
ในการตอบปัญหานี้ต้องพูดให้เข้าใจกันก่อนว่า การปฏิเสธปุพเพกตวาทไม่ได้หมายความว่าเราถือว่ากรรมเก่าไม่มีผล ลัทธิปุพเพกตวาทถือว่าเป็นอะไร ๆ ก็เพราะกรรมเก่าทั้งสิ้น เอาตัวกรรมเก่าเป็นเกณฑ์ตัดสินโดยสิ้นเชิง ฉะนั้นจะทำอะไรในปัจจุบันก็ไม่มีความหมาย เพราะแล้วแต่กรรมเก่า ต่อไปจะเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วกรรมเก่าจะให้เป็นไป ทำไปก็ไม่มีประโยชน์ นี้คือลัทธิกรรมเก่า
แต่ในทางพระพุทธศาสนา กรรมเก่านั้นท่านก็ถือว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วมีผลมาถึงปัจจุบัน แต่ชาวพุทธไม่จบตันอับจนอยู่แค่กรรมเก่า
ทีนี้มาถึงเรื่องที่เด็กคลอดออกมามีโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ หรือเกิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน นี้เราสามารถอธิบายด้วยเรื่องกรรมเก่าตามหลักกรรมนิยามได้ด้วย และอธิบายตามหลักนิยามอื่น ๆ ด้วย เช่น ในด้านพีชนิยามว่า ในส่วนกรรมพันธุ์พ่อแม่เป็นอย่างไร เพราะกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดได้ด้วย ถ้าพ่อแม่มีความบกพร่องในเรื่องบางอย่าง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ลูกก็มีทางเป็นได้เหมือนกัน นี้พีชนิยาม ส่วนกรรมนิยามก็อาจจะอธิบายในแง่ความเหมาะสมสอดคล้องกันของคนที่จะมาเกิดกับคนที่จะเป็นพ่อแม่ ทำให้มาเกิดเป็นลูกของคนนี้ และมีความบกพร่องตรงนี้ โดยมีพีชนิยามเข้ามาประกอบช่วยกำหนด
สำหรับกรณีที่มาเกิดในครอบครัวที่ลำบากขาดแคลน ถ้าเราจะยกให้เป็นเรื่องกรรมเก่าก็ตัดตอนไป ในเมื่อเขาเกิดมาแล้วในครอบครัวอย่างนี้ เราก็ตามไม่เห็น ต้องตัดตอนไปว่าทำกรรมเก่าไม่ดีจึงมาเกิดในครอบครัวขาดแคลน แต่เมื่อเกิดอย่างนั้นแล้ว ตามหลักกรรมที่ถูกต้องก็ต้องคิดไปอีกว่า เพราะเหตุที่เกิดในครอบครัวขาดแคลนก็แสดงว่าเรามีทุนเก่าที่ดีมาน้อย ยิ่งจะต้องพยายามทำกรรมดีให้มากขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อจะปรับแก้ชดเชยให้ผลต่อไปข้างหน้าดี ไม่ใช่คิดว่าทำกรรมมาไม่ดีก็ต้องปล่อยแล้วแต่กรรมเก่าจะให้เป็นไป ถ้าคิดอย่างนั้นก็ไม่ถูก
ในทางที่ถูกจะต้องคำนึงให้ครบทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ เมื่อกรรมเก่าที่มีมาไม่ดี ยิ่งทำให้จะต้องมีกำลังใจเพียรพยายามแก้ไขปรับปรุง เช่น ถ้าหากคนที่เขาเกิดมาร่ำรวยแล้วเขามีความเพียรพยายามเท่านี้ สามารถประสบความสำเร็จก้าวหน้าได้ เราเกิดมาในตระกูลที่ขาดแคลน เราก็ยิ่งต้องมีความเพียรพยายามให้มากกว่าเขาอีกมากมาย เราจึงจะมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าได้ ต้องตั้งจิตอย่างนี้จึงจะถูกต้อง
ในส่วนที่เป็นกรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ชื่อว่ากรรมเก่า กรรมเก่าก็คือสภาพชีวิตที่เรามีอยู่ในปัจจุบันขณะนี้ สภาพชีวิตของเราก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่เป็นอยู่ มีอยู่ นี้คือกรรมเก่า คือผลจากกรรมเก่าที่เป็นมาก่อนหน้าเวลานี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทำอะไรมา สั่งสมอะไรมา ก็รวมอยู่ที่นี้
กรรมเก่ามีเท่าไรก็เรียกว่ามีทุนเท่านั้น จะทำงานอะไรก็ตาม จะต้องมองดูทุนในตัวก่อน เมื่อรวมทุนรู้กำลังของตัวถูกต้องแล้วก็เริ่มงานต่อไปได้ ถ้าเรารู้ว่าทุนของเราน้อย แพ้เขา เราก็ต้องพิจารณาหาวิธีที่จะลงทุนให้ได้ผลดี บางคนทุนน้อย แต่มีวิธีการทำงานดี รู้จักลงทุนอย่างได้ผล กลับประสบความสำเร็จดีกว่าคนที่มีทุนมากก็มี
ฉะนั้น แม้ว่ากรรมเก่าอาจจะไม่ดี คือร่างกายตลอดจนสภาพชีวิตทั้งหมดของเราไม่ดี แต่เราฉลาดและเข้มแข็งไม่ท้อถอย เราพยายามปรับปรุงตัว หาวิธีการที่ดีมาใช้ ถึงแม้จะมีทุนไม่ค่อยดี มีทุนน้อย ก็ทำให้เกิดผลดีได้ กลับบรรลุผลสำเร็จ ก้าวหน้ายิ่งกว่าคนที่ทุนดีด้วยซ้ำไป
ส่วนคนที่มีทุนดีนั้น หากรู้จักใช้ทุนดีของตัวก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้น แต่บางคนทุนดีไม่รู้จักใช้ มัวเมาประมาทเสียก็หมดทุน กลับยิ่งแย่ลงไปอีก
ดังนั้น การปฏิบัติที่ถูกต้องจึงไม่ใช่มัวท้อแท้หรือทระนงอยู่กับทุนเก่าหรือกรรมเก่า กรรมเก่านั้นเป็นทุนเดิมซึ่งจะต้องกำหนดรู้แล้วพยายามแก้ไขปรับปรุง ส่งเสริมเพิ่มพูนให้ดีให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป”
บรรยายในการอบรมพระธรรมทูตที่วัดจักรวรรดิราชาวาส
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2529
ที่มา นรก-สวรรค์ สำหรับคนรุ่นใหม่ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ
บทความน่าสนใจ